วันนี้ (16 กรกฎาคม) วรนัยน์ วาณิชกะ หัวหน้าพรรครวมไทยยูไนเต็ด โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวผ่านเพจ Voranai Vanijaka-วรนัยน์ วาณิชกะ ระบุว่า “ในขณะที่เหล่าพรรคการเมืองเริ่มทำกิจกรรมหาเสียง รวมถึงพรรครวมไทยยูไนเต็ด ขออนุญาตเสนอข้อคิดอันหนึ่ง เวลาเรากาบัตรเลือกตั้ง เราจะเลือกระหว่างสองแนวทางคือ เจ้าขุนมูลนายที่เย่อหยิ่งเชิดใส่ vs. ผู้รับใช้ประชาชนที่ทําตนเหมือนคน
“การเมืองประเทศสะท้อนวัฒนธรรมสังคม ภาวะความเป็นผู้นำสะท้อนพฤติกรรมส่วนบุคคล นโยบายเป็นสิ่งสำคัญ แต่วัฒนธรรมจะชี้วัดว่า 4 ปีหลังเลือกตั้ง รัฐบาลจะปฏิบัติต่อประชาชนเปรียบเสมือนบ่าวไพร่บริวารหรือเฉกเช่นพลเมือง
“เจ้าขุนมูลนายวางอำนาจบาตรใหญ่ ห้อมล้อมตนด้วยทัพบริวาร สร้างความเหลื่อมลํ้าให้ชัด จะได้มองตนว่าเปี่ยมไปด้วยอำนาจบารมี ล้นไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ จึงต้องยอมสยบด้วยความหวาดกลัว
“ผู้รับใช้ประชาชน ซ้อนมอเตอร์ไซค์ โดดลงเรือ เดินบนถนน เป็นกันเองเหมือนมนุษย์ทั่วไป
“เจ้าขุนมูลนาย ชอบโชว์รูปตนเองอ่านและเซ็นเอกสาร และเต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจในมือ เพราะถ้าไม่เซ็นก็ไม่ได้รับอนุมัติ
“ผู้รับใช้ประชาชน เน้นสัมผัสปัญหาด้วยตัวเอง มีความสัมพันธ์กับผู้คน ไม่ใช่กับกระดาษที่ข้าราชการพิมพ์มาให้ ซึ่งอะไรจริงเท็จก็ไม่รู้
“เจ้าขุนมูลนาย ทํางานตามเนื้อผ้าเป็นรูทีน ใครถามก็มีคําตอบเดียว “ก็ผมสั่งไปแล้ว” แต่สั่งรู้เรื่องไหม? ให้ยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติไหม? ตามงานตรวจงานไหม? หรือแค่สั่งแล้วเฉย? ถ้าสำเร็จก็เคลมเครดิต ถ้าล้มเหลวก็โทษบริวาร ถ้าใครถามก็ตะคอกใส่ว่า “ไปหาอ่านเอาเองสิ”
“ผู้รับใช้ประชาชน ตระหนักดีว่างานรูทีนเป็นหน้าที่ของข้าราชการ ผู้นํามีหน้าที่ผลักดันให้ผลงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด จึงเน้นการให้ยุทธศาสตร์ การตามและตรวจงาน ใช้ภาวะของความเป็นผู้นําประสานระหว่างหน่วยงาน
“เจ้าขุนมูลนาย มักบ่นว่าเหนื่อย ออดอ้อนขอความรักและความเข้าใจ เพราะมองว่าตนเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และให้ลิ่วล้อเกณฑ์บริวารมาตบมือและร้องเชียร์ว่า ‘รัก’ ผลกระทบคือคนก็เบื่อเหนื่อยท้อไปด้วยทั้งประเทศ
“ผู้รับใช้ประชาชน ตระหนักดีว่าหากตนเป็นกำลังใจ ประชาชนก็จะได้กำลังใจ หากตนสร้างความหวัง ประชาชนก็จะมีความหวัง หากตนตื่นเต้น ประชาชนก็จะกระตือรือร้น หากประชาชนเชื่อมั่นในภาวะความเป็นผู้นําของตน ก็ไม่ต้องให้ลิ่วล้อสั่งว่าต้องรัก ประชาชนเขาวิ่งมาขอเซลฟีด้วยตัวเอง
“เรามีสองตัวอย่างในการสร้างวัฒนธรรมการเมือง The Prayut Model (ระบอบประยุทธ์) หรือ The Chadchart Model (ระบอบชัชชาติ รับใช้ประชาชน) ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเขตหรือบัญชีรายชื่อ เราควรเลือกคนและพรรคที่พร้อมสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้การเมืองไทย”
อ้างอิง: