ธนาคารโลกปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้ลงจาก 2.2% เหลือ 1% ขณะที่ GDP ในปีหน้าคาดว่าจะเติบโตที่ 3.6% โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลาถึง 3 ปีในการฟื้นตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักต้องใช้เวลาฟื้นฟูที่ยาวนาน
เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก ระบุว่า การปรับประมาณการในครั้งนี้เป็นผลมาจากความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิดระลอกล่าสุดในประเทศ ประกอบกับการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า โดยธนาคารโลกประเมินว่าการฉีดวัคซีนของไทยจะครอบคลุมประชากร 70% ได้ราวกลางปี 2565 ซึ่งจะส่งผลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ทั้งนี้ ธนาคารโลกประเมินว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยเพียง 1.7 ล้านคน ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวของไทยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติราว 40 ล้านคนต่อปี
“จากปัจจัยดังกล่าว เราจึงคาดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปเติบโตได้ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด ซึ่งล่าช้ากว่าที่ธนาคารโลกเคยประเมินก่อนหน้านี้ว่าจะใช้เวลาราว 2 ปี” เกียรติพงศ์กล่าว
เกียรติพงศ์กล่าวอีกว่า แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่มีอุปสงค์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี มองว่าภาคการส่งออกยังมีความเสี่ยงเรื่องปัญหาคอขวดของระบบห่วงโซ่การผลิตและระบบโลจิสติกส์
สำหรับการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ของ GDP เพิ่มเป็น 70% ของ GDP ล่าสุดของไทย ธนาคารโลกมองว่าจะช่วยให้ภาครัฐมีพื้นที่ด้านการคลังเพียงพอที่จะประคับประคองระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นและเพิ่มการลงทุนในระยะกลางได้ โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะน่าจะขยับจาก 43% ในปีนี้ ไปอยู่ที่ 62% ในปีหน้า
“ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังมีความเสี่ยงต่ำเนื่องจากเป็นเงินที่กู้ยืมในประเทศเป็นหลัก ส่วนการกู้ยืมเงินในต่างประเทศยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ แต่การใช้เงินกู้ต้องมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรงจุด การเยียวยาควรจะเน้นแบบเจาะจงมากขึ้น เช่น การเยียวยากลุ่ม SMEs รวมทั้งมาตรการทางการเงินการคลังที่ประคับประคองกลุ่มคนยากจนและแรงงาน” เกียรติพงศ์กล่าว
ในวันเดียวกัน ธนาคารโลกยังได้เผยแพร่รายงานอัปเดตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ประจำเดือนตุลาคม 2564 โดยประเมินว่า เศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในปีนี้จะเติบโตเฉลี่ยได้เพียง 2.5% ลดลงเกือบ 2% จากที่คาดการณ์ในเดือนเมษายน โดยมีเพียงจีนที่คาดว่าเศรษฐกิจจะยังเติบโตได้ 8.6%
“การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับชะตาที่พลิกผัน แม้ว่าในปีที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในขณะที่ภูมิภาคอื่นของโลกประสบปัญหา แต่ในปี พ.ศ. 2564 การแพร่ระบาดได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ในปีนี้โอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตต้องลดลงไป อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ก็เคยผ่านพ้นวิกฤตและกลับมาแข็งแกร่งได้หลายต่อหลายครั้งแล้ว และก็จะสามารถทำได้อีกหากมีนโยบายที่ถูกต้องและเหมาะสม” มานูเอลา เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว
รายงานของธนาคารโลกระบุด้วยว่า ความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดหลายระลอกอย่างต่อเนื่องของโควิดจะส่งผลเสียต่อการเติบโตและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในระยะยาว การที่ธุรกิจต้องเลิกกิจการไปทั้งที่ควรจะอยู่รอดได้ในสถานการณ์ปกติกำลังนำไปสู่การสูญเสียสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้อันมีค่า ขณะที่ธุรกิจที่ยังอยู่รอดก็ชะลอการลงทุนที่จะก่อให้เกิดผลผลิต กิจการขนาดเล็กได้รับผลกระทบหนักสุด แม้ว่าจะเดือดร้อนกันเกือบถ้วนหน้า แต่กิจการใหญ่ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมียอดขายตกลงน้อยกว่า และมีแนวโน้มมากกว่าที่จะรับเทคโนโลยีขั้นสูงและเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาล
ขณะที่ครัวเรือนต่างๆ ล้วนประสบความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่ยากจนมากกว่า มีแนวโน้มสูงกว่าที่จะสูญเสียรายได้ เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารมากกว่า มีลูกที่ไม่ได้เข้าเรียน และต้องเทขายทรัพย์สินที่ไม่ค่อยจะมีทิ้งไป การเพิ่มขึ้นของภาวะแคระแกร็นในเด็ก การเสื่อมถอยของทุนมนุษย์ และการสูญเสียสินทรัพย์ที่ก่อผลผลิตอันเป็นผลตามมา จะส่งผลเสียต่อการหารายได้ในอนาคตของภาคครัวเรือนเหล่านี้ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นระหว่างกิจการต่างๆ ก็จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานได้
“การเร่งฉีดวัคซีนและตรวจหาเชื้อเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดจะสามารถฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ที่ยังล้มลุกคลุกคลานให้กลับมาได้เร็วที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และเพิ่มอัตราการเติบโตเป็นสองเท่าในปีหน้า แต่ในระยะยาว มีแต่การปฏิรูปที่ลงลึกอย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะสามารถป้องกันการเติบโตที่ชะลอตัวและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งการเกิดขึ้นคู่กันของการเติบโตที่ชะลอตัวและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นนั้น ภูมิภาคนี้ไม่เคยประสบมาก่อนเลยในศตวรรษนี้” อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว
รายงานของธนาคารโลกประมาณการว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาครวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศได้มากกว่า 60% ภายในครึ่งแรกของปี 2565 ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถขจัดการแพร่ระบาดให้หมดไปโดยสิ้นเชิงก็ตาม แต่ก็จะลดการเสียชีวิตลงไปได้อย่างมาก ทำให้สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ยังจำเป็นต้องพยายามดำเนินการในสี่ด้านอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อ ประกอบด้วย
- การจัดการกับความลังเลในการรับวัคซีนและปัญหาการกระจายวัคซีน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการฉีดวัคซีน
- เพิ่มการตรวจ สืบย้อน และกักตัว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
- เพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนในภูมิภาค เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า
- สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุข เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ
ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีความช่วยเหลือระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนความพยายามภายในประเทศในทุกด้านที่กล่าวมา โดยเฉพาะในประเทศที่มีศักยภาพจำกัด