หน่วยงานเฝ้าติดตามสภาพอากาศของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยวานนี้ (15 มิถุนายน) ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ร้อนมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเจอมา
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ปรากฏการณ์เอลนีโญได้ย่างกรายเข้ามาสู่โลกของเราอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะสภาพอากาศสุดขั้ว รวมถึงอาจทำให้อุณหภูมิพุ่งทำลายสถิติเดิมด้วย
ซาแมนธา เบอร์เกสส์ รองผู้อำนวยการ Copernicus Climate Change Service (C3S) กล่าวว่า “โลกเพิ่งประสบกับอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดของช่วงต้นเดือนมิถุนายน หลังจากผ่านพ้นเดือนพฤษภาคมที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าเดือนพฤษภาคมที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ไม่ถึง 0.1 องศาเซลเซียส”
ข้อมูลจาก C3S ระบุว่า อุณหภูมิอากาศพื้นผิวในช่วงวันแรกๆ ของเดือนมิถุนายน 2023 นั้นสูงสุดเมื่อเทียบกับอุณหภูมิในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านๆ มาตามบันทึกข้อมูลขององค์กร หรือนับตั้งแต่ปี 1950 นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวอุณหภูมิโลกยังสูงเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หรือทะลุเพดานที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2015
หากเจาะลึกถึงรายละเอียดจะพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกรายวันอยู่ราวๆ หรือเหนือเพดาน 1.5 องศาเซลเซียสในระหว่างวันที่ 7-11 มิถุนายน และแตะระดับสูงสุดที่ 1.69 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมในวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คำว่า ‘เอลนีโญ’ มาจากภาษาสเปน ซึ่งแปลว่า ‘เด็กชาย’ โดยเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่จะทำให้ผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกในเขตร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทุกๆ 2-7 ปีโดยเฉลี่ย ซึ่งครั้งล่าสุดที่เอลนีโญมาเยือนโลกนั้นคือปี 2018-2019
นอกจากนี้ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงที่โลกเจอกับเอลนีโญ ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่า ฤดูร้อนนี้และปีต่อๆ ไปโลกอาจมีอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ทั้งบนบกและในทะเล
แฟ้มภาพ: ARVD73 Via Shutterstock
อ้างอิง: