ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในช่วงที่ผ่านมา นับเป็นหนึ่งบทพิสูจน์ที่สำคัญสำหรับการบริหารความยืดหยุ่นขององค์กรในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ผลสำรวจ Great expectations: Global executives respond to business disruption โดย Strategy& ของ PwC ได้เปิดเผยถึงมุมมองของผู้บริหารระดับโลกต่อแนวโน้มการเติบโตขององค์กรและแผนการฟื้นฟูธุรกิจหลังวิกฤตโควิด ผมจึงอยากแบ่งปันข้อมูลที่น่าสนใจให้กับคุณผู้อ่าน เพื่อให้ทุกท่านสามารถนำแนวคิดและกรณีศึกษาไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริงได้
รายงานฉบับนี้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกกว่า 250 ราย ครอบคลุม 11 กลุ่มอุตสาหกรรม โดย 93% ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจมาจากบริษัทที่มีรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป
1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว ขณะที่การปฏิรูปทางธุรกิจจะยิ่งได้รับความสำคัญ
60% ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นภายใน 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 50% มองว่ารายได้ของธุรกิจของตนในปีนี้จะเติบโตได้ แต่ 78% ของผู้บริหารคาดว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยน (Transform) การบริหารองค์กรภายในสามปีข้างหน้า เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดจากผลกระทบของโควิด โดยจะมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปการดำเนินงานและปรับกลยุทธ์ไปสู่การเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เพราะกลยุทธ์ในการลดต้นทุน การทำการตลาด หรือการบริหารห่วงโซ่อุปทานแบบดั้งเดิม อาจไม่ช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางภาวะวิกฤต
ดังนั้นผู้บริหารจึงหันมาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโมเดลทางธุรกิจ รวมทั้งทบทวนกลยุทธ์ขององค์กรใหม่ โดยไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ในอดีต เพื่อปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์
2. องค์กรยังคงเดินหน้าลงทุนเพื่อขยายขีดความสามารถด้านดิจิทัล
ผลกระทบของโควิดเป็นตัวเร่งให้องค์กรต้องหันมาเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลขึ้นไปอีกขั้น โดยผลสำรวจพบว่า การลงทุนเพื่อขยายขีดความสามารถด้านไอทีและดิจิทัล ถือเป็นการลงทุนที่ผู้บริหารให้การพิจารณามากที่สุด เปรียบเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ โดยยินดีที่จะลงทุนเพิ่มถึง 15% ทั้งนี้ ผู้บริหารที่ต้องการลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ รวมถึงโซลูชันแพลตฟอร์มเพื่อต่อยอดรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ เช่น โรงพยาบาลหรือคลินิกที่ให้บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Telemedicine) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ เป็นต้น นอกจากนี้ผลจากการสำรวจยังพบว่า ผู้บริหารองค์กรมีการทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจของตนโดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างคุณค่าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันมากขึ้น
3. แนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจะยิ่งมาแรง
เทรนด์การทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) จะยิ่งทวีความสำคัญในยุคหลังโควิด โดยผลจากการสำรวจพบว่า 17% ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจมีการผนวกแนวคิด ESG เข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อฟื้นฟูธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากโควิดได้ตอกย้ำความคาดหวังของสังคมต่อบทบาทขององค์กร ควบคู่ไปกับกระแสการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นองค์กรที่จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนจะต้องให้ความสำคัญกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลตอบแทนแค่กำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อความยั่งยืนในระยะยาวของสังคมโดยรวมด้วย
แม้ในปัจจุบันองค์กรไทยส่วนใหญ่จะยังไม่ตื่นตัวกับการนำ ESG มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจมากเท่ากับบริษัทในต่างประเทศหรือบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ แต่ด้วยความนิยมของการลงทุนอย่างรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล น่าจะเป็นแรงผลักดันให้องค์กรไทยทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เร่งนำ ESG มาผนวกเป็นกลยุทธ์สำคัญขององค์กรในระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน
4. สร้างสมดุลระหว่างการลดต้นทุนและการบริหารทรัพยากรบุคคล
ผลจากการสำรวจพบว่า ผู้บริหารวางแผนที่จะลดต้นทุนโดยเฉลี่ยมากถึง 11% ในฝ่ายงานต่างๆ ภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายการตลาด และฝ่ายทรัพยากรบุคคล เช่นเดียวกัน 37% คาดว่าองค์กรของตนจะมีแรงงานลดลงอย่างถาวรในอีก 12 เดือนข้างหน้า
แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ผลสำรวจพบว่า 41% ขององค์กรที่คาดการณ์รายได้เชิงบวกคาดว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตได้ในขณะที่มีการลดจำนวนพนักงาน (Headcount) ขณะที่ 96% กำลังพิจารณาการเปลี่ยนแรงงานสู่ดิจิทัล โดยนำระบบอัตโนมัติมาใช้กับสถานที่ทำงานในอนาคต (Office of The Future) เพื่อพัฒนารูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานประจำมากเท่าเดิม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการบริหารทรัพยากรขององค์กรไปได้มาก
อย่างไรก็ดี ผู้บริหารต้องการสร้างสมดุลระหว่างการลดต้นทุนและการบริหารทรัพยากรบุคคล เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘บุคลากร’ ยังคงเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร และการเพิ่มพูนทักษะทางด้านดิจิทัลให้กับพนักงานถือเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้พวกเขามีความพร้อมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรในยุคดิจิทัล
เราจะเห็นว่าธุรกิจที่จะสามารถฝ่ากระแสคลื่นดิสรัปชันที่เข้ามากระทบธุรกิจได้ต้องอาศัยกลยุทธ์ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่น และพร้อมที่จะถูกปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า 4 เทรนด์อนาคตโลกธุรกิจหลังโควิดข้างต้นนี้ จะช่วยจุดประกายการกำหนดกลยุทธ์ให้แก่ผู้นำองค์กรทุกๆ ท่านได้ไม่มากก็น้อย แม้ว่าในเวลานี้ทุกธุรกิจจะยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ผมเชื่อว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส หากเรามีการวางแผนการรับมือที่ดี ควบคู่ไปกับการหมั่นทบทวนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
อ้างอิง: