×

World Bank แนะไทยขึ้น VAT ‘ปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า’ เตรียมรับการใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการเข้าสังคมสูงวัยและความท้าทายต่างๆ

29.05.2023
  • LOADING...
World Bank

World Bank แนะไทย ‘ปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า’ ผ่านการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ยกเลิกการยกเว้นต่างๆ, การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเตรียมรับการใช้จ่ายที่สูงขึ้นท่ามกลางการเข้าสู่สังคมสูงวัยและความท้าทายต่างๆ

 

ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานการ ‘ประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย: การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน’ โดยระบุถึงแนวทางปฏิรูปที่จำเป็นเพื่อรับมือกับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในด้านบำนาญ สวัสดิการผู้สูงอายุ และสวัสดิการการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

รายงานยังระบุว่า หลังจากที่มีการใช้นโยบายการคลังขนานใหญ่ในการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดนั้น ขณะนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังต้องควบคุมระดับหนี้สาธารณะไม่ให้สูงเกินไปด้วย 

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) หนี้สาธารณะของไทย ณ เดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 61.23% ต่อ GDP จากระดับประมาณ 40% ต่อ GDP เมื่อช่วงก่อนเกิดการระบาด

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหนี้สาธารณะของไทยจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ World Bank ยังมองว่าความเสี่ยงทางด้านการคลังของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่ ‘สามารถบริหารจัดการได้’ ดังนั้นในรายงานจึงมีข้อเสนอ 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นและยาว

 

โดย ‘ระยะสั้น’ รัฐบาลสามารถเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านที่รัฐบาลมุ่งเน้น ขณะที่บริหารจัดการการใช้จ่ายในด้านอื่นๆ ให้เหมาะสม

 

ส่วน ‘ระยะยาว’ ต้องอาศัยการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยรายงานฉบับนี้นำเสนอการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า ซึ่งเมื่อนำแต่ละวิธีมารวมกันจะสามารถเพิ่มรายได้ได้ราว 3.5% ของ GDP ประกอบด้วย

 

  1. การขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยกเลิกการยกเว้นต่างๆ
  2. การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และลดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีและการหักค่าใช้จ่าย
  3. การขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

หากมีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของทศวรรษนี้ การปฏิรูปเหล่านี้จะส่งเสริมความให้เกิดความเท่าเทียมและเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพื่อรองรับการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

 

โดยผลกระทบของการปฏิรูปด้านภาษีต่อผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนสามารถได้รับการทดแทนโดยนโยบายและมาตรการช่วยเหลือทางสังคมต่างๆ ซึ่งยังส่งผลให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลดีขึ้น 

 

World Bank แนะไทยเพิ่มการใช้จ่ายด้านสังคม การศึกษา และสภาพภูมิอากาศ

รายงานฉบับนี้ยังแนะไทยให้ความสำคัญกับการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐในด้านความช่วยเหลือทางสังคม การศึกษา และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึงนโยบายช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ ยังเป็นการให้ความช่วยเหลือที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล 

 

ขณะที่การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาต่อจำนวนนักเรียนในระดับอนุบาลและระดับมัธยมศึกษายังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลเช่นกัน ดังนั้นการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐในด้านเหล่านี้สามารถส่งเสริมความเท่าเทียมและการพัฒนาทุนมนุษย์ 

 

นอกจากนี้ การลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการลดผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัย วาตภัย และการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น 

 

รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะว่า ในด้านการศึกษา การจัดสรรทรัพยากรในระดับประถมศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะส่งเสริมผลลัพธ์การเรียนรู้ให้ดีขึ้นได้ ในด้านสาธารณสุข การคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพ และการให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันรักษาสุขภาพ จะช่วยลดภาระและความจำเป็นของการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงในอนาคตได้ ทั้งนี้ การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising