×

Wonder Woman 1984 (2020) สาวน้อยมหัศจรรย์ ตอน บริโภคนิยมปะทะเฟมินิสต์

24.12.2020
  • LOADING...
Wonder Woman 1984 (2020) สาวน้อยมหัศจรรย์ ตอน บริโภคนิยมปะทะเฟมินิสต์

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ‘1984’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปี ค.ศ. อย่างที่รู้กันว่ามันหมายถึงโลกดิสโทเปียที่ตกอยู่ภายใต้ครอบงำของพี่เบิ้มหรือ ‘บิ๊กบราเธอร์’ ผู้ซึ่งคอยสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนจากทุกหนทุกแห่งตามที่นิยายของ จอร์จ ออร์เวลล์ วาดให้ผู้อ่านเห็นภาพ ซึ่งในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าคนทำหนัง Wonder Woman 1984 ก็ไม่ได้ปิดบังอำพราง และแสดงออกถึงการยอมรับในอิทธิพล
  • Wonder Woman 1984 อาจจะนับเป็นภาคสองของหนังปี 2017 แต่มันไม่ใช่ภาคต่อ พูดง่ายๆ ว่านอกเหนือไปจากความรู้พื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ อันได้แก่ ต้นกำเนิดของนางเอก ตลอดจนชีวิตรักของตัวละครที่จบลงด้วยความเศร้า (ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผู้สร้างก็ช่วยรื้อฟื้นอีกครั้ง) ผู้ชมแทบไม่ต้องพยายามระลึกชาติว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในภาคก่อนหน้า 
  • ส่วนที่ยังคงเป็นจุดแข็งแกร่งคือความเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่บอกเล่าผ่านวิสัยทัศน์ของผู้กำกับหญิง และมันหยิบยื่นรสชาติและมุมมองความคิดที่ผิดแผกแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กระทั่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่แนวเฟมินิสต์

เชื่อว่าใครก็ตามที่เห็นชื่อหนังเรื่อง Wonder Woman 1984 ของ แพตตี้ เจนกินส์ ซึ่งมีสถานะเป็นภาคสองของหนังชุดสาวน้อยมหัศจรรย์ ก็คงนึกสงสัยว่าทำไมหนังถึงต้องมีตัวเลขห้อยท้ายเป็นปี 1984 มันสำคัญกับสิ่งที่บอกเล่าอย่างไร ไม่ว่าจะในมิติของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ข้อสำคัญคือมันเกี่ยวข้องกับยุคสมัยปัจจุบันหรือไม่อย่างไร

 

ยิ่งสำหรับนักอ่านด้วยแล้ว ‘1984’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปี ค.ศ. อย่างที่รู้กันว่ามันหมายถึงโลกดิสโทเปียที่ตกอยู่ภายใต้ครอบงำของพี่เบิ้มหรือ ‘บิ๊กบราเธอร์’ ผู้ซึ่งคอยสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนจากทุกหนทุกแห่งตามที่นิยายของ จอร์จ ออร์เวลล์ วาดให้ผู้อ่านเห็นภาพ ซึ่งในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าคนทำหนังก็ไม่ได้ปิดบังอำพราง และแสดงออกถึงการยอมรับในอิทธิพล

 

 

ว่าไปแล้ว ฉากหนึ่งของหนังเราถึงกับได้เห็น แม็กซ์เวลล์ ลอร์ด (เปโดร ปาสคาล) วายร้ายของเรื่องปรากฏตัวบนจอโทรทัศน์ที่แพร่ภาพไปทุกทวีป และเรียกร้องให้พลเมืองของแต่ละประเทศปฏิบัติตามคำขอร้องของเขา อาจกล่าวได้ว่าสถานะของหมอนี่ ณ ห้วงเวลานั้นก็เปรียบได้กับบิ๊กบราเธอร์ ผู้ซึ่งความหมายมั่นของเขาก็คือการครอบงำคนทั้งโลก 

 

และสมมติว่าจะขยายความต่ออีกนิด เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ ที่ใครเห็นรูปลักษณ์ของตัวละครนี้ ซึ่งเป็นนักธุรกิจวัยกลางคนผมทองที่คนทั่วไปรู้จักเขาผ่านรายการโทรทัศน์ขายฝัน และเป็นนักโปรโมตความมั่งคั่งร่ำรวยตัวยง – แล้วจะไม่นึกถึง โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งมีภูมิหลังในทำนองเดียวกันได้อย่างไร แม้ว่าเจนกินส์จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง และเอาเข้าจริงๆ คาแรกเตอร์นี้ก็มีอยู่ก่อนแล้วในหนังสือการ์ตูนของดีซี ทว่าความละม้ายคล้ายคลึงในหลายส่วน ทั้งบุคลิกโลภโมโทสัน เล่นแร่แปรธาตุ เจ้าเล่ห์แสนกล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลบตะแลงปลิ้นปล้อน ก็หักห้ามไม่ให้คนลากเส้นประไม่ได้ 

 

 

แต่ก็นั่นแหละ ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างนิยายของออร์เวลล์กับหนังของเจนกินส์ก็สิ้นสุดแต่เพียงเท่านั้น อย่างหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือนอกจากบรรยากาศของหนังไม่ได้ดูห่อเหี่ยวสิ้นหวังเหมือนกับที่ออร์เวลล์พรรณนาไว้ในนิยาย หนังเรื่อง Wonder Woman 1984 ก็ยังเรียกได้ว่าเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่สีลูกกวาดที่หยิบยื่นความสดใสและกระฉับกระเฉง และมันค่อนข้างผิดวิสัยหนังซูเปอร์ฮีโร่ของค่ายดีซีที่มักจะเน้นความมืดหม่นและเคร่งขรึมจริงจัง

 

และพูดอย่างฟันธง ภูมิหลังของความเป็นปี 1984 หรือทศวรรษที่ 1980 ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อสิ่งที่หนังบอกเล่าหรือถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงๆ จังๆ บรรยากาศของสงครามเย็น (ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันอย่างถมึงทึงระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต) เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบการเล่าเรื่องในช่วงท้าย และไม่ใช่แก่นสารสำคัญ อีกทั้งคนทำหนังก็ยังดูเหมือนไม่ได้มีเจตนาล้อเลียนความพ้นยุคพ้นสมัยของช่วงเวลาดังกล่าวอย่างตั้งหน้าตั้งตา ผู้ชมอาจจะได้หัวเราะกับฉากที่ สตีฟ เทรเวอร์ (คริส ไพน์) คนรักเพียงหนึ่งเดียวของ ไดอานา พรินซ์ (กัล กาด็อต) สวมใส่เสื้อผ้าตามแฟชั่น ซึ่งดูเชยระเบิดระเบ้อในสายตาของผู้ชมปัจจุบัน (ทุกวันนี้ยังมีใครใส่กางเกงผ้าร่มหรือใช้กระเป๋าเล็กๆ คาดเอวหรืออยู่อีกหรือไม่) แต่จนแล้วจนรอด อารมณ์ขันเกี่ยวกับยุคสมัยก็ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษไปกว่านั้นสักกี่มากน้อย 

 

 

หรือมองในอีกแง่มุมหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ว่า Wonder Woman 1984 ไม่ใช่หนังที่สร้างเพื่อหวนรำลึกความหลังเท่ากับการที่มันเป็นหนังที่สร้างด้วย ‘สปิริตอันตรงไปตรงมาและไร้เดียงสา’ ของหนังบล็อกบัสเตอร์ในช่วงนั้น หรือพูดง่ายๆ หากไม่นับความประณีตพิถีพิถันในส่วนของงานสร้าง (ซึ่งบ่งบอกความเป็นหนังปี 2020) มุมมองและทัศนคติของคนทำหนังก็ค่อนข้างเถรตรงและไม่ค่อยสลับซับซ้อน ซึ่งเปรียบได้กับหนังที่สร้างในห้วงเวลาดังกล่าวนั่นเอง

 

ไม่ว่าจะอย่างไร ข้อที่น่าเอ่ยถึงเกี่ยวกับ Wonder Woman 1984 ก็คือตัวหนังอาจจะนับเป็นภาคสองของหนังปี 2017 แต่มันไม่ใช่ภาคต่อ พูดง่ายๆ ว่านอกเหนือไปจากความรู้พื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ อันได้แก่ ต้นกำเนิดของนางเอก ตลอดจนชีวิตรักของตัวละครที่จบลงด้วยความเศร้า (ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผู้สร้างก็ช่วยรื้อฟื้นอีกครั้ง) ผู้ชมแทบไม่ต้องพยายามระลึกชาติว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในภาคก่อนหน้า และไม่ปรากฏว่ามีสิ่งที่เรียกว่าจักรวาลดีซีแอบซ่อนอยู่ในหนังเรื่องนี้ (หมายความว่าเนื้อหาที่เรียกร้องความรู้จำเพาะจากคนเป็นแฟนพันธุ์แท้ อาจจะยกเว้นเหตุการณ์เล็กๆ ในช่วงเครดิตท้ายเรื่อง) และธรรมเนียมในการเล่าเรื่องของ Wonder Woman 1984 ก็มีลักษณะเป็นเอกเทศมากๆ

 

 

ในแง่โครงสร้าง หนังเริ่มต้นด้วยซีเควนซ์อารัมภบทซึ่งทำหน้าที่ปูพื้นสำหรับหลักธรรมคำสอนที่คนทำหนังต้องการหยิบยื่น และไหนๆ พูดแล้วก็พูดเลย สองประเด็นที่อาจสรุปอย่างรวบยอดนั่นคือ หนึ่ง การยอมรับความจริง และสอง วิถีของความยิ่งใหญ่และเป็นผู้ชนะย่อมไม่สมควรได้มาด้วยการเล่นตุกติก เอารัดเอาเปรียบ ดันทุรัง และขี้โกง จากนั้นหนังก็พาคนดูไปสำรวจสถานการณ์ล่าสุดของตัวละคร แน่นอนว่าใครที่โตทันได้ดูหนังเรื่อง Superman (1978) ก็คงมองเห็นความละม้ายคล้ายคลึงระหว่าง คลาร์ก เคนต์ กับไดอานา ทั้งสองคนมีอาชีพประจำบังหน้า คลาร์กเป็นนักหนังสือพิมพ์ ส่วนไดอานาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยวิทยาของสถาบันสมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ทว่างานหลักของทั้งสองก็คือการใช้อำนาจพิเศษของตัวเองยับยั้งอาชญากรรม และผู้ชมไม่ได้รับอนุญาตให้นึกสงสัยว่าพวกเขามีญาณวิเศษหรืออย่างไรถึงได้พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่จวนเจียนคับขันได้อย่างทันท่วงทีแทบทุกคราว

 

อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากของเรื่องทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องมาจากบรรดาตัวละครในเรื่องล้วนร่ำร้องเรียกหาในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ใคร่มีหรือขาดตกบกพร่อง หลายกรณีเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม และว่าไปแล้วสิ่งที่คนทำหนังพาไปสำรวจอย่างจริงๆ จังๆ ก็คือราคาค่างวดของความมุ่งมาดปรารถนาของแต่ละคนและการไม่ยอมรับความจริง (ดังที่กล่าวข้างต้น) หรืออีกนัยหนึ่ง ทุกๆ ความต้องการและการร้องขอล้วนมาพร้อมกับการต้องชดใช้ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

 

ในกรณีของไดอานา อายุอันแสนยืนยาว (ทว่ายังคงความเลอโฉมไม่เสื่อมคลาย) ส่งผลให้เจ้าตัวมีชีวิตเดียวดาย และความมุ่งหวังของสาวน้อยมหัศจรรย์คือการพบเจอกับ สตีฟ เทรเวอร์ ชายหนุ่มผู้ซึ่งเป็นรักแท้ของเธออีกครั้ง แต่คนทำหนังก็ถ่ายทอดให้เห็นว่ายิ่งเวลาผ่านพ้นไป มูลค่าของความสุขส่วนตัวก็แพงลิบลิ่วทีเดียว ขณะที่ บาร์บารา (คริสเทน วิก ในบทบาทการแสดงที่จัดจ้าน) สาวเนิร์ดและเป็นเพื่อนร่วมงานของไดอานาที่ดูเหมือนจะเข้ากับใครไม่ได้ มิหนำซ้ำยังตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศ ก็ฝันอยากจะมีความเชื่อมั่นและพลังอำนาจเหมือนกับนางเอกของเรา หรืออีกนัยหนึ่ง ได้เป็นนักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่มากกว่าการดำเนินชีวิตอย่างหวาดหวั่นพรั่นพรึงในฐานะของผู้ถูกล่าซึ่งไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง กระนั้นก็ตาม คำอธิษฐานของเธอก็มีผลข้างเคียงที่หนักหน่วงรุนแรง 

 

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ไม่มีใครต้องการโน่นนี่นั่นในระดับล้นเกินเท่ากับ แม็กซ์เวลล์ ลอร์ด อีกแล้ว และด้วยอานุภาพเครื่องรางของขลังที่นักธุรกิจจอมละโมบได้ไว้ครอบครอง เขาก็ทำอย่างเดียวกับพวกนักการเมืองเหลี่ยมจัด นั่นคือการเสนอของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ให้กับผู้คนที่ตกเป็นเบี้ยล่างเพื่อตัวเขาจะได้กอบโกยผลประโยชน์ก้อนโต ไม่มากไม่น้อย นั่นคือตอนที่หนังของเจนกินส์สมมติให้ผู้ชมได้เห็นว่าโลกที่ทุกคนล้วนมีความต้องการอย่างไร้ขอบเขตและเหตุผลค่อยๆ ดำดิ่งในภาวะวายป่วงและสับสนเพียงใด ซึ่งโดยปริยาย นี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

 

 

พูดอย่างไม่อ้อมค้อม Wonder Woman 1984 เป็นหนังที่ยังค่อนข้างห่างชั้นเมื่อเทียบกับภาคแรกซึ่งถือเป็นผลงานระดับปรากฏการณ์ มันเป็นเพียงแค่ตอนต่อที่ ‘โอเค’ พอใช้ได้ ความยาวเกินไปของหนัง (ถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง) อาจไม่ใช่ข้อขัดข้องเท่ากับการที่ผู้สร้างจัดระเบียบเนื้อหาได้อย่างไม่ค่อยสม่ำเสมอ และมันส่งผลให้เส้นกราฟขึ้นๆ ลงๆ จริงๆ แล้วโรแมนซ์ระหว่างพระนางให้ความรู้สึกดูดดื่มและสปาร์กจอย แต่เนื้อเรื่องส่วนนี้กลับกินเวลาเนิ่นนานเมื่อคำนึงว่าหนังยังมีอีก 2-3 เส้นเรื่องที่ต้องเก็บเกี่ยวและบอกเล่า ซึ่งมันสำคัญมากๆ

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ยังคงเป็นจุดแข็งแกร่งคือความเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่บอกเล่าผ่านวิสัยทัศน์ของผู้กำกับหญิง และมันหยิบยื่นรสชาติและมุมมองความคิดที่ผิดแผกแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กระทั่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่แนวเฟมินิสต์ สิ่งที่แทบจะอันตรธานไปเลยก็คือฉากที่เน้นขายความย่อยยับและวินาศสันตะโรอย่างเสียสติและบ้าคลั่ง และบรรดาฉากแอ็กชันที่เรียงร้อยก็ล้วนไม่ได้มุ่งเน้นการพังข้าวพังของอย่างหื่นกระหายและเอาเป็นเอาตาย อีกทั้งวิธีการที่ตัวเอกของเรื่องจัดการกับบรรดาเหล่าร้ายก็ล้วนละมุนละม่อม ไม่ใช่ด้วยทัศนคติแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือการฆ่าแกงให้อีกฝ่ายดับดิ้นและโหมกระพือความสะใจเหมือนหนังที่มุ่งโปรโมตความแมน

 

 

และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ความหนักแน่นและน่าเชื่อถือทั้งหมดทั้งมวลของหนังเกี่ยวข้องกับตัว กัล กาด็อต นักแสดงหลักของเรื่อง รูปโฉมโนมพรรณก็เรื่องหนึ่ง และมันเป็นแต้มต่ออย่างแน่นอน แต่ฝีไม้ลายมือทางการแสดงที่ไม่ได้เรียกร้องเพียงแค่ทักษะทางด้านอารมณ์เพียงอย่างเดียว (ซึ่งเธอก็ได้พิสูจน์ให้เห็นในฉากที่เจ้าตัวต้องเลือก ‘หน้าที่’ เหนือ ‘ความปรารถนาส่วนตัว’) หากยังรวมถึงความคล่องแคล่วและทะมัดทะแมงทางด้านกายภาพก็เป็นสิ่งที่ปรากฏอย่างจะแจ้งบนจอภาพยนตร์ และความผสมกลมกลืนของทั้งสองส่วนจนกลายเป็นเนื้อเดียวกันนี่เองที่ทำให้นี่เป็นอีกหนึ่ง ‘ความมหัศจรรย์’ ของบุคลิกตัวละครนี้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

Wonder Woman 1984 (2020)

กำกับ: แพตตี้ เจนกินส์
นักแสดง: กัล กาด็อต, คริส ไพน์, คริสเทน วิก, เปโดร ปาสคาล, ฯลฯ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising