×

‘เวิลด์แบงก์’ คาดเศรษฐกิจไทยปี 2565 ฟื้นตัว 3.9% จาก 1% ในปีนี้ จับตา 3 ความเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจซึมยาว

14.12.2021
  • LOADING...
เวิลด์แบงก์

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2565 เป็น 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ 3.6% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 1% และปี 2566 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 4.3% อย่างไรก็ตาม เวิลด์แบงก์ยังคงติดตาม 3 ความเสี่ยงหลักที่จะกดดันเศรฐกิจไทยในระยะกลาง คือการกลายพันธ์ุของโควิด, การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว และปัญหาซัพพลายเชนทั่วโลกติดขัด 

 

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเติบโตที่ 1% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการประมาณการที่ธนาคารโลกได้เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคของภาคเอกชนยังคงอ่อนแออันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด และการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะยังคงมีไม่มากนักจนถึงสิ้นปี 2564 แม้ว่าจะเพิ่งมีการเปิดประเทศเมื่อไม่นานมานี้ 

 

ทั้งนี้ภาคการส่งออกสินค้ายังเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโต สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ของโลก และคาดว่าการลงทุนจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง 

 

ขณะที่มาตรการการให้เงินเยียวยา การริเริ่มด้านสาธารณสุข โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและมาตรการสนับสนุน ด้านการคลังในรูปแบบอื่นๆ ได้ช่วยหนุนอุปสงค์ของภาคเอกชน ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการบริโภคในกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง และช่วยลดผลกระทบของวิกฤตความยากจนด้วย 

 

เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ในช่วงปลายปี 2565 โดยมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยในการสนับสนุนการฟื้นตัว 

 

สำหรับปี 2565 เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% และในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% แรงขับเคลื่อนหลักมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคบริการ 

 

โดยประเมินการบริโภคภาคเอกชนว่าจะขยายตัวเกือบ 4% ต่อปีในปี 2565 และ 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในปี 2564 ที่ 1% 

 

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เวิลด์แบงก์คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคนในปี 2565 โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี และเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566 เป็นประมาณ 20 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด ทั้งนี้คาดว่าการท่องเที่ยวจะช่วยส่งผลต่ออัตราการเติบโต ของ GDP ได้ 2% ในปี 2565 และ 4% ในปี 2566  

 

สำหรับหนี้สาธารณะ เวิลด์แบงก์มองว่ายังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และยังอยู่ในกรอบเพดานที่กำหนด โดยคาดการณ์หนี้สาธารณะจะแตะสู่ระดับ 62.2% ในปี 2565 จากปัจจุบันที่ 58% และก่อนหน้าสถานการณ์โควิดที่ 40% ขณะเดียวกัน ประเมินว่าการใช้มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูของภาครัฐในระยะต่อไป ควรทำอย่างเฉพาะเจาะจงถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงมีแนวทางการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ เวิลด์แบงก์มองว่าจะยังสามารถควบคุมได้ ในขณะที่มีช่องว่างผลผลิตอยู่มากในปี 2564 และ 2565 

 

จับตา 3 ความเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทยซึมยาว

อย่างไรก็ตาม เวิลด์แบงก์ยังคงติดตามความเสี่ยงหลัก 3 ประการที่จะกดดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยากลำบาก ประกอบด้วย 1. การกลายพันธุ์ของโควิด และ 2. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยประเมินว่าหากประเทศไทยไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ทันการณ์ ก็จะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยในกรณีเลวร้าย การกลายพันธุ์ของโควิดอาจกดดันให้เศรษฐกิจไทยติดลบ 0.3% ในปี 2565 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ 3 คือสภาวะติดขัดของซัพพลายเชนทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอันเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP 

 

“ข่าวดีคือ เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นไปและกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงปลายปีหน้า แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงใน 3 ประเด็น คือ การกลายพันธุ์ใหม่ รวมถึงนโยบายการท่องเที่ยวในระดับโลก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และปัญหา Global Supply Chain Disruption โดยเวิลด์แบงก์มองกรณี Down Side เช่น มีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรง ทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง จะทำให้ GDP ในปีหน้าติดลบ 0.3% และการกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดช้าไป 1 ปี ซึ่งกรณีการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนรวมอยู่ในปัจจัยเสี่ยงนี้” เกียรติพงศ์ กล่าว

 

แนะเร่งใช้เทคโนโลยียกระดับไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

รายงานของเวิลด์แบงก์ระบุว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มีศักยภาพในการสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศไทยหลังการระบาดของโควิดไปพร้อมกับการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว  

 

โดยเวิลด์แบงก์มองว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเดินทาง ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจต่างๆ ช่วยส่งเสริมการค้าขายและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการค้าดิจิทัลที่เป็นช่องทางสำคัญสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ในประเทศไทย ที่ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมและช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ได้ 

 

ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้แสดงเจตจำนงอย่างแรงกล้าที่จะผลักดันวาระดิจิทัลภายใต้นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลและธุรกิจดิจิทัล ประกอบด้วย

 

  1. การส่งเสริมการแข่งขันและสร้างสภาวะแวดล้อมในการประกอบธุรกิจที่เป็นธรรม นั้นมีความจำเป็นเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของตลาดและเพิ่มความสามารถในการทำงาน ร่วมกันของระบบดิจิทัล
  2. สร้างความพร้อมของทักษะดิจิทัล พร้อมกับทักษะที่จะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล เช่น การจัดการและบริหารองค์กร 
  3. เพิ่มอัตราการเข้าถึงนวัตกรรมของแหล่งเงินทุนจะช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะ SMEs ในการใช้รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัล

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising