ธนาคารโลกประเมินว่า ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นจากสงครามในยูเครนอาจทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น โดยประมาณการว่า ราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 1.4% และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 0.2%
ขณะเดียวกันยังประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่า จะขยายตัวที่ 2.9% ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนธันวาคม 2564 ที่ 3.9% โดยมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะแข็งแกร่งขึ้นในระยะปานกลางด้วยแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคนในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน หรือประมาณ 60% ของระดับก่อนการระบาดภายในปี 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกระบุว่าเมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ลดลง และการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.3% ในปี 2566 และขยายตัวได้ 3.9% ในปี 2567
อย่างไรก็ดี ยังมองว่าผลกระทบภายนอกด้านลบจากสงครามในยูเครนและมาตรการปิดเมืองของจีน รวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ก็ยังถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
“การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยให้เข้าสู่ภาวะปกติสามารถเริ่มได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อที่ความเร็วในการปรับขึ้นจะได้สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” เกียรติพงศ์กล่าว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 5.2% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 14 ปี การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 4.1% ชะลอตัวลงจากผลของปี 2564 ซึ่งอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.8% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์โลกที่ลดลงและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยืดเยื้อ หนี้สาธารณะคาดว่าจะพุ่งสู่จุดสูงสุดที่ 62.5% ต่อ GDP ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งสูงกว่าระดับปัจจุบันเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงด้านลบแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างกันชนทางการคลัง การติดตามตรวจสอบจุดอ่อนในภาคการเงิน และการสำรวจแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวคิดเกี่ยวกับแนวทางการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
การเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถเพิ่มผลผลิตและการจ้างงาน โดยจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 1.2% และช่วยให้เกิดการจ้างงานประมาณ 160,000 ตำแหน่งภายในปี 2573 นอกจากนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจะลดลงประมาณ 5% ภายในปี 2573 และการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจะลดลง ซึ่งจะช่วยป้องกันประเทศไทยจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงและมีความผันผวน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP