สายฝนใต้ลมหนาวหยุดแล้ว ไออุ่นเริ่มกลับมา และเราได้ก้าวผ่านปีที่ฟ้าเป็นสีเทาไปแล้ว
ตลอดศักราชที่ผ่านมา ในโลกกีฬามีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายครับ มีทั้งดีและร้าย ทั้งสุขและโศก ไม่ต่างอะไรกับชีวิตเราทุกคน
ก็ให้มันผ่านไป คิดในเชิงเกมกีฬาก็ถือว่าหมดเวลา ปีหน้าฟ้าใหม่ก็เริ่มต้นใหม่
ทีนี้เมื่อศักราชใหม่มาถึงแล้วก็มีหลายเรื่องหลายราวที่น่าสนใจและคงต้องจับจ้องมองกันอย่างใกล้ชิดครับ
E-Sport นั้นก็ใช่ เรื่องราวของการต่อสู้กับการใช้สารกระตุ้นก็ใช่ เรื่องราวของนักกีฬาอาชีพไทยที่กำลังก้าวไปสร้างชื่อในโลกกว้างนั้นก็ใช่
แต่หนึ่งในเรื่องสำคัญที่สุดที่จะเกิดขึ้นในปีนี้คือมหกรรมกีฬาที่จะทำให้โลกทั้งใบต้องหยุดหมุนเป็นเวลาร่วมเดือน
มหกรรมกีฬาที่ว่าคือ ‘ฟุตบอลโลก’ ครับ
ฟุตบอลโลกกลับมาทั้งที แน่นอนว่าคงมีหลายเรื่องราวที่เราน่าจะได้หยิบมาพูดคุยกันครับ
วันนี้ผมลองหยิบบางเรื่องบางแง่มุมที่คิดว่าน่าสนใจมาก่อนแล้วกันนะครับ 🙂
ฟุตบอลโลกหลังม่านเหล็ก และความจริงในใจของพญาหมีขาว
หลายคนน่าจะทราบอยู่แล้วนะครับว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้จัดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย ดินแดนหลังม่านเหล็กที่แม้จะเปิดกว้างขึ้นจากอดีตมากแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะลบตัวตนและจิตวิญญาณได้โดยง่าย
ฟุตบอลโลกที่รัสเซียเริ่มต้นจากความตั้งใจของ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำของชาติที่ต้องการนำรัสเซียเข้าสู่ยุคใหม่โดยใช้กีฬาเป็นประตูบานใหญ่ให้คนทั้งโลกได้เข้ามาสัมผัสพวกเขาจริงๆ อย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่เคยได้เห็นในภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรือได้ยินเรื่องราวที่ฟังเขาเล่าต่อกันมา
ความสำเร็จของจีนกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งในปี 2008 เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ปูตินสั่งเดินเครื่องอย่างเต็มที่ในการเสนอตัวเพื่อขอเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกให้ได้
โดยระหว่างปีนั้น วงการฟุตบอลของรัสเซียเองก็อยู่ในช่วงรุ่งเรือง ความสำเร็จของทีมชาติในฟุตบอลยูโร 2008 ที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ มีนักเตะที่เป็น ‘อัศวิน’ ของชาติอย่าง อังเดร อาร์ชาวิน และการเป็นเจ้าภาพนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกที่มอสโก ที่ได้คู่ชิงชนะเลิศอย่าง เชลซี พบแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ส่งเสริมความนิยมมาก
ทุกอย่างสวยงามในเวลานั้น
ในการเสนอตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 นั้น แรกเริ่มเดิมทีมีชาติที่เสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพด้วยกันทั้งหมด 9 ชาติ (หนึ่งในนั้นมีอินโดนีเซียด้วย! แต่ถูกตัดสิทธิ์ เนื่องจากรัฐบาลไม่ส่งจดหมายรับรองการเสนอตัวให้ฟีฟ่า) แต่ค่อยๆ ทยอยถอนตัวจนกระทั่งเหลือแค่ 4 ข้อเสนอ
4 ข้อเสนอ ได้แก่ รัสเซีย, โปรตุเกส-สเปน (เจ้าภาพร่วม), เบลเยียม-เนเธอร์แลนด์ (ซึ่งเคยจัดฟุตบอลยูโร 2000 ร่วมกัน) และอังกฤษ
กระบวนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2009 และมาสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2010 โดยรัสเซียได้รับการโหวตชนะทั้ง 2 รอบจากคณะกรรมาธิการฟีฟ่า 22 คน (รอบแรก 9 เสียง และรอบที่สองได้ 13 เสียง)
นี่คือเรื่องราวหน้าฉากที่เกิดขึ้นครับ
ส่วนเรื่องราวหลังฉากการได้มาซึ่งสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของรัสเซียนั้นเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม
โดยเฉพาะหลังจากที่มีการเปิดโปง สืบสวน ขุดคุ้ยเกี่ยวกับการ ‘ล็อบบี้สิทธิ์’ เพื่อให้ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของรัสเซียและกาตาร์ (ในปี 2022) ในรายงานของ ไมเคิล การ์เซีย (Garcia Report) ซึ่งเรื่องนี้เองนำไปสู่การปฏิรูปองค์กรครั้งสำคัญของฟีฟ่า และนำไปสู่จุดจบของ Supreme Leader อย่าง โจเซฟ เอส. แบล็ตเตอร์ และขบวนการของเขา
สำหรับรัสเซียและปูติน แม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงเหมือนกรณีของกาตาร์ ที่เล่นกันหนักถึงขั้นมีการพูดถึงเรื่องการริบสิทธิ์และเปลี่ยนชาติเจ้าภาพ (แต่ท้ายที่สุดแล้วฟีฟ่าก็ทำอะไรไม่ได้ด้วยเหตุผลหลายประการ) แต่ถ้าจะบอกว่าการได้มาซึ่งสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพของรัสเซียในปี 2018 นั้นขาวสะอาดทั้งหมด ย่อมไม่ใช่อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่พวกเขาจะสนใจ
แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกจะสนใจเช่นกัน
ในบทความเรื่อง Russia’s World Cup: a Putin own goal? โดย ไซมอน คูเปอร์ ของ Financial Times อ้างถึง มานูเอล เวธ บรรณาธิการเว็บไซต์ Futbolgrad ของรัสเซีย (หรือสหภาพโซเวียตเดิม) ที่เปิดเผยว่ารัสเซียเองก็ไม่ได้สนอกสนใจแฟนบอลชาวต่างชาติอะไรนักหรอก
ฟุตบอลโลกครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อชาวรัสเซีย เพื่อให้ประชาชนของปูตินได้เห็นว่าชาติของพวกเขา ‘ยิ่งใหญ่’ แค่ไหน
สิ่งที่เป็นเครื่องสะท้อนต่อแนวคิดนี้คือเรื่องของสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่มีทั้งถูกสร้างขึ้นใหม่และการปรับปรุงสนาม ซึ่งล้วนใช้งบประมาณมากมายมหาศาล ลำพังแค่สนามฟุตบอลเครสตอฟสกีในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแห่งเดียวก็ใช้งบประมาณมากถึง 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 3.6 หมื่นล้านบาท และทำให้สนามแห่งนี้เป็นสนามฟุตบอลที่มีมูลค่าในการก่อสร้างแพงที่สุดในโลก (สูงกว่าการประเมินในตอนแรกถึง 7 เท่า!)
ปูตินยังหวังว่ากีฬาจะทำให้ประชาชนคนรุ่นใหม่ชาวรัสเซียหันมารักสุขภาพกันมากขึ้นกว่าคนรุ่นเก่าที่เป็นสายเลือดนักดื่ม ซึ่งหากประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง นั่นหมายถึงเป็นการลดปัญหาภาระของชาติได้อย่างมากมายมหาศาล
นั่นคือความจริงในใจที่ซ่อนอยู่ของพญาหมีขาว
สารพันปัญหา นานาเรื่องปวดหัว
อย่างที่บอกข้างต้นครับว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นความหวังของรัสเซีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของปูติน ในฐานะผู้นำที่ต้องการคืนความสุขให้แก่คนทั้งชาติ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ในช่วงที่เหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นขึ้นนั้น มันไม่ได้สวยงามเหมือนที่คิดกันไว้เมื่อ 8-9 ปีที่แล้วเลย
เดิมรัสเซียวางแผนไว้ในตอนที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพว่า เมื่อถึงปี 2018 ที่พวกเขาจะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกนั้น ทุกอย่างจะเดินทางถึงจุด ‘พีก’ พอดิบพอดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘ในสนาม’ หรือ ‘นอกสนาม’ ก็ตาม
เอาเข้าจริง ไม่มีอะไรเป็นอย่างที่คิดเลย
พูดเรื่อง ‘ในสนาม’ ก่อน ทีมชาติรัสเซียในเวลานี้ตกต่ำกว่าเมื่อ 9 ปีที่แล้วมาก พวกเขาอยู่ในอันดับที่ 65 ของฟีฟ่าเวิลด์แรงกิ้ง ซึ่งเป็นอันดับที่ ‘ต่ำที่สุด’ ในหมู่มวลชาติที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้ง 32 ทีม โดยที่ไม่มีนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์คนใดที่พอจะเป็นความหวังของชาติได้เหมือนอังเดร อาร์ชาวิน หรือโรมัน พาฟลูเชนโก เมื่อ 10 ปีก่อนเลย
คนที่พวกเขาพอจะฝากความหวังได้ก็อาจมีเพียง อลัน ซาโกเยฟ ในแนวรุก คู่แฝดอเล็กเซ และแอนตัน มิรันชุก จากสปาร์ตัก มอสโก
แต่นั่นก็เป็นความหวังที่ริบหรี่ ต่อให้ผ่านรอบแรกที่อยู่ร่วมกับซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และอุรุกวัยไปได้ โอกาสจะไปไกลมากกว่ารอบ 16 ทีมสุดท้ายก็มีไม่มากนัก
ขณะเดียวกัน รัสเซียยังเจอปัญหาหนักในเรื่องคดีการใช้สารกระตุ้นในหมู่นักกีฬาที่ทำให้ทีมชาติรัสเซียถูกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ตัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่เมืองพยองชาง ประเทศเกาหลีใต้
ปัญหานี้ลุกลามถึงบุคคลระดับสูงของประเทศหลายคน รวมถึงวิตาลี มุตโก้ (Vitaly Mutko) รองนายกรัฐมนตรีที่สวมหมวกเป็นประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ขอลาออกจากตำแหน่งประธานการจัดงาน เพื่อต่อสู้คดีการโด๊ปบันลือโลกด้วย
ขณะที่ ‘นอกสนาม’ รัสเซียประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ภาพลักษณ์ของประเทศติดลบจากกรณีการทำสงครามกับยูเครนและซีเรีย ไม่นับข่าวการแทรกแซงการเลือกตั้งของชาติตะวันตก
ฟุตบอลโลกที่ประเทศรัสเซียยังประสบปัญหาในเรื่องของการหาสปอนเซอร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง
สปอนเซอร์หลักที่จะได้ชื่อว่าเป็น FIFA Partners (เช่น Nike, Visa) จำนวน 8 เจ้าที่ควรจะเต็มตั้งนานแล้วกลับยังเหลือที่ว่างอีก 1 เจ้า ขณะที่ในกลุ่มรองลงมาที่จะได้ชื่อว่าเป็น World Cup Sponsors เองก็หาได้แค่ 4 จาก 6 เจ้า
ที่แย่กว่านั้นคือกลุ่มสปอนเซอร์ในรัสเซียเองที่ตั้งเป้าเอาไว้ 20 เจ้า กลับมีผู้สนับสนุนเพียงแค่ 2 เจ้าเท่านั้น
สาเหตุนั้นมาจากเรื่องข่าวอื้อฉาวต่างๆ โดยเฉพาะจากฟีฟ่านั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของสปอนเซอร์ ที่ไม่คิดว่านี่เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะสนับสนุนการแข่งขันมหกรรมกีฬาที่มีคนติดตามมากที่สุดในโลก
อีกเรื่องคือการที่สนนราคานั้นสูงเกินไปในยุคที่เศรษฐกิจไม่สู้จะดีนักแบบนี้
ปัญหาที่หนักที่สุดคือการที่ประชาชนชาวรัสเซียไม่ได้มีความสุขไปกับมหกรรมฟุตบอลโลกที่กำลังจะมาถึง
พวกเขาคิดว่าแทนที่จะเอางบประมาณมหาศาลไปจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก รัฐบาลควรจะนำเงินที่ผลาญกันอย่างสนุกมือมาดูแลคนในชาติให้อยู่ดีกินดีก่อนดีกว่า
ถึงสถานการณ์และอารมณ์จะไม่คุกรุ่นเหมือนครั้งที่ แอฟริกาใต้และบราซิลเป็นเจ้าภาพ (ภาพสนามหลายแห่งในบราซิลที่ถูกทิ้งให้รกร้างหลังจบฟุตบอลโลกเป็นภาพหลอนที่เลวร้ายอย่างมาก) และเชื่อว่าการเป็นเจ้าภาพของรัสเซียน่าจะผ่านไปด้วยดี
แต่หลังจากนั้น ปูตินและรัฐบาลของเขาน่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อ ‘คืนความสุข’ ที่แท้จริงให้แก่คนรัสเซีย
ฟุตบอลโลกกับคนไทยคือ must-have?
เรื่องราคาที่สูงนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของสปอนเซอร์ครับ เพราะความจริงแล้วยังมีเรื่อง ‘ของตาย’ อย่างลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเองที่ประสบปัญหาขายไม่ออกเหมือนกัน
แม้กระทั่งในรัสเซียเอง กว่าที่จะมีคนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดได้ต้องลุ้นกันจนถึงช่วงก่อนคริสต์มาสที่ผ่านมา โดยเป็นกลุ่มทุน 2SPORT2 ที่ลงขันกันซื้อลิขสิทธิ์ เพียงแต่ไม่มีการเปิดเผยค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดออกมาชัดๆ มีเพียงแต่คำพูดของ วิตาลี มุตโก้ อดีตประธานจัดการแข่งขันที่เปิดเผยว่า ฟีฟ่า ต้องการค่าลิขสิทธิ์ประมาณ 95 ล้านยูโร
จากกรณีของรัสเซีย ทำให้มีคำถามตามมาสำหรับแฟนฟุตบอลชาวไทยจำนวนมาก (ผมเองก็เช่นกัน) ว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะได้ดูฟุตบอลโลก 2018 กันบนหน้าจอโทรทัศน์หรือไม่?
ถ้าจะเอาคำตอบในเวลานี้ บอกได้ว่า ‘ไม่แน่’
ปัญหาใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น (และถูกคาดการณ์ไว้แล้วว่าคงจะเกิดขึ้น) คือการที่ไม่มีภาคเอกชนรายใดที่ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเลยแม้แต่รายเดียว
‘เหตุ’ นั้นเกิดจากการที่มีประเด็นปัญหาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ฟุตบอลยูโร 2012 ที่มีผู้ประกอบการอย่างแกรมมี่ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด และจำกัดให้เฉพาะลูกค้าที่ใช้กล่องรับสัญญาณของแกรมมี่ (และพันธมิตร) เท่านั้นที่สามารถรับชมได้
จากนั้นในฟุตบอลโลก 2014 เจ้าของลิขสิทธิ์อย่างอาร์เอส ที่ทุ่มเงินนับพันล้านบาทซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาเพื่อหวังจะทำกำไรมหาศาลก็ต้องประสบเคราะห์กรรมตามคำสั่งของ กสทช. ที่สั่งให้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกแบบฟรีๆ ตามกฎ ‘must-have’ เพราะเป็นมหกรรมกีฬาสำคัญ
เรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหนักหน่วง โดยเฉพาะในมุมของผู้ประกอบการที่น่าเห็นใจ
‘ผล’ ที่เกิดขึ้นตามมาคือไม่มีเอกชนไทยรายใดที่โดดมาร่วมวงลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกอีก เพราะทำไปก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง ยังต้องเอากระดูกมาแขวนคออีก
เวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเรื่องนี้ มีเพียงความพยายามจากภาครัฐ ทั้งฝ่ายของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และจากฝ่ายของ กสทช. ที่กำลังเผชิญกับความกดดันในการทำให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลกให้ได้
ปัญหาคือเรื่องของ ‘เงิน’ ที่จะนำมาใช้จ่ายนั้นจะมาจากไหน?
หากเป็นงบประมาณของชาติ ก็จะถูกตั้งคำถามที่ไม่สามารถตอบได้แน่นอนว่าทำไมไม่เอาไปใช้เพื่อการอื่นที่อาจเป็นประโยชน์มากกว่านี้ (ยิ่งเห็นพี่ตูนวิ่งจากใต้ขึ้นเหนือโดยใช้ทั้งชีวิตเข้าแลกแล้วยิ่งขยับตัวลำบากเข้าไปใหญ่)
โมเดลล่าสุดที่มีการพูดกันคือในจำนวนเงินค่าลิขสิทธิ์ 1,300 ล้านบาท รัฐจ่าย 500 ล้านบาท ที่เหลืออีก 800 ล้านบาทให้เอกชนมาร่วมกัน ‘ลงขัน’
คาดว่าภายในเดือนนี้ หรือมกราคม 2561 น่าจะรู้เรื่องครับ
โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าที่สุดแล้วคนไทยก็น่าจะได้ดูฟุตบอลโลกครั้งนี้ แม้จะทุลักทุเลหน่อยก็ตาม และไม่รู้ว่าจะใช้ ‘ไม้ตาย’ ท่าไหนในการปลดล็อกเรื่องนี้
แต่สิ่งที่จะเป็น ‘บทเรียน’ สำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐ คือการจะออกกฎใดๆ ต้องไตร่ตรองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน
หรือหากคิดว่ามหกรรมกีฬานั้นเป็นสิ่งที่สังคมไทย ‘must-have’ จริงๆ ก็ต้องวางแผนหาวิธีจัดการ ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามครรลอง และต้องคุ้มค่าที่สุดเท่าที่ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินไป
กีฬาสร้างชาติได้ครับ ฟุตบอลโลกก็เป็นแรงบันดาลใจและความสุขของคนในชาติได้
คิดหาทางกันให้ดีๆ ก็พอ
แท็กติกและของเล่นใหม่ในฟุตบอลโลก
คุยเรื่องเครียดๆ หนักๆ กันมามากแล้วครับ ทีนี้มาคุยเรื่องเบาๆ กันบ้างดีกว่า กับฟุตบอลโลก 2018 ในเรื่องสนุกๆ ที่น่าจะเกิดขึ้น
หนึ่งในเรื่องที่แฟนบอลเฝ้ารอดูมากที่สุดในการแข่งขันฟุตบอลโลก นอกเหนือจากผลงานและฟอร์มการเล่นของทีมสุดรักหรือนักเตะคนโปรด คือเรื่องของกลยุทธ์ลูกหนังว่าจะมีอะไรแปลกใหม่ที่น่าสนใจหรือไม่
เพราะฟุตบอลโลกนั้นเป็นรายการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ ทุกทีมมีโอกาสที่จะคว้าแชมป์ได้ทั้งนั้นครับในทางทฤษฎี
ต่อให้ขุมกำลังนักเตะและศักยภาพเป็นรอง แต่ด้วยเกมกลยุทธ์และศาสตร์ลูกหนัง ก็สามารถนำชัยชนะมาได้จำนวนไม่น้อย
เหมือนอย่างอิตาลีที่คว้าแชมป์โลกในปี 2006 ด้วยสไตล์ดั้งเดิมของพวกเขาคือ ‘คาเตนัคโช’ (Catenaccio) ที่เหนียวแน่น
จากนั้นในปี 2010 สเปน คว้าแชมป์โลกด้วยแท็คติก Tiki-taka อันบันลือโลก โดยเป็นระบบการเล่นสวยงามที่ครองเกมอย่างสมบูรณ์แบบหมดจด แม้ว่าจะต้องเหนื่อยหนักในรอบชิงชนะเลิศกับเนเธอร์แลนด์ จนถึงช่วงต่อเวลาพิเศษก่อนที่ อันเดรส อิเนียสต้า จะทำประตูชัยให้ทีมคว้าแชมป์ได้ก็ตาม
“ลา โรฮา” หรือสเปน ยังมีของเล่นใหม่มาอีกในฟุตบอลยูโร 2012 ที่พวกเขาทำให้โลกตะลึงด้วยระบบการเล่นแบบ False Nine ซึ่งหมายถึงการที่นักเตะในตำแหน่งศูนย์หน้าแต่ไม่ได้เล่นในแบบศูนย์หน้าแท้ๆ ซึ่งในรายการนั้น บิเซนเต้ เดล บอสเก้ เลือกใช้ เซสก์ ฟาเบรกาส ที่ปกติแล้วเป็นนักเตะในตำแหน่งกองกลางขึ้นไปยืนศูนย์หน้าแทน
นั่นถือเป็น “นวัตกรรมลูกหนัง” ที่แปลกใหม่และนำมาสู่บทสนทนาภาษาลูกหนังมากมายในหมู่แฟนบอล
ขณะที่ในฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล ไม่ได้มีนวัตกรรมลูกหนังพิสดารอะไรที่น่าจดจำมากนัก แต่เป็นฟุตบอลโลกที่สนุกที่สุดครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีการทำประตูกันมากถึง 171 ลูกจากจำนวน 54 นัด หรือคิดเฉลี่ยแล้วจะมีประตูมากถึง 2.67 ลูกต่อนัด ซึ่งเทียบเท่ากับสถิติในฟุตบอลโลก 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศส
เหตุผลที่มีจำนวนประตูมากถึงขนาดนั้น เนื่องจากทีมจำนวนมากเน้นเกมรุกเป็นพิเศษ (ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่ได้เห็นความสำเร็จของสเปนในช่วงที่ผ่านมา) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาช่วยลดช่องว่างระหว่างชาติมหาอำนาจกับชาติเล็กๆ ให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคย
ในรายงานฟุตบอลโลก 2014 ฉบับ Technical Report ของฟีฟ่า ที่จัดทำโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลก ยังระบุว่าทีมส่วนใหญ่ใช้ระบบการเล่นกองหลัง 4 ตัว แต่มีหลายทีมที่ใช้ระบบการเล่นกองหลัง 3 ตัว ทีมที่ทำผลงานได้ดีที่สุดส่วนใหญ่จะมีนักเตะในตำแหน่งกองกลางตัวรับที่เรียกว่า ‘คนแบกน้ำ’ (water-carrier) ยืนอยู่หลังแนวรับ และส่วนใหญ่ใช้กองหน้า 2 ตัว หรือ 3 ตัว น้อยที่จะใช้กองหน้าตัวเดียว
ตรงนี้เป็นจุดที่น่าติดตามว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางเกมกลยุทธ์อีกหรือไม่ เพราะเมื่อประเมินแล้ว เทรนด์ของเกมฟุตบอลมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 4 ปีที่แล้วบ้าง โดยเฉพาะระบบการเล่นที่กองหน้า 3 คน หรือกองหน้าตัวเดียว (lone striker) และมีตัวริมเส้นสนับสนุนเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
โดยกองหน้าตัวเป้าจะมีความครบเครื่องต้มยำ ทำได้ทุกอย่างทั้งพักบอล พาบอลไปกับตัว และแน่นอน ทำประตูเอง
แต่ถ้าถามว่าจะมีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ที่สร้างความฮือฮาหรือไม่ ก็ไม่น่าจะมีอะไรขนาดนั้นครับ นอกจากจะถึงวันที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา มาคุมทีมชาติก่อน!
ส่วนที่จะเป็น ‘ของเล่นใหม่’ ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่น่าจับตามองคือระบบ VAR (Video Assistant Referee) หรือระบบผู้ช่วยผู้ตัดสินวิดีโอ ว่าจะมีการนำมาใช้ในฟุตบอลโลกครั้งนี้หรือไม่ หลังจากที่เริ่มมีการนำมาใช้ในวงการฟุตบอลอย่างแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน
จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า ยืนยันว่าต้องการจะนำระบบ VAR มาใช้ในฟุตบอลโลกเหมือนเมื่อปี 2014 ที่มีการนำระบบ Goal-line Technology มาใช้และประสบความสำเร็จดี แต่ยังมีความกังวลว่าระบบ VAR จะดีพร้อมและดีพอสำหรับการนำมาใช้ในรายการสำคัญที่สุดของโลกหรือไม่ หลังยังพบว่ามีปัญหาในการใช้งานจริงอยู่
นอกเหนือจากนี้ที่เราจะได้เห็นคือลูกฟุตบอลใหม่ Telstar 18 ของ Adidas ที่เป็นการปัดฝุ่นนำชื่อรุ่นลูกฟุตบอลในตำนานกลับมาอีกครั้ง และเหล่าคอลเล็กชันสตั๊ดหลากสีสันบนปลายเท้าที่เหล่าแบรนด์ต่างๆ เตรียมจะนำออกมาโชว์ตัวในฟุตบอลโลกครั้งนี้
ใครจะเป็นแชมป์โลก?
คำถามสุดท้ายคือคำถามยอดฮิตที่ตอบยากที่สุดตลอดกาล
‘ใครจะเป็นแชมป์โลก?’
นับจากฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1930 จนถึงปัจจุบันมีการแข่งขันมาแล้ว 19 สมัย ชาติที่ได้แชมป์โลกมีเพียงแค่ 8 ชาติเท่านั้นครับคือ บราซิล (5 สมัย), เยอรมนี (4 สมัย), อิตาลี (4 สมัย), อาร์เจนตินา (2 สมัย), อุรุกวัย (2 สมัย), อังกฤษ (1 สมัย), ฝรั่งเศส (1 สมัย) และสเปน (1 สมัย)
ไม่มีชาติอื่นๆ นอกจากนี้ที่ได้สัมผัสโทรฟีสีทองของฟีฟ่าเวิลด์คัพอีก
มองไปยัง 32 ชาติที่เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ชาติที่ยังเป็นตัวเต็งอยู่ก็หนีไม่พ้นเยอรมนี แชมป์เก่า, บราซิล, สเปน, ฝรั่งเศส และอาร์เจนตินา (น่าเสียดายที่ไม่มีอิตาลีที่ตกรอบอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นกันกับฮอลแลนด์ รองแชมป์โลก 2 สมัยที่พลาดการมาโชว์ตัวในครั้งนี้เช่นกัน)
กลุ่มที่เป็นม้ามืดคือโปรตุเกส แชมป์ฟุตบอลยูโร 2016, เบลเยียม (รุ่นโกลเดนเจเนอเรชัน) และ เอ่อ…อังกฤษ
เรื่องน่าสนุกสำหรับฟุตบอลโลกครั้งนี้คือในบรรดาชาติตัวเต็งนั้น เกือบทั้งหมดอยู่ในระหว่างการ ‘ถ่ายเลือด’ ทำให้มีกลุ่มนักเตะสายเลือดใหม่ที่โดดเด่นน่าจับตามองมากมาย โดยเฉพาะ ‘อินทรีเหล็ก’ เยอรมนี, ‘กระทิงดุ’ สเปน และ ‘ตราไก่’ ฝรั่งเศส
เราจะได้เห็นนักเตะอย่าง เนย์มาร์ นำขบวน ตามด้วย กาเบรียล เฆซุส, คีลิยัน เอ็มบัปเป, เลรอย ซาเน, มาร์โก อเซนซิโอ หรือแฮร์รี เคน พิสูจน์ตัวเองในเวทีสูงสุดของโลก
ส่วนคนที่เป็นแฟน ‘ฟ้าขาว’ และแฟนบอลทีมอื่นอีกจำนวนไม่น้อยอาจจะส่งใจช่วยอาร์เจนตินามากเป็นพิเศษ เพราะอยากเห็น ลิโอเนล เมสซี่ ได้ชูถ้วยฟุตบอลโลกสักสมัย เพื่อให้ได้ขึ้นไปเทียบเท่ากับตำนานรุ่นก่อนอย่าง เปเล่ หรือมาราโดนา ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
คนที่ไม่ชอบเมสซี่ก็อาจจะเชียร์ คริสเตียโน โรนัลโด ให้นำโปรตุเกสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกต่อ หลังได้แชมป์ยูโรแบบเหลือเชื่อที่สุดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ถึงจะมีมลทินนิดหน่อยที่บาดเจ็บในนัดชิงชนะเลิศก็ตาม)
แต่อย่างที่บอกครับว่า คำถามว่าใครจะเป็นแชมป์โลกนั้นเป็นอะไรที่ตอบได้ยากมาก เนื่องจากอะไรก็เกิดขึ้นได้ในฟุตบอลโลก เราเคยเห็นแชมป์โลกตกรอบแรกในสมัยต่อมา เราเคยเห็นเต็งหนึ่งถูกทีมไม้ประดับเขี่ยตกรอบ และเราก็เคยเห็นการคว้าแชมป์แบบชวนค้านความรู้สึกมาแล้ว
สิ่งที่ดีที่สุดที่เรา ในฐานะแฟนบอลทุกคนทำได้คือการ ‘สนุก’ ไปกับมัน
สำหรับคอบอลตัวยงก็คงมีทีมในดวงใจอยู่แล้ว ไม่มีอะไรต้องห่วง
สำหรับคนที่ไม่ใช่คอบอลตัวยง ลองมองหาทีมสักทีม หาจุดเชื่อมโยงสักนิด เช่น ชอบเสื้อ ชอบสีทีม หรือชอบนักฟุตบอล ไว้ลุ้น ไว้เชียร์ให้กำลังใจกันไป
ผมเชื่อว่ามันจะเป็นช่วง 1 เดือนที่สนุกและมีความหมายสำหรับทุกคน ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม
Photo: AFP
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/sport/2017/dec/26/russia-deputy-pm-quits-football-role-before-2018-world-cup-doping-ban
- www.theguardian.com/football/2017/dec/01/world-cup-2018-team-by-team-guide
- www.ft.com/content/3a8ae2e8-cf0c-11e7-b781-794ce08b24dc
- sports.vice.com/en_ca/article/3kzxzv/what-we-know-about-corruption-in-the-2018-and-2022-world-cup-bids
- www.forbes.com/sites/augustrick/2017/12/06/what-russias-world-cup-struggle-for-sponsors-in-2018-tells-us-about-politics-in-sport-today/#3a7db9256433
- www.forbes.com/sites/steveprice/2017/10/25/infantino-wants-var-at-2018-world-cup-but-fifa-head-referee-warns-technology-could-kill-soccer/#55968dc4dbbd
- resources.fifa.com/mm/document/footballdevelopment/technicalsupport/02/42/15/40/2014fwc_tsg_report_15082014web_neutral.pdf