รายงาน ‘ภาวะประชากรสูงวัยและตลาดแรงงานในประเทศไทย’ ของธนาคารโลก ประเมินว่า สัดส่วนประชากรวัยแรงงานของไทยจะลดลงราว 30% ภายในปี 2060 จากที่ปัจจุบันประชากรวัยแรงงานของไทยคิดเป็นสัดส่วนที่ 71% ของประชากรรวม ก็จะลดเหลือเพียง 56% โดยมีสาเหตุหลักคืออัตราการเกิดที่ต่ำและการเข้าสู่สังคมสู่วัย
โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า อัตราการลดลงของประชากรวัยแรงงานไทยมีความเร็วเป็นอันดับสามของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เป็นรองเพียงเกาหลีใต้ (43%) และญี่ปุ่น (34%) เท่านั้น โดยอัตราการลดลงของประชากรวัยแรงงานไทยจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์
อย่างไรก็ดี ไทยจะเผชิญกับความท้าทายที่มากกว่าในแง่ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงและการใช้งบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงวัย เนื่องจากรายได้ต่อหัวเฉลี่ยของประชากรไทย หรือ GDP per capita อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าชาติต่างๆ ข้างต้นถึงสองเท่า
ฟรานเชสกา ลามานนา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ระบุว่า การเข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งหมายถึงการลดลงของคนในวัยแรงงาน จะมีผลเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งหากไทยไม่มีนโยบายรองรับภาวะที่จะเกิดขึ้น จะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรลดลง 0.86% ภายในปี 2029
แฮรี โมรอซ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก กล่าวว่า นอกจากการลดลงของประชากรวัยแรงงานแล้ว ตลาดแรงงานไทยยังมีความท้าทายอีกสองด้านคือ การมีแรงงานจำนวนมากถึง 33% อยู่ในภาคการเกษตรที่ใช้ทักษะฝีมือต่ำ และการมีแรงงานถึง 54% ทำอาชีพอิสระหรือเป็นแรงงานนอกระบบ
“เรายังประเมินว่าสัดส่วนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปัจจุบัน เป็น 31% ในปี 2060 ซึ่งจะทำให้ไทยมีภาระด้านงบประมาณและสวัสดิการในการดูแลคนกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ” โมรอซระบุ
เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยจะทำให้ไทยมีภาระทางการคลังมากขึ้น และอาจจะเผชิญภาวะขาดดุลงบประมาณในระยะยาว อย่างไรก็ดี ยังมองว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางประชากรนี้นำมาซึ่งโอกาสในการปรับตัวของไทยเช่นกัน
ทั้งนี้ ฮานสล์มองว่า การมีอายุยืนยาวขึ้นของประชากรไทยจะทำให้ไทยสามารถยืดระยะเวลาเกษียณของแรงงานบางส่วนได้ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ยังอยู่ในตลาดแรงงาน สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ และยังมีรายได้ ขณะเดียวกัน อัตราการมีลูกที่ลดลงจะเปิดโอกาสให้ประชากรเพศหญิงสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ไทยจะต้องเร่งยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เท่าทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมการการปรับปรุงระบบนำเข้าแรงงานต่างชาติให้มีประสิทธิภาพกว่าในปัจจุบันด้วยเช่นกัน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล