×

อินเดียไม่ใช่จุดระบาดหนักเพียงประเทศเดียว ผู้เชี่ยวชาญชี้ วัคซีนและความสามัคคีของโลกคือทางออกของวิกฤตโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
02.05.2021
  • LOADING...
อินเดียไม่ใช่จุดระบาดหนักเพียงประเทศเดียว ผู้เชี่ยวชาญชี้ วัคซีนและความสามัคคีของโลกคือทางออกของวิกฤตโควิด-19

เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว ในขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เน้นย้ำว่า แนวทางระดับโลกจะเป็นหนทางเดียวที่จะนำพาโลกออกจากวิกฤตนี้

 

“หนทางข้างหน้าคือความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในระดับประเทศ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในระดับโลก” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อเดือนเมษายน ปี 2020

 

12 เดือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว แม้ประเทศตะวันตกบางประเทศกำลังจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้นทีละนิด แต่ภาพรวมของทั่วโลกก็ยังคงเลวร้าย ดังเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน ตามรายงานของ WHO เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

 

นอกจากอินเดียที่กำลังประสบภาวะวิกฤตหนักหน่วงที่สุดแล้ว ตุรกีซึ่งมีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุดในยุโรปเวลานี้ก็เพิ่งประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นครั้งแรกไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา 

 

ด้านอิหร่านทำสถิติยอดผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดเมื่อวันจันทร์ ขณะที่หลายเมืองถูกล็อกดาวน์บางส่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน กล่าวว่า ประเทศกำลังประสบกับการแพร่ระบาดระลอกที่ 4

 

ส่วนสถานการณ์ในทวีปอเมริกาใต้โดยรวมก็ยังคงมืดมนเช่นกัน โดยบราซิลมีผู้ติดโควิด-19 ที่ยืนยันแล้วมากกว่า 14.5 ล้านราย และเสียชีวิตเกือบ 4 แสนราย ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์

 

“เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกเกือบเท่ากับช่วง 5 เดือนแรกของการระบาดรวมกัน” ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าว

 

แม้บางประเทศเสนอความช่วยเหลือ เช่น การส่งเครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ และเวชภัณฑ์อื่นๆ ไปยังอินเดียในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ความหวังที่จะเห็นทั่วโลกตอบสนองต่อวิกฤตร่วมกันนั้นยังคงไม่เกิดขึ้นจริง แม้ WHO ตลอดจนองค์กรด้านสุขภาพอื่นๆ จะพยายามออกมาเรียกร้องก็ตาม

 

COVAX ซึ่งเป็นโครงการแบ่งปันวัคซีนระดับโลกที่ให้ส่วนลดหรือมอบวัคซีนฟรีแก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำ ยังคงเป็นความหวังสูงสุดที่อาจทำให้การระบาดอยู่ภายใต้การควบคุม

 

ที่ผ่านมาโครงการ COVAX พึ่งพาวัคซีนจากอินเดียอย่างมาก ผ่านทางสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) ในการผลิตวัคซีน AstraZeneca ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของโครงการ COVAX

 

อินเดียสัญญาว่าจะจัดหาวัคซีนให้โครงการ COVAX เป็นจำนวน 200 ล้านโดส พร้อมด้วยสิทธิในการซื้อวัคซีนถึง 900 ล้านโดส เพื่อแจกจ่ายไปยัง 92 ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ ทำให้อินเดียต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับพลเมืองของตัวเอง ก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่น

 

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส เปิดเผยว่า ณ ต้นเดือนเมษายน ประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำได้รับการฉีดวัคซีนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% ของการฉีดวัคซีนกว่า 700 ล้านโดสทั่วโลก ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 87%

 

ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ มีผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 คิดเป็นอัตราส่วนเพียง 1 ในมากกว่า 500 คน เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูงที่มีอัตราส่วนอยู่ที่เกือบ 1 ใน 4 ซึ่งทีโดรสเรียกความแตกต่างนี้ว่าเป็น ‘ความไม่สมดุลที่น่าตกใจ’

 

“เราได้แสดงให้เห็นแล้วว่า COVAX นั้นได้ผล แต่เพื่อให้บรรลุศักยภาพสูงสุดของโครงการ ทุกประเทศจำเป็นต้องก้าวเข้ามาพร้อมด้วยข้อผูกมัดทางการเมืองและการเงินที่จำเป็นต่อการสนับสนุน COVAX อย่างเต็มที่ และยุติการแพร่ระบาด”

 

แม้ประเทศร่ำรวยหลายประเทศให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนโครงการ แต่เอาเข้าจริงประเทศเหล่านั้นกลับยังไม่พร้อมที่จะเจียดวัคซีนของตน โดยเพิ่งจะมีฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่บริจาควัคซีน AstraZeneca ให้กับ COVAX เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

 

“ปัญหาคือคนที่มีอำนาจส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลระดับชาติ” ไมเคิล เฮด นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาพระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตันในอังกฤษ กล่าว “WHO เสนอแนวทาง แต่ไม่มีอำนาจมากนัก และเป็น WHO ที่พยายามทำในสิ่งต่างๆ เช่น ความเสมอภาค เพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะได้รับการปกป้องเท่าที่จะเป็นไปได้

 

“เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของพลเมืองของตน และเมื่อเกิดการแพร่ระบาด โลกก็ค่อนข้างเห็นแก่ตัว ทุกประเทศค่อนข้างเห็นแก่ตัว แต่พวกเขาค่อนข้างมีเหตุผลในระดับหนึ่งที่จะต้องดูแลประชาชนของตัวเองก่อน”

 

COVAX เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย WHO, Vaccine Alliance (หรือ Gavi) และ Coalition for Epidemic Preparedness Innovation และได้รับการประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าเป็น ‘ทางออกเดียวของโลกอย่างแท้จริง’ โดยสร้างความมั่นใจว่าสามารถเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน

 

เป้าหมายเริ่มต้นของโครงการคือ การมีวัคซีน 2 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะปกป้องผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและผู้ที่เปราะบาง รวมถึงบุคลากรแนวหน้าในประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 

 

COVAX ส่งมอบวัคซีนต้านโควิด-19 ล็อตแรกให้แก่ประเทศกานาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และจนถึงขณะนี้ทางโครงการได้จัดส่งวัคซีน 49.5 ล้านโดส ไปยัง 121 ประเทศ ซึ่งห่างไกลจากแผนเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะกระจายวัคซีน 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนมีนาคม โดยสาเหตุนั้นมาจากการที่ประเทศร่ำรวยกักตุนวัคซีน รวมถึงการผลิตและจัดหาวัคซีนที่หยุดชะงัก 

 

“เป้าหมายเริ่มต้นของเราคือการเข้าถึงประชากร 20% โดยเจาะจงไปที่ 92 ประเทศและดินแดนที่มีรายได้ต่ำที่มีสิทธิได้รับการสนับสนุนจาก Gavi COVAX Advance Market Commitment” โฆษกของ Gavi กล่าว

 

“ตอนนี้เราทำข้อตกลงจัดซื้อวัคซีนได้มากกว่าจำนวนดังกล่าว แต่ด้วยซัพพลายที่ตึงตัวในตลาดโลก ทำให้การแจกจ่ายวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้มีความล่าช้า อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าจัดหาเงินทุนและจัดหาวัคซีนจำนวน 1.8 พันล้านโดส เพื่อส่งมอบให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำ 92 ประเทศในปี 2021

 

การต่อสู้ของ COVAX เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกยังไม่ประสานความร่วมมือเพื่อยุติวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตนเองก่อน

 

โดยตั้งแต่เริ่มต้น โครงการ COVAX ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการที่จะทำข้อตกลงเพื่อจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตหลายราย เนื่องจากประเทศร่ำรวยเองต่างก็รีบเร่งจัดหาวัคซีนจากทั่วโลกผ่านการทำข้อตกลงทวิภาคีกับบริษัทยา ข้อมูลที่รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยดุ๊กระบุว่า ปัจจุบันประเทศที่มีรายได้สูงมีวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 4.7 พันล้านโดส ในขณะที่ COVAX ซื้อวัคซีนมาได้เพียง 1.1 พันล้านโดส

 

นอกจากนั้นวัคซีนที่จะแจกจ่ายจากโครงการ COVAX จะต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจาก WHO เท่านั้น ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังมีจำนวนจำกัด โดยมีเพียงวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech, Moderna, AstraZeneca และ Johnson & Johnson เท่านั้นที่ได้รับไฟเขียวจาก WHO ให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ 

 

ยิ่งไปกว่านั้น COVAX ยังมีอุปสรรคในเรื่องของการจัดเก็บวัคซีน เพราะถึงแม้ว่าวัคซีนของ Pfizer-BioNTech และ Moderna จะมีประสิทธิภาพสูงถึงประมาณ 95% แต่วัคซีนทั้งสองตัวต้องจัดเก็บในช่องแช่แข็ง ซึ่งประเทศที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถในการเก็บความเย็น

 

ดังนั้นก่อนที่วัคซีน Johnson & Johnson จะได้รับการอนุมัติจาก WHO ในเดือนมีนาคม COVAX จึงต้องพึ่งพาวัคซีน AstraZeneca ซึ่งสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติได้ 

 

สำหรับวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติของ WHO เป็นลำดับต่อไปคือวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีน ได้แก่ วัคซีนจากบริษัท Sinopharm ของรัฐบาลจีน ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ ในขณะที่วัคซีนของ Sinovac ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในต้นเดือนพฤษภาคม

 

ทั้งนี้ วัคซีนของจีนสามารถจัดเก็บในตู้เย็นปกติได้เช่นเดียวกับวัคซีน AstraZeneca และ Johnson & Johnson จึงสามารถขนส่งได้ง่ายกว่าในประเทศกำลังพัฒนา

 

โดยจีนให้คำมั่นที่จะจัดหาวัคซีนแก่ COVAX เป็นจำนวน 10 ล้านโดส แต่จำนวนดังกล่าวนับว่าน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับปริมาณ 100 ล้านโดสที่จีนส่งให้ประเทศต่างๆ โดยตรงผ่านข้อตกลงทวิภาคีกับแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงการบริจาคให้กับประเทศยากจน

 

แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ข้อตกลงการบริจาคเหล่านี้มักได้รับอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้วัคซีนไม่ได้ถูกจัดส่งไปยังประเทศที่กำลังต้องการวัคซีนมากที่สุด

 

โทมัส โบลลีสกี ผู้อำนวยการ Global Health Program ของสภาวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า จาก 65 ประเทศที่จีนให้คำมั่นว่าจะบริจาควัคซีนให้นั้น มีเพียง 2 ประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานและการค้าระดับโลกของรัฐบาลจีน

 

ความกังวลอีกประการหนึ่งคือ การขาดความโปร่งใสเกี่ยวกับวัคซีนจีนทั้งสองตัว โดยโบลลีสกีกล่าวว่า ทั้ง Sinopharm และ Sinovac ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดจากการทดลองทางคลินิกระยะสุดท้าย

 

ภาพ: Biplov Bhuyan / Hindustan Times via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X