×

‘หว่องม่า’ เธอคือแม่หรือฆาตกร ความจริงอันโหดร้ายของคนจีนอพยพย่านคลองเตย

09.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • ความแร้นแค้นและอดอยากที่เมืองจีน ทำให้หว่องม่าและผู้หญิงจีนบางคนจำใจต้องฆ่าลูกสาวของตัวเองตั้งแต่ยังเป็นทารก
  • หว่องม่ามีอายุไม่ยาวมาก 50 ต้นๆ ก็ป่วยหนัก ก่อนจากไปด้วยโรคหัวใจรั่ว ไตวาย และอื่นๆ อีกสารพัด
  • แม่เชื่อว่าหว่องม่าอายุสั้นเพราะฆ่าลูกตัวเอง 2 คน …มันเป็นบาปกรรม ส่วนฉันเชื่อว่ามันคือระบบการแพทย์ที่ยังไม่สมบูรณ์ในยุคสมัยนั้น

ในความทรงจำของใครหลายๆ คนที่มีต่อแม่ของตัวเองคงเต็มไปด้วยความอบอุ่น อ่อนหวาน เป็นอ้อมกอด เป็นที่พักทางใจยามอ่อนล้า

 

หลายปีที่ผ่านมาเวลาแม่ของฉันเอ่ยถึงแม่ของตัวเอง มักจะเป็นในรูปแบบที่นุ่มนวล  สนิทสนม และแน่นอน…แอบซุบซิบถึงกิจกรรมโปรดของ ‘หว่องม่า’ อยู่บ้างเหมือนกัน จนกระทั่ง​วันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ฉันเริ่มเขียนต้นฉบับให้ THE STANDARD ความจริงจังในการหาข้อมูลจึงเริ่มต้นขึ้น

 

ข้อเท็จจริงของหว่องม่ามาจากคนที่สนิทสนมยิ่งกว่าแม่ของฉันก็คือพี่สาวแม่ ‘ตั่วอี๊’ หรือป้าของฉันนี่เอง

 

ฉันถามว่าความแร้นแค้นอดอยากที่เมืองจีนทำให้หว่องม่าจำใจฆ่าลูกสาว 2 คนที่เกิดมาก่อนแม่ของฉัน ในขณะที่แม่ของฉันกลับรอดชีวิตมาได้ แสดงว่าพอมาเมืองไทยก็เริ่มกินดีอยู่ดีแล้วหรือ?

 

แม้ตั่วอี๊จะตอบแบบติดตลก แต่คำตอบที่ได้รับก็บาดลึกถึงขั้วหัวใจ

 

‘แม่ก็เคยคิดจะฆ่าเธอ (แม่ของฉัน) ด้วย’

 

ตั่วอี๊หันมามองหน้าแม่ของฉันหลังบอกความจริงที่ยากจะยอมรับ แต่ความเข้มแข็งที่สืบทอดผ่านสายโลหิตจากหว่องม่ามาถึงตัวฉันทำให้รู้ว่าแม่ทนรับความจริงนี้ได้…  

 

“ตอนมาเมืองไทยแรกๆ ก็ยังลำบากอยู่ หว่องม่าคลอดแม่ของฉันที่บ้าน แล้วก็ให้หว่องกงอุ้ม เสร็จแล้วหว่องม่าเอากรรไกรมาตัดรกที่เชื่อมแม่ของฉันกับตัวหว่องม่าเอง โดยตั่วอี๊เป็นคนถือกรรไกร พอตัดรกเสร็จ หว่องกงก็อุ้มลูกวิ่งหนีออกไปจากบ้าน แล้วเอาไปฝากญาติที่อยู่อีกซอยไว้สองอาทิตย์โดยให้กินน้ำข้าวต้มไปก่อน พอหว่องม่าใจเย็นลงก็บอกหว่องกงให้พาทารกน้อยกลับมากินนมแม่…”

 

ฉันอ้าปากค้างหลังฟังคำบอกเล่าจากปากตั่วอี๊ผู้อยู่ในเหตุการณ์ แล้วเหลือบมองหน้าแม่ เพราะแม่ของฉันคิดว่าตัวเองเป็นที่รักของหว่องม่ามาตลอด

 

 

ก่อนหน้าแม่ฉันจะเกิด หว่องกงได้ตัดสินใจขายที่ทั้งหมดแล้วพาหว่องม่าและลูกอีก 5 คนอพยพหนีภัยการเมืองและความแร้นแค้นมาอยู่เมืองไทย โดยเข้ามาทางด่านท่าเรือคลองเตย เพื่อมาพบกับพ่อแม่และน้องชายที่เดินทางมาก่อนหน้านี้

 

หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 1950 พรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดสินใจใช้นโยบายที่หาเสียงกับประชาชนมาโดยตลอด หนึ่งในนั้นคือ ‘นโยบายปฏิรูปที่ดิน’ โดยยึดที่ดินจากคนรวยมาแบ่งสรรปันส่วนให้กับคนจนและคนอื่นๆ อย่างเท่าเทียม มีการยึดครอง ทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว และประหารชีวิต ประมาณการณ์กันว่ามีคนมากกว่าหลายล้านคนเสียชีวิตในช่วงแรกของการยึดครอง ส่วนใหญ่เป็นพวกฝ่ายตรงข้าม นักธุรกิจ นักการเมือง นักปกครอง เหล่าขุนศึก และปรปักษ์ทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ จะเว้นไว้ก็เพียงนักวิชาการ ถึงจะไม่เห็นด้วยในพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ควรเลือกที่จะเงียบไว้

 

จากเหตุการณ์นั้นทำให้เราได้เห็นการอพยพของคนจีนเคยรวยที่ไม่โดนกักขังและประหารชีวิตทั้งศาลเตี้ยและศาลทหารจำนวนมากขึ้น ฉันได้พูดคุยกับเพื่อนหลายต่อหลายคนก็พบว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นพวกมาทีหลัง หรืออพยพมาหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นปกครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ

 

ทวดของฉัน ปู่ของแม่ พ่อของหว่องกงเดินทางหนีภัยสงครามภายในประเทศที่คนจีนเรียกกันว่า ‘พี่น้องชาวจีนที่ตีกันเอง’ ก่อนที่เจียงไคเชกจะแพ้มาพักใหญ่แล้ว คนจีนอพยพก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเป็นเจ้าสัวหรือเศรษฐีไปเสียทุกราย ถ้าไม่มีโอกาสอันดีก็พายเรือขายมันขายเผือกในคลองกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งลูกชายคนโตคือหว่องกงของฉันพาครอบครัวอพยพตามมา

 

“ทะเลาะกันน่าดู” ตั่วอี๊เล่าว่าการมาถึงของหว่องกงและอีกหลายปากท้องไม่ใช่ความหวังแต่คือภาระ เพราะครอบครัวที่อพยพมาก่อนหน้ายังไม่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ โดยถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากอาสะใภ้ที่มองว่ามาเบียดเบียนกันอีกแล้ว ทั้งแย่งข้าว แย่งที่นอน ด่าทอกระทบกระแทก ​ฉันฟังแล้วก็สะท้อนใจจนต้องเปลี่ยนเรื่องสนทนา โดยไปขอเน้นที่ภูมิศาสตร์แถบคลองเตย ซึ่งเป็นที่พักพำนักของทั้งครอบครัวสกุลฉั่วสักหน่อย

 

 

ทุ่งพระโขนง คลองเตย ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2499 ผลงานของอาจารย์จิตต์ จงมั่นคง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ภาพนี้มาจากหนังสือรวมภาพถ่ายเอกรงค์ 5 ทศวรรษ จากมุมกล้องและห้องมืด โดย จิตต์ จงมั่นคง

 

บ้านของแม่อยู่ตรงสัญญาณไฟเขียวแดงเหลืองที่แยกใต้สะพานข้ามจากปีนังมายังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อยู่ตรงข้ามกับตลาดคลองเตยพอดี สมัยก่อนยังไม่ถูกเวนคืนที่ดิน ทั้งบริเวณนั้นรวมทั้งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์คือดงผู้อพยพชาวจีน หว่องม่าจะข้ามถนนพระราม 4 ไปที่ริมคลองเตย ซึ่งเป็นตลาด เพื่อซื้อกับข้าวกับปลา รวมทั้งทำมาหากินขายของด้วย

 

แม่บอกว่าตรงตลาดคลองเตยในปัจจุบันนี่แหละคือคลองจริงๆ คลองที่มีน้ำมีต้นเตยขึ้นเยอะแยะ เลยเรียกว่า ‘คลองเตย’ จนฉันต้องไปสืบเสาะเพิ่มเติม เลยพบว่า คลองเตยเป็นคลองที่ถูกขุดขึ้นมาเพื่อสร้างทางรถไฟสายปากน้ำถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง (ซึ่งไม่ใช่รถไฟสายที่ขนน้ำมันที่อยู่ตรงปีนังนะคะ…คนละเส้นกัน) ดังนั้น ตรงคลองเตยนั้นก็จะมีทางรถไฟขนานไปด้วยไม่ไกลมาก แล้วคลองเตยก็โดนขุดยาวมาตั้งแต่คลองพระโขนง จนมาถึงคลองหัวลำโพง โดยแรกเริ่มชื่อว่า ‘คลองทางตรง’  หรือคลองวัวลำพอง โดยมีคลองไผ่สิงโตเป็นตัวเชื่อมด้วย ซึ่งทุกวันนี้เหลือซากคลองไผ่สิงโตอยู่หน่อยหนึ่ง ไม่ไกลจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ส่วนซากคลองเตย คือเส้นทางน้ำจากคลองพระโขนงยาวมาถึงมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไทที่อยู่ใต้ทางด่วน ถ้าลงที่ทางด่วนอาจณรงค์ก็จะเห็นได้ชัดว่าเศษซากคลองเตยนั้นอยู่หน้าการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั่นแหละค่ะ

 

ในขณะเดียวกัน ตรงที่เป็นถนนพระราม 4 นั้น นอกจากจะมีถนนแล้ว ก็ยังมีรถรางยาวจากคลองเตยไปจนถึงโรงแรมแกรนด์ไชน่าในปัจจุบัน

 

เท่ากับว่าแถบคลองเตยปีนังจะมีหลากหลายคลอง 2 สายรถไฟ 1 สายรถราง และถนนพระราม 4 ซึ่งตอนก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีชื่อว่า ถนนทางตรงและถนนหัวลำโพงนอกผสมผสานกันไป

 

ที่ฉันต้องดั้นด้นหาเส้นทางคลอง เพราะแม่บอกว่าทวดของฉันทำมาหากินด้วยการพายเรือขายมันขายเผือกตามเส้นทางคลองเตยไปจนถึงคลองหัวลำโพง ยาวไปถึงคลองผดุงกรุงเกษม ในบางครั้งข้ามเจ้าพระยาไปถึงคลองบางกอกน้อย นี่จึงเป็นเหตุให้คนอย่างฉันต้องมาค้นหาเส้นทางคลองว่ามันต่อเนื่องได้จริงๆ หรือ ในที่สุดก็ค้นพบว่าเป็นจริง

 

การค้นหาข้อมูลก็ยังทำให้ได้รู้ประวัติศาสตร์อีกมากมาย เช่น สมัยยุคที่แม่ของฉันกำลังเติบโตนั้นมีคลองไผ่สิงโตแยกเป็น 2 คลอง คือคลองไผ่สิงโตนอกกับคลองไผ่สิงโตที่ไปชนกับคลองอรชร ผ่านเข้าไปในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย หน้าคณะสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยนี้เลยด้วยซ้ำ และในสมัยก่อนนั้น ที่ดินบริเวณจุฬาลงกรณ์คือที่ดินของพระคลังข้างที่ ที่จะจัดสรรไว้ทำสวนผักสวนครัวมากมาย จึงมีการสร้างคลองเพื่อจัดสรรน้ำให้เข้าไปในคลองนั้นๆ นักรักบี้ชาวสีชมพูน่าจะเคยเห็นคูร่องน้ำใกล้ๆ กับสระน้ำเป็นอย่างดี…นั่นแหละค่ะ สวนผักเก่าของเมืองกรุงเลย

 

ส่วนคลองหัวลำโพงนั้น ฝรั่งเป็นผู้ขอให้รัชกาลที่ 5 สร้างทางรถไฟขึ้น เพื่อให้เดินทางจากท่าเรือเข้ามายังส่วนกลางของพระนครได้รวดเร็วขึ้น จึงนำดินข้างๆ ขุดขึ้นมาถมถนนให้เป็นรางรถไฟ แล้วดินที่โดนขุดมาก็กลายเป็นคลอง จึงเป็นที่มาของเส้นทางรถไฟสายปากน้ำ-หัวลำโพง ก่อนที่ทุกอย่างจะโดนยกเลิก และหายไปจากประวัติศาสตร์

 

สิ่งที่แม่เล่า ทำให้ฉันต้องเดินทางขับรถไปดูสถานที่จริงมากมายว่าตรงกับที่แม่พูดไหม ฉันเห็นเส้นรถไฟทางสายเก่า ฉันเห็นคลองเก่าๆ และฉันได้กลิ่นเหม็นเน่าจากคลองใต้ทางด่วน น่าเสียดายประวัติศาสตร์ที่เคยสวยงาม ฉันแค่คิดว่า ถ้ามันยังเป็นคลองที่สานต่อกันเป็นทอดๆ ไม่โดนถมจนกลายเป็นคลองน้ำนิ่ง คลองไร้ทางออก น้ำที่ได้ไหลวนไปทั่วเมืองอาจจะทำให้มันไม่มีน้ำขังเหม็นเน่า ไม่มีขยะหมักหมมจนกลายเป็นแบบทุกวันนี้ มันเคยเป็นคลองที่ประสานกันอย่างสวยงามและใช้งานได้ต่อเนื่องจริงๆ … ช่างน่าเสียดาย

 

กลับมาที่เรื่องบรรพบุรุษของฉันกันต่อค่ะ หว่องกงเริ่มต้นด้วยการเป็นกรรมกรช่างไม้ในโรงงานไม้ใกล้ๆ กับคลองเตย แถบบริเวณใกล้เคียงก็มีโรงงานทำแลกเกอร์ หว่องม่าก็เคยได้ไปกวนแลกเกอร์ที่โรงงานนี้อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะย้ายตัวเองมารับจ้างกรอด้ายให้กับโรงงานทอผ้าแถบคลองเตยเช่นกัน

 

ชีวิตแม่ของฉันเต็มไปด้วยความลำบาก ตั้งแต่เกือบไม่ได้เกิดมา ต้องโดนอุ้มหิ้วหนีจากแม่ใจเด็ด และที่แม่ของฉันช้ำใจที่สุดคือหว่องกงหว่องม่ามีเงินส่งลูกชายเข้าโรงเรียน ลูกสาวกลับโดนกีดกันด้วยประเพณีโบราณน้ำเน่าคร่ำครึว่า “จะเรียนไปทำไม เดี๋ยวก็ต้องไปมีผัวแล้ว”

 

แม่ฉันกล้ำกลืนและไม่มีความกล้าหาญในการเรียกร้องสิ่งที่ตัวเองต้องการ ได้แต่แอบปีนไปดูพี่ชายตัวเองเรียนหนังสือ แล้วก็ต้องโดนลากกลับมาทำงานที่บ้าน ทั้งงานบ้านและกรอด้ายช่วยหว่องม่า แม่ของฉันบอกว่า มันทรมานมากนะกับเด็กอายุ 6-7 ขวบที่ต้องมานั่งกรอด้ายเป็นวันๆ

 

วันเสาร์และวันอาทิตย์ พวกลูกชายก็จะมาช่วยหว่องม่าทำลอดช่องสิงคโปร์ มีหว่องกงทำเครื่องมือโดยการเจาะรูกับแผ่นเหล็กเพื่อให้แป้งที่ช่วยกันนวดไหลผ่านช่องเล็กๆ ไปต้มให้เป็นหลอดๆ แล้วนำไปแช่เย็น ในขณะที่หว่องม่าก็จะทำน้ำกะทิไว้ให้ แล้วให้พวกลูกชายหาบไปขายที่ตลาดคลองเตย ถ้าของเหลือตอนเย็นก็จะมาขอพื้นที่ซอยข้างๆ เพื่อขายต่อให้หมด โดยมีแม่ของฉันสะพายถังไอศกรีมเป็นหลอดเหมือนหวานเย็นแช่ไว้ แล้วเดินขายรอบๆ ซอย แท่งละ 1 สลึง ช่วยขายกัน 2 คน แม่และลูกสาว

 

ทุกอย่างเป็นไปอย่างดี จากลูกที่แม่ไม่ต้องการกลายเป็นคู่หูสายบันเทิง ทุกๆ เดือนหว่องม่าก็จะพาคู่หูตัวน้อยๆ อายุประมาณ 5-6 ขวบ นั่งรถรางจากคลองเตยไปยังเยาวราชเพื่อดูงิ้ว แม่จำได้ว่าตรงซอยเท็กซัสสุกี้ (ในทุกวันนี้) จะมีโรงงิ้วอยู่ แถวนั้นจะมีประมาณ 3 โรง ในแต่ละเดือนก็จะเปลี่ยนเรื่องกันไป แม่ฉันไม่ได้ชอบงิ้วหรอก แม่บอกแม่ยังเด็ก ดูไม่รู้เรื่อง หว่องม่าแค่ให้ไปเป็นเพื่อน เพราะหว่องม่าโปรดปรานงิ้วมาก ไม่เคยพลาด ขนาดว่างิ้วเล่นเรื่องต่อเนื่องไม่จบในตอนเดียว หว่องม่าก็จะมาดูให้ครบทุกตอนแม้จะเดือนละครั้งก็จะมาติดตาม ในขณะที่แม่ก็จะวิ่งเล่นใกล้ๆ พองิ้วเลิก หว่องม่าก็จะพาไปกินบะหมี่อร่อยๆ กัน

 

ส่วนแม่ของฉันจะชอบหนังโรงมากกว่า แถวบ้านที่ติดกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เคยเป็นโรงหนัง แม่ของฉันก็จะขอคนเฝ้าไปดูฟรีในวันที่โรงหนังคนไม่เต็ม ซึ่งก็ได้รับความเอื้อเฟื้ออย่างดี

 

หว่องม่ามีอายุไม่ยาวมาก 50 ต้นๆ ก็ป่วยหนัก พอแม่ของฉันอายุได้ 13 ปี หว่องม่าก็จากไปด้วยโรคหัวใจรั่ว ไตวาย และอื่นๆ อีกสารพัด สุดที่แม่ฉันจะจำได้ด้วยอายุยังน้อยเกินกว่าจะเข้าใจ

 

แม่เชื่อเสมอมาว่าหว่องม่าอายุสั้นเพราะฆ่าลูกตัวเอง 2 คน …มันเป็นบาปกรรม

 

ส่วนฉัน… เชื่อว่ามันคือระบบการแพทย์ที่ยังไม่สมบูรณ์ในยุคสมัยนั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising