×

World Bank ประเมิน หลังเจอโควิดเศรษฐกิจไทยโตล้าหลังเพื่อนบ้านราว 9-15% ของ GDP ส่วนการเติบโตตามศักยภาพก็ ‘ต่ำกว่า’ ค่าเฉลี่ยภูมิภาค

03.07.2024
  • LOADING...
World Bank

รายงานฉบับล่าสุดของ World Bank ประเมินว่า หลังจากเผชิญโควิดเมื่อปี 2019 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนประมาณ 9-15% ของ GDP เหตุเผชิญความท้าทายด้านโครงสร้างมากกว่าและเศรษฐกิจเปิดมากกว่า โดยระดับศักยภาพ (Potential Growth) ​ที่ 2.7% ยัง‘ต่ำกว่า’ ค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ 4.8%

 

วันนี้ (3 กรกฎาคม) ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ฉบับล่าสุด พบว่า ค่าเฉลี่ยตั้งแต่หลังโควิดเมื่อปี 2019 จนถึงปี 2023 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 4 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยมีช่องว่างอยู่ที่ 9-15% ของ GDP

 

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก อธิบายว่า แม้ว่าทุกประเทศในอาเซียนจะเผชิญปัญหา (Shock) เช่นเดียวกัน แต่ไทยกลับได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่า เนื่องมาจากไทยมีเศรษฐกิจที่เปิดมากกว่าและพึ่งพาภาคต่างประเทศ (External Sector) เช่น ส่งออกและท่องเที่ยวอย่างมาก หรือกว่า 10% ของ GDP รวมทั้งไทยยังกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านโครงสร้างเศรษฐกิจมากกว่า

 

“ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยว แม้ว่ารายรับจากการท่องเที่ยวยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต แต่จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยยังอยู่ระดับราว 86% ของช่วงก่อนโควิดเท่านั้น

 

“ขณะที่ตำแหน่งที่ค่อนข้างต่ำของไทยในห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chains) ทำให้ไทยไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของวงจรอิเล็กทรอนิกส์โลกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะจากส่วนประกอบที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อย่างเช่น เซมิคอนดักเตอร์” รายงาน Thailand Economic Monitor (ฉบับล่าสุด) ระบุ

 

World Bank

ศักยภาพเศรษฐกิจไทย ‘ต่ำกว่า’ ค่าเฉลี่ยภูมิภาค 

 

ในรายงาน World Bankยังประมาณการด้วยว่า ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (Potential Growth) ในระยะปานกลาง (ปี 2023-2030) การเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 2.7% นับว่าลดลง 0.5% จากศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อปีช่วง 10 ปีก่อน (ปี 2011-2021) ที่ราว 3.2% เนื่องมาจากสาเหตุหลักคือ ผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity) ที่ชะลอตัวและล้าสมัย (Aging)

 

ศักยภาพระดับปัจจุบันยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโต ‘โดยเฉลี่ย’ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4.8% ในช่วงที่เหลือของทศวรรษ 2020 (หรือระหว่างปี 2020-2029)

 

World Bankยังเตือนด้วยว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงโดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จะยังคงขัดขวางความก้าวหน้าในการลดความยากจน (Poverty) และความเหลื่อมล้ำ (Inequality)”

 

อย่าเพิ่งหมดหวัง! World Bankแนะแนวทางเพิ่ม Potential Growth

 

ดร.เกียรติพงศ์ กล่าวว่า มีโอกาสที่ไทยจะยกระดับศักยภาพการเติบโตขึ้นอีกกว่า 1% จากระดับปัจจุบันที่ 2.7% ไปสู่ระดับราว 4% ผ่านการลงทุนที่เพิ่มขึ้น (Investment Surge), การปรับปรุงภาคการศึกษาและสาธารณสุข (Education and Health Improvement) ไปจนถึงการปฏิรูปทางสังคมและตลาดแรงงาน (Social and Labor Market Reforms) โดย World Bankพบว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (Structural Transformation) จะสามารถเพิ่มการเติบโตทางศักยภาพได้มากที่สุด

 

 

“เพื่อกระตุ้นการเติบโตที่มีศักยภาพ World Bank แนะว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปทางสังคมและตลาดแรงงาน (บำนาญ การมีส่วนร่วมของแรงงานผู้หญิง และการย้ายถิ่น) ปรับปรุงผลลัพธ์การเรียนรู้ และบริการด้านสุขภาพ เร่งการลงทุนโดยการลดความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆ ลง การลงทุนจากภาครัฐในด้านทุนมนุษย์ การปรับตัวทางสภาพภูมิอากาศและโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองรอง และการส่งเสริมการขยายตัวของเมือง ยังสามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนที่มีนัยสำคัญ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลและการเติบโตที่ครอบคลุม การดำเนินการการปฏิรูปโครงสร้างที่ครอบคลุมเหล่านี้ สามารถกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและบรรลุผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้” รายงานระบุ

 

ส่วนการเพิ่มศักยภาพในระยะยาว World Bank แนะว่า ควรเป็นการปฏิรูปทางการคลังเพื่อกระตุ้นการเติบโตทั่วประเทศ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่สามารถเชื่อมโยงและเพิ่มขีดความสามารถให้กับจังหวัดต่างๆ ดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X