×

รายงานธนาคารโลกระบุ เศรษฐกิจไทยโต 2.5% ในปี 2562 แนะกระตุ้นผลิตภาพเพื่อความมั่งคั่ง สู่เป้าหมายประเทศรายได้สูง

17.01.2020
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับที่ 40 ในวันนี้ (17 มกราคม) โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยโตช้าลงเหลือ 2.5% ในปี 2562 จากผลกระทบของการส่งออกที่หดตัว สืบเนื่องจากภาวะชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รวมถึงการลงทุนในประเทศที่ชะลอลง พร้อมเสนอแนะให้ไทยเน้นการกระตุ้นผลิตภาพและการลงทุน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของไทย เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง 

 

ในรายงาน ตามติดเศรษฐกิจไทย: ผลิตภาพเพื่อความมั่งคั่งของไทย ธนาคารโลกระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยเติบโตชะลอตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.5% ในปี 2562 จากเดิมที่เคยขยายตัวถึง 4.1% ในปี 2561 สืบเนื่องจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การส่งออกที่ลดลง และความต้องการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง โดยการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรลดลง 7% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 เนื่องจากความต้องการสินค้าส่งออกประเภทข้าวและยางพาราลดลง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกก็ลดลงมาอยู่ที่ 6% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 

 

นอกจากนี้การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น 8.9% ตั้งแต่ปีก่อน ก็ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและการส่งออกสินค้าด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.7% ในปีนี้ จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

 

แต่ธนาคารโลกเตือนว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยในประเทศและนอกประเทศ โดยปัจจัยภายนอกมาจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่วนความเสี่ยงระยะสั้นจากปัจจัยภายในประเทศคือความสมานฉันท์ของรัฐบาลร่วมหลายพรรคการเมือง ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

 

ส่วนเศรษฐกิจโลกในภาพรวมนั้น ธนาคารโลกคาดว่า จะเติบโตชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.4% ในปี 2562 และคาดว่า จะฟื้นตัวเล็กน้อยขึ้นมาที่ระดับ 2.5% ในปีนี้ โดยความเสี่ยงสำคัญที่อาจฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอตัวคือ ปัจจัยเรื่องการค้าโลก 

 

ดร.เบอร์กิต ฮานส์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “กิจกรรมด้านเศรษฐกิจของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน ภาคพื้นยุโรป และสหรัฐอเมริกา ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกระทบต่อประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง เนื่องจากดีมานด์สินค้าส่งออกลดลง และผลกระทบจากห่วงโซ่คุณค่า 

 

“การลงทุนด้านการเงิน สินค้าโภคภัณฑ์ และความเชื่อมั่นในเรื่องต่างๆ สามารถส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย” ดร.ฮานส์ กล่าว

 

ขณะที่ ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในปีนี้น่าจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความเห็นว่า ปัจจุบันไทยยังมีพื้นที่ทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกมาก ซึ่งภาครัฐสามารถลงทุนเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน นอกจากนี้การพัฒนาระบบประกันสังคมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

 

คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวระดับปานกลางที่ 2.7% ในปี 2563 ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์สินค้าส่งออกที่กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย โดยภาคการส่งออกจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าที่บรรเทาลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนก็ฟื้นตัวดีขึ้น 

 

ส่วนระยะยาว ไทยจำเป็นต้องส่งเสริมผลิตภาพ หากไทยต้องการบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2579 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ผลิตภาพจะต้องเติบโต 3% ขณะที่การลงทุนต้องโต 40% และ GDP ต้องขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี

 

“การกระตุ้นผลิตภาพให้เติบโตขึ้นเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยระยะยาว” ดร.เกียรติพงศ์ กล่าว “การเพิ่มผลิตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้น ประเทศไทยต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรงมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงทักษะแรงงาน”

 

รายงานระบุว่า การที่ผลิตภาพจะเติบโตในระดับสูงขึ้นอย่างยั่งยืนได้ ต้องอาศัยการขจัดข้อจำกัดต่างๆ ที่กีดกันไม่ให้บริษัทเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทต่างชาติ และแรงงานที่มีทักษะวิชาชีพชาวต่างชาติ ให้สามารถเข้ามามีส่วนในตลาดในประเทศ ข้อจำกัดนี้รวมถึงการลดกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวด โดยเฉพาะในภาคบริการ การนำพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าที่มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้าและการควบคุมราคามาใช้ รวมถึงการพัฒนานโยบายที่จะสร้างแรงงานที่มีทักษะและสร้างทุนมนุษย์ที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจ ฐานความรู้ที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • ธนาคารโลก (World Bank)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising