×

ธนาคารโลกมองเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเกิดภาวะถดถอยน้อยกว่าช่วงน้ำมันแพงยุค 70

01.07.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

จากงานสัมมนาของ World Bank Group ภายใต้หัวข้อ Thailand Economic Monitor: Building Back Better, Greener and Resilient – The Circular Economy เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565

 

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลกเปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเป็นกลุ่มประเทศในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครนมากที่สุด โดยผลกระทบส่งผ่านจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็ยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านช่องทางการค้าและการท่องเที่ยว 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


แม้ว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมา GDP ของไทยจะเร่งตัวขึ้น แต่ก็กลับมาชะลอตัวอีกครั้งในไตรมาส 2 นี้ จะเห็นว่าการฟื้นตัวของ GDP ไทยตามหลังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน สาเหตุเป็นเพราะว่าการระบาดของโควิดหลายระลอก และการที่ราคาน้ำมันสูงนั้นกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก เพราะไทยนำเข้าพลังงานคิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของ GDP ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านแม้จะนำเข้าในระดับใกล้เคียงกัน แต่ก็ถูกชดเชยด้วยการส่งออกไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ 

 

“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสูง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยมากขึ้น แต่ถ้าเทียบกับช่วงปี 1970 เชื่อว่ามีโอกาสจะเกิดภาวะถดถอยน้อยกว่า” 

 

เช่นเดียวกับความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าล่าสุดธนาคารโลกจะปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP โลกในปีนี้ ลดลงจาก 4.1% มาเหลือ 2.9% แต่คาดว่าโอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยอาจจะยังไม่ได้มากนัก แม้ว่าจะมีความเสี่ยงมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 

 

  1. การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง และประชากรสามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 80% ตามเป้าหมาย แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ อัตราการเสียชีวิตที่กลับมาสูงขึ้นอีกครั้งจากการระบาดรอบล่าสุด เพราะฉะนั้นไทยควรจะดูแลในเรื่องของระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมถึงการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพราะสาเหตุนี้จะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 12-15% ของ GDP ไทย

 

  1. เงินเฟ้อสูงขึ้น ล่าสุดเงินเฟ้อในไทยอยู่ที่ 6% แม้ว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวได้ หากดูในรายละเอียดเงินเฟ้อของไทยจะเกิดจากพลังงานและอาหารเป็นหลัก แต่หากเงินเฟ้อเริ่มกระจายไปยังกลุ่มอื่นๆ อย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา อาจทำให้เงินเฟ้อที่คาดหวังของไทยค่อยๆ ขยับขึ้น 

 

  1. ค่าครองชีพภาคครัวเรือน ในส่วนนี้จะกระทบต่อกลุ่มคนจนเป็นหลัก หากราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 10% จะทำให้คนจนเพิ่มขึ้น 1.4% หรืออีกเกือบ 1 ล้านคน ที่ผ่านมาไทยจะเน้นการใช้นโยบายควบคุมราคาเป็นหลัก แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือ เป็นการสร้างภาระทางการคลังและสร้างความซับซ้อนต่อนโยบายการเงิน ทั้งนี้ ไทยใช้การควบคุมราคากับสินค้าต่างๆ คิดเป็นถึง 30% ของตะกร้า CPI 

 

“สิ่งที่รัฐบาลควรทำในช่วงถัดไปคือ การเน้นมาตรการที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อ โดยเน้นไปยังกลุ่มคนจน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย ในแง่ของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้จะอยู่ที่ 6 ล้านคน ก่อนจะเพิ่มเป็น 15 ล้านคนในปีหน้า ส่วนการที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาถึงระดับ 40 ล้านคน อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี” 

 

นอกจากนี้ งานสัมมนาในครั้งนี้ยังได้แนะนำให้ประเทศไทยหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพิ่มขึ้น โดย Jaime Frias นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยลดช่องว่างระหว่างเรื่องการเติบโตและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยเพิ่มผลผลิตอีกราว 1.2% และช่วยเพิ่มการจ้างงานอีก 1.6 แสนตำแหน่งภายในปี 2573 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ควรจะเร่งปรับตัวในด้านนี้คือ อาหารและเกษตร รับเหมาก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ 

 

ด้าน เบญจมาศ โชติทอง มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มองภาพรวมของเศรษฐกิจหมุนเวียนในไทยว่า สำหรับนโยบายและแผนงานนั้นมีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดไปคือมาตรการที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็ว ปัจจุบันเรามีแค่มาตรการส่งเสริม แต่มาตรการบังคับหรือลงโทษยังเป็นสิ่งที่ขาดและล่าช้า 

 

“แม้แต่การแยกขยะในปัจจุบันยังโทษกันไปมาว่าเป็นเพราะคนไม่แยกหรือ กทม. มาเก็บรวม เราไม่มีมาตรการมาสนับสนุนส่วนนี้อย่างชัดเจน” 

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น เริ่มใส่ใจตั้งแต่กระบวนการผลิต ไม่ใช่แค่เรื่องรีไซเคิล แต่ภาคการอุปโภคบริโภคยังขาดอยู่ กล่าวคือการที่คนเลือกซื้อหรือใช้สินค้าในด้านนี้ยังน้อย รวมถึงการคัดแยกขยะยังต้องทำเพิ่มอีกพอสมควร

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising