×

World Bank เผย แรงงานทักษะต่ำ 1.4 ล้านคนในอาเซียนถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์

08.10.2024
  • LOADING...

World Bank เผย แรงงานทักษะต่ำ 1.4 ล้านคนในอาเซียนถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ แต่ในทางกลับกันเทคโนโลยีกลับสร้างงานให้กับแรงงานมีทักษะกว่า 2 ล้านตำแหน่ง พร้อมระบุว่า ห่วงเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกโตแผ่วหลังโรคโควิด โดยคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.4% ในปี 2024

 

World Bank เปิดรายงานอัปเดตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Economic Update) ภายใต้หัวข้อ ‘งานและเทคโนโลยี’ (Jobs and Technology) โดยระบุว่า ระหว่างปี 2018-2022 หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแพลตฟอร์มดิจิทัล ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในภูมิภาค โดยหุ่นยนต์ได้เข้ามาแทนที่แรงงานที่มีทักษะต่ำประมาณ 1.4 ล้านคน (คิดเป็น 3.3% ของแรงงานทักษะต่ำ) ในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม

 

แต่ในทางกลับกันสำหรับแรงงานที่มีทักษะ การนำหุ่นยนต์มาใช้กลับช่วยสร้างงานให้กับแรงงานมีฝีมือประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง (คิดเป็น 4.3% ของแรงงานมีฝีมือ) เนื่องจากผลิตภาพที่สูงขึ้นและขนาดการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการทักษะเสริม

 

เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกถูก AI ดิสรัปต์น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

 

ในรายงาน World Bank กล่าวอีกว่า งานที่ AI จะเข้ามาแทนที่ได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีสัดส่วนที่ ‘น้อยกว่า’ เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เนื่องจากประเภทของงานในภูมิภาคส่วนใหญ่เป็นงานที่ต้องใช้แรงงานคน

 

อย่างไรก็ตาม World Bank ยังระบุว่า ภูมิภาคนี้สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ในการเพิ่มผลิตภาพได้น้อย เนื่องจากมีงานเพียง 10% เท่านั้นที่สามารถนำ AI เข้ามาสนับสนุน ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมีงานที่สามารถใช้ AI สนับสนุนได้มากถึง 30%

 

อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า “รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกที่มีการพึ่งพาตลาดโลกที่เปิดกว้าง และการผลิตที่ใช้แรงงานเป็นหลักนั้น กำลังเผชิญกับความท้าทายจากความตึงเครียดด้านการค้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ

 

“การตอบสนองที่ดีที่สุดคือการกระชับข้อตกลงทางการค้า และเพิ่มทักษะและความสามารถในการเคลื่อนย้ายของแรงงาน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ”

 

World Bank คาด เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.4% ล้าหลังภูมิภาค

 

ในรายงานดังกล่าว World Bank ได้คงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว 2.4% ในปี 2024 ไม่แตกต่างจากรายงาน Global Economic Prospects เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเร่งตัวขึ้นเป็นขยายตัว 3.0% ในปี 2025

 

อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตดังกล่าวยังล้าหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าจะเติบโตราว 4-6% เช่น จีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นต้น และต่ำกว่าการเติบโตของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

 

เปิดประมาณการ GDP ประเทศต่างๆ ในปี 2024 ของ World Bank

 

  • เวียดนาม 6.1%
  • ฟิลิปปินส์ 6.0%
  • กัมพูชา 5.3%
  • มองโกเลีย 5.3%
  • อินโดนีเซีย 5.0%
  • มาเลเซีย 4.9%
  • จีน 4.8%
  • สปป.ลาว 4.1%
  • ไทย 2.4%
  • เมียนมา 1.0%

 

World Bank ห่วงการเติบโตของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกแผ่วหลังโรคโควิด

 

World Bank คาดว่าอัตราการเติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัว 4.8% ในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากรายงานเมื่อเดือนเมษายนที่ 4.5% แต่คาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงเหลือ 4.4% ในปี 2025

 

“อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับศักยภาพในอดีต อัตราเติบโตของภูมิภาคในปัจจุบันถือว่าไม่น่าประทับใจนัก เนื่องจากอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth) ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคโควิด ยกเว้นในอินโดนีเซีย และเศรษฐกิจหลายประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคโควิด”

 

รายงานฉบับนี้ยังวิเคราะห์ความท้าทาย 3 ประการที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญ

 

ประการที่ 1: เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ทำให้พลวัตการเติบโตของภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไป โดยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของจีนส่งผลดีต่อประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ขนาดของแรงกระตุ้นดังกล่าวกำลังลดลง ดังนั้นประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้จึงจำเป็นต้องเสริมความแข็งแรงให้กับตัวเองผ่านการขับเคลื่อนการเติบโตในประเทศด้วยการปฏิรูปเชิงลึก (Deeper Reforms)

 

ประการที่ 2: รูปแบบการค้าและการลงทุนทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากนโยบายและความไม่แน่นอนที่เกิดจากความตึงเครียดทั่วโลก แม้บางประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม และไทย จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ความขัดแย้งทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ และการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน ก็อาจจำกัดโอกาสดังกล่าวมากขึ้นในอนาคต

 

ดังนั้น World Bank จึงเสนอว่าประเทศต่างๆ ควรเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านการบรรลุข้อตกลงการค้ามากขึ้น ทั้งกับภายในภูมิภาคและกับประเทศขนาดใหญ่ประเทศอื่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับข้อจำกัดทางการค้าที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

 

ประการที่ 3: การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์, AI และแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นสิ่งที่ไม่อาจต้านทานได้ เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของบริษัท (Firm Productivity) และยังอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานใน 3 มิติ ได้แก่ การสร้างงานใหม่, การเพิ่มผลผลิตแรงงาน และการแทนที่คนงาน

 

“ผลผลิตที่สูงขึ้นจากระบบอัตโนมัติจะช่วยสร้างงานให้กับแรงงานที่มีทักษะ อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ก็อาจเข้ามาแทนที่แรงงานที่มีทักษะต่ำ” รายงานระบุ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising