×

ธนาคารโลกคาด กระจายวัคซีนช้าอาจกระทบ GDP ได้ถึง 1% ขณะที่วิกฤตโควิด-19 ทำให้ ‘คนจน’ ในไทยเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านคน แนะภาครัฐช่วยเหลือแบบเจาะจงมากขึ้น

26.03.2021
  • LOADING...
ธนาคารโลกคาด กระจายวัคซีนช้าอาจกระทบ GDP ได้ถึง 1% ขณะที่วิกฤตโควิด-19 ทำให้ ‘คนจน’ ในไทยเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านคน แนะภาครัฐช่วยเหลือแบบเจาะจงมากขึ้น

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต่างฟื้นตัวได้ไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัด โดยธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานติดตามเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งเห็นได้ว่ามีเพียงแค่ ‘จีน’ และ ‘เวียดนาม’ เท่านั้น ที่มีการฟื้นตัวเป็นรูปตัววี (V-shaped) ทำให้ขณะนี้มีผลผลิตสูงกว่าระดับก่อนโควิด19 ได้แล้ว 

 

โดยภาพรวมการฟื้นตัวในภูมิภาคคาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 1.2% ในปี 2563 เป็น 7.6% ในปี 2564 แต่ก็มีแนวโน้มที่การฟื้นตัวจะดำเนินไปด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน 3 ระดับ โดยจีนและเวียดนามคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นไปอีกในปี 2564 คือ 8.1% และ 6.6% ตามลำดับ จาก 2.3% และ 2.9% ในปี 2563 

 

ส่วนเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาคที่บอบช้ำจากวิกฤตมากกว่า จะเติบโตประมาณ 4.6% โดยเฉลี่ย ซึ่งช้ากว่าอัตราการเติบโตก่อนวิกฤตเล็กน้อย การฟื้นตัวคาดว่าจะใช้เวลานานในประเทศหมู่เกาะที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว

 

ทั้งนี้ คาดว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะสามารถเพิ่มการเติบโตของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ถึง 1% โดยเฉลี่ยในปี 2564 และเร่งการฟื้นตัวให้เร็วขึ้นได้ประมาณสามเดือนโดยเฉลี่ย ส่วนความเสี่ยงสำคัญอยู่ที่ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนที่อาจฉุดการเติบโตได้ถึง 1% ในบางประเทศ

 

ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาค ผลผลิตยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดโดยเฉลี่ยประมาณ 5% ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ศักยภาพทางเศรษฐกิจยังคงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความสามารถในการคว้าโอกาสจากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และศักยภาพของรัฐบาลในการให้ความสนับสนุนทางด้านงบประมาณและการเงิน

 

ผลกระทบที่สำคัญอย่างหนึ่งจากวิกฤตครั้งนี้คือ ความยากจนในภูมิภาคเมื่อปี 2563 ไม่ลดลงเลยซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ประชากรราว 32 ล้านคน ในภูมิภาคไม่สามารถออกจากความยากจนได้ (เส้นความยากจน 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน)

 

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทยคาดว่าคนจนจะเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านคน ขณะเดียวกันความไม่เท่าเทียมก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนจนซึ่งมีรายได้ลดลง รวมถึงในกลุ่มผู้หญิงซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะมีสัดส่วนการทำงานในภาคบริการสูงกว่า และกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่เช่นกัน 

 

“ในปีนี้ธนาคารโลกปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงเหลือ 3.4% และคาดว่ากว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 ต้องรอถึงปี 2565 ซึ่งในระหว่างนี้ภาครัฐควรที่จะมีนโยบายการคลังออกมาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง” 

 

ด้าน อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เปิดเผยว่า การออกนโยบายช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐ ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเจาะจงมากขึ้น โดยเน้นปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและจัดสรรไปยังจุดที่จะได้รับผลตอบแทนทางสังคมสูงสุด ประเทศที่มีการบริหารจัดการการลงทุนภาครัฐที่ดีมีผลตอบแทนสูงกว่าประเทศอื่นถึงสี่เท่า 

 

นอกจากนี้ แทนที่จะลดความช่วยเหลือหรือขึ้นภาษีก่อนเวลาที่ควร ภาครัฐประเทศต่างๆ ควรให้คำมั่นที่จะยึดถือวินัยและดำเนินการปฏิรูปเพิ่มประสิทธิภาพในอนาคต ซึ่งบางประเทศได้เริ่มวางแผนมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังที่จะต้องมีการลดการใช้จ่ายหรือเพิ่มรายได้ รวมถึงการออกกฎเกณฑ์ทางการคลัง รัฐบาลยังสามารถยึดมั่นที่จะค่อยๆ ตัดการใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองและถดถอย เช่น การอุดหนุนเชื้อเพลิงมีสัดส่วนมากถึง 0.25% ของ GDP ในจีน 0.3% ในอินโดนีเซีย 0.5% ในเวียดนาม และ 1.3% ในมาเลเซีย 

 

ทั้งนี้ ความท้าทายของไทยที่สำคัญต่อจากนี้คือ การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและรวดเร็วต่อความต้องการ ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยยังสามารถฉีดวัคซีนได้เพียง 0.08 โดส ต่อ 100 คน คิดเป็นจำนวนทั้งหมดเพียง 5.4 หมื่นโดส 

 

ส่วนประเมินความสามารถทางด้านการคลังของไทย ถือว่ามีพื้นที่การคลังเพียงพอ แต่ก็มีหนี้เอกชนจำนวนมาก และมีปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโต ขณะที่การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมของไทยยังแทบไม่มีการดำเนินการเป็นรูปธรรมใดๆ

 

การคาดการณ์การเติบโตของ GDP สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่กำลังพัฒนา

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

พิสูจน์อักษร: ชฎานิสภ์ นุ้ยฉิม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising