เจ็บป่วย เยียวยา รักษา แล้วก็กลับมาทำงานใหม่ นี่คือท่ามาตรฐานของนโยบายสุขภาพประเทศไทย และถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่เราต้องปฏิรูป
กลุ่มคนทำงาน พนักงานออฟฟิศ คือคนที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ พยายามทำงานหนัก เพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัลชีวิต ทว่าสิ่งที่ต้องแลกมาก็คือ ‘สุขภาพ’ ราวกับว่ายิ่งเราทำงานหนักมากเท่าไร ก็ยิ่งเร่งให้ระเบิดเวลาของร่างกายเดินเร็วขึ้นเท่านั้น
เมื่อทำงานหนัก ก็เริ่มเจ็บป่วย
เมื่อเจ็บป่วย ก็ต้องรักษา
เมื่อรักษา ก็ต้องเยียวยา
เกิดเป็นบรรทัดฐานของ ‘นโยบายสุขภาพ’ ที่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของคนทำงาน แต่ต้องรอให้ร่างกายทรมานถึงค่อยกลับมาดูแล
ดังนั้นก่อนที่ระเบิดเวลาจะเดินเร็วจนเรากลับมาแก้ไขไม่ได้ เวทีเสวนาพิเศษ ‘Reimagine Workplace Health Policy มองมุมใหม่…ยกเครื่องนโยบายสุขภาพคนทำงาน’ จึงเกิดขึ้นเพื่อปฏิรูปนโยบายสุขภาพคนทำงานของประเทศไทย เพื่อให้หันมาส่งเสริมสุขภาพคนทำงานอย่างแท้จริง
ตรวจสุขภาพนโยบายประเทศไทย เรากำลังเจ็บป่วยอยู่หรือไม่
ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์ วงศ์รัฐนันท์ ผู้จัดการสังเคราะห์ความรู้และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย Workplace Policy มสช. กล่าวถึงข้อมูลประชากรในปัจจุบัน พบว่า ประชากรที่มีอายุ 15-59 ปี ถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของประชากรทั้งหมด สิ่งสำคัญคือ เมื่อทำการพิจารณาถึงอัตราการป่วยโรคความดันโลหิตสูง หนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases, NCDs) ในประชากรอายุ 40-49 ปี และ 50-59 ปี พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงปัญหาสำคัญที่นโยบายสุขภาพของประเทศไทยตอนนี้ ไม่สามารถลดอัตราการป่วยของคนทำงานได้
ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับสิ่งที่ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ ได้กล่าวถึงข้อมูลการตรวจสุขภาพประชากรใน พ.ศ. 2562 พบว่า คนอายุ 15-29 ปี จำนวน 35% มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ กล่าวคือมี ‘พฤติกรรมเนือยนิ่ง’ รวมถึงคนอายุ 15 ปีขึ้นไปนั้นอยู่ในภาวะอ้วนถึง 42% ของกลุ่มประชากรที่สำรวจ
ดร.วรวรรณกล่าวเพิ่มเติมถึงข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับโรค NCDs ได้แก่ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุหลักของความพิการและการเสียชีวิต และโรคเหล่านี้มีบ่อเกิดจากพฤติกรรมของคนที่ล้วนสามารถควบคุมได้ โดยพฤติกรรม 3 อันดับแรกที่กระตุ้นให้เกิดโรค NCDs ได้แก่ การสูบบุหรี่ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และดัชนีมวลกายสูง ตามลำดับ
นอกจากนี้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่าประเทศไทยนั้นมีปัญหาที่เกิดจากโรค NCDs รุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก เนื่องจากคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรค NCDs สูงถึง 75% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 60% ซึ่งมองว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่สามารถ ‘ป้องกันได้’ โดยปัจจุบันมีหน่วยงานจำนวนมากที่พยายามส่งเสริมการรักษาสุขภาพให้กับคนทำงาน แต่ถึงแม้จะมีโครงการมากมายก็ตาม กลุ่มคนทำงานกลับไม่ได้มีสุขภาพดีอย่างที่คิด และประชากรส่วนใหญ่ก็เข้าถึงบริการเหล่านี้น้อย
“โรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ก็มีโครงการที่ส่งเสริมสุขภาพจำนวนมาก อย่าง สสส. ก็มีโครงการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แต่ทำไมคนถึงเข้าถึงบริการเหล่านี้น้อย” นพ.สุขุมตั้งคำถาม
สำหรับภาคเอกชน ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการปัจจุบันส่วนใหญ่ละเลยความสำคัญของสุขภาพพนักงาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมองไม่เห็นนัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลิตภาพของบริษัท ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้สามารถคำนวณได้ว่าหากพนักงานสุขภาพดี จะยิ่งสร้างผลิตภาพให้แก่บริษัทมากขนาดไหน ผสมรวมกับการที่ผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจอื่นๆ ในการส่งเสริมสุขภาพพนักงาน ก็ยิ่งทำให้ปัญหาทับถมกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาอัตราการเกิดใหม่ต่ำอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประชากรวัยทำงานล้นเมือง ปัญหาการเข้าไม่ถึงการส่งเสริมสุขภาพ และการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ประกอบกับนโยบายสุขภาพแรงงานไทยในตอนนี้ ไม่ได้ช่วยทำให้คนทำงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น หรือมีความตระหนักต่อการรักษาสุขภาพอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไข
ไทยวันนี้มีปัญหา ควรใช้สูตรยาแบบไหนดี
ดร.วรวรรณได้กล่าวถึงโมเดล 2 แบบที่ไทยต้องเข้าใจและเรียนรู้ถึงความแตกต่าง
-
‘สวีเดนโมเดล’ รางวัลสร้างแรงจูงใจ แต่จบไปแล้วไม่ต่อเนื่อง
ประเทศสวีเดนได้ทำการทดลองเปลี่ยนบันไดของสถานีรถไฟใต้ดินให้มีลักษณะเหมือนเปียโน คือเมื่อเหยียบแล้วจะมีเสียงออกมา สร้างความสนุกสนานให้กับคนที่ตัดสินใจเดินขึ้นบันได ซึ่งทำให้คนขึ้นรถไฟใต้ดินจำนวนถึง 66% ตัดสินใจขึ้นบันไดแทนการใช้บันไดเลื่อนแบบเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ดร.วรวรรณมองว่าถึงแม้ความสนุกเป็นหัวใจสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกันคือ ‘ความต่อเนื่อง’
-
‘ญี่ปุ่นโมเดล’ ตรวจเป็นประจำ ติดตามต่อเนื่อง
ญี่ปุ่นมีโมเดลที่แตกต่างจากสวีเดน คือใช้การตรวจสุขภาพประจำปีทั้งนักเรียน นักศึกษา รวมถึงกลุ่มคนทำงานโดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งนั่นทำให้กลุ่มคนที่ตรวจสุขภาพเริ่มตระหนักและรู้สถานะของตนเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสารตั้งต้นของการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งสำหรับประเทศไทยในตอนนี้การตรวจสุขภาพประจำปีก็ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่มีอยู่แล้ว แต่กลับไม่ได้มีการสื่อสารที่ทั่วถึง และทำให้ผู้คนขาดความตระหนักในการตรวจสุขภาพตนเอง เมื่อไม่รู้ว่าเจ็บป่วย ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ต้องใช้ยาเสียแล้ว
นอกจากนี้ ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์ วงศ์รัฐนันท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และเป็นผู้จัดการสังเคราะห์ความรู้และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย Workplace Policy ได้แนะนำถึงโมเดลที่ประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้ คือการบูรณาการข้อกำหนดในสถานประกอบการ เช่น การเพิ่มข้อกำหนดที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของโรค NCDs ร่วมไปกับมาตรการความปลอดภัยที่สถานประกอบการมีอยู่แล้ว ซึ่งถ้าสถานประกอบการไหนมีการส่งเสริมสุขภาพที่ดี ก็จะยิ่งทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ของพนักงานดีขึ้น รวมถึงช่วยลดอัตราการลาออก (Turnover Rate) เช่นกัน
“ถ้าเราเป็นสถานประกอบการที่ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพ ก็อาจทำให้อัตราการลาออกน้อยลง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็อาจน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ค่ารักษาที่เป็นจำนวนเงิน แต่หมายถึงต้นทุนของการลาป่วยของพนักงานเช่นกัน” ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์กล่าว
ยกเครื่องนโยบายสุขภาพไทย เริ่มแก้ไขอย่างไรดี
นพ.สุขุมมองปัญหาโรค NCDs ในวันนี้ออกเป็น 2 เรื่อง ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรค NCDs และการรักษาพยาบาล ซึ่งในปัจจุบันพบว่าคนที่เป็นโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูงเข้าถึงบริการการรักษาที่ดีน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
เพื่อแก้ไขให้ได้ทันท่วงที จึงควรสร้างสภาพแวดล้อมทั้งหมด ให้เหมาะสมต่อการส่งเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับปัจจุบัน รวมถึงสร้างแรงจูงใจที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการและคนทำงานที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉาบฉวย แต่ช่วยกระตุ้นได้ตลอดเวลา โดยสามารถสรุปได้ 3 กลุ่มที่ควรเริ่มแก้ไขในวันนี้
-
ระดับบุคคล
นพ.สุขุมเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา คือการมีแอปพลิเคชันเสมือนเป็นพี่เลี้ยงส่วนตัวที่สามารถตรวจและติดตามสุขภาพของผู้ใช้ แนะนำโภชนาการและการออกกำลังกายที่เหมาะสม และมีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ
-
ผู้ประกอบการ
ปณิธานกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือนายจ้างต้องเห็นด้วยกับการส่งเสริมพนักงานของเขา เช่น การให้แรงจูงใจด้วยการแก้ไขนโยบาย และมีการลดภาษีแก่สถานประกอบการที่ส่งเสริมสุขภาพพนักงาน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการและพนักงานเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มองว่าการออกกำลังกายเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ต่อการสร้างผลิตภาพ แต่เป็นหนึ่งในหนทางที่ช่วยให้องค์กรได้ประโยชน์เช่นกัน
นอกจากนี้อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องทำ คือการสำรวจสาเหตุที่ทำให้พนักงานสุขภาพไม่ดี บางสถานประกอบการมีร้านอาหารที่เป็นที่นิยมของเหล่าพนักงาน แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นเบื้องหลังของการทำลายสุขภาพ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ของพ่อครัวแม่ครัวในร้านอาหาร ให้สามารถทำอาหารที่อร่อยแต่ไม่ทำลายสุขภาพ สิ่งเหล่านี้จะมีผลทันทีและสร้างประโยชน์ได้ในระยะยาว
-
ภาครัฐ
ปณิธานกล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ช่วงที่โควิดมีการระบาด ภาครัฐและเอกชนมีการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน ดังนั้นหัวใจสำคัญในตอนนี้คือต้องสร้างความต่อเนื่องจากที่มีแรงกระตุ้นเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว
“ตอนนี้ต้องรีบตีเหล็กตอนร้อน ต้องรีบต่อยอดเรื่องการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) รีบต่อยอดแรงจูงใจให้กับสถานประกอบการ สิ่งเหล่านี้ทำต่อไม่ยาก ตอนนี้ทุกคนมีแอปพลิเคชันเชื่อมต่อสุขภาพอย่าง ‘หมอพร้อม’ กันหมดทุกคนแล้ว” ปณิธานกล่าว
‘Don’t Waste a Good Crisis.’ ส่ิงที่เริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้เพื่อต่อยอดไม่ให้สูญเปล่า
เราเห็นแล้วว่าในการทำให้สุขภาพของแรงงานไทยนั้นดีขึ้นได้ ไม่สามารถทำได้ด้วยใครเพียงคนหนึ่ง แต่ต้องทำทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และในระดับบุคคลไปพร้อมๆ กัน
เพื่อให้การขับเคลื่อนสามารถเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ ช่วงท้ายของวงเสวนาพิธีกรได้ถามถึงสิ่งสำคัญที่สามารถทำได้กับ 4 วิทยากร เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
-
จับมือข้ามกระทรวง ต่อยอดคอนเน็กชันสถานประกอบการ
ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์ กล่าวว่าในช่วงวิกฤตโควิด มีสถานประกอบการถึง 55.5% จากทั้งหมด ได้ขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงาน จากช่องทางดังกล่าวจึงควรต่อยอดโดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเข้าถึงสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการ
-
แก้ไขนโยบายสวัสดิการพื้นฐาน
สถานประกอบการในปัจจุบันถูกกำหนดสวัสดิการพื้นฐานไว้เพียงปัจจัยเบื้องต้น เช่น ต้องมีบริการน้ำดื่มหรือระบบสุขาภิบาล ซึ่งสามารถยกระดับได้ด้วยการแก้ไขกฎและเพิ่มปัจจัยสำคัญอย่างสถานออกกำลังกายที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทุนจำนวนมากเพื่อสร้างเป็นฟิตเนส เพียงแต่เป็นสถานออกกำลังกายเบื้องต้นที่สามารถสร้างได้โดยง่าย
-
ประยุกต์ใช้นโยบายจากวิกฤตโควิด
นพ.สุขุมกล่าวถึงนโยบายที่ใช้ช่วงวิกฤตโควิด ที่มีการช่วยลดหย่อนภาษีให้แก่สถานประกอบการที่มีการตรวจ ATK ด้วยตนเอง
-
สร้างระบบพี่เลี้ยงในหมู่สถานประกอบการ
ปณิธานกล่าวถึงการสร้างระบบพี่เลี้ยง คือการให้สถานประกอบการจับมือกับโรงพยาบาล เพื่อให้มีการติดตามสุขภาพหรือแก้ไขปัญหาสุขภาพในสถานประกอบการอย่างจริงจัง รวมถึงการกำหนดเป้าหมายให้กับบุคคลที่ดูแลสุขภาพพนักงาน จากเดิมที่มีภารกิจคือการรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่ปรับให้เป็นการตั้งเป้ายกระดับสุขภาพพนักงาน ซึ่งจะสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดขึ้นในสาขาอาชีพ รวมถึงยกระดับสุขภาพพนักงานไปพร้อมกัน
-
ติดตามสุขภาพของทุกคน
ดร.วรวรรณกล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยมีสวัสดิการตรวจสุขภาพประจำปีก็จริง แต่บุคคลในแต่ละระดับยังไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวเท่าเทียมกัน สิ่งเหล่านี้ควรถูกแก้ไขให้การตรวจสุขภาพเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ รวมถึงสร้างแรงจูงใจ เช่น การใช้กิจกรรมการตรวจสุขภาพมาเป็นเครดิตภาษีเงินปันผล (Tax Credit) รวมไปถึงการติดตามสุขภาพประชากรที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิมๆ แบบที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้คืการสรุปประเด็นสำคัญจากเวทีเสวนาพิเศษ ‘Reimagine Workplace Health Policy มองมุมใหม่…ยกเครื่องนโยบายสุขภาพคนทำงาน’ อย่างไรก็ตามถึงแม้เราจะมองเห็นปัญหาที่เป็นอยู่ เป้าหมายที่ต้องไป รวมถึงวิธีการที่ต้องใช้แล้วก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเราสามารถ ‘เริ่มได้ตั้งแต่วันนี้’
ไม่สำคัญว่าคุณเป็นคนของภาครัฐ เป็นผู้ประกอบการ หรือเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่งในองค์กร ทั้งหมดสามารถเริ่มต้นได้ทันที และสิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันสำเร็จถ้าใครคนใดคนหนึ่งไม่เริ่มขยับตัว เพราะเป้าหมายจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเริ่มตัดสินใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง