วันนี้ (1 กุมภาพันธ์) กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี พร้อมทั้งเครือข่าย เช่น สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยและกลุ่มทำทาง รวมกลุ่มหน้าป้ายรถประจำทางด้านหน้าของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อเตรียมเปิดเวทีปราศรัยบริเวณทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งเยียวยาประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มสตรี เด็ก และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ โดยข้อเรียกร้องในวันนี้เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่จะยื่นอีกครั้งในวันสตรีสากล 8 มีนาคมนี้
ต่อมาทางกลุ่มได้เคลื่อนที่มาปักหลักปราศรัยบริเวณริมรั้วทำเนียบรัฐบาล และเริ่มต้นการปราศรัยจาก ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี แกนนำเครือข่ายแรงงานแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และสมาชิกสหภาพแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยธนพรกล่าวว่าแรงงานหญิงได้รับความเดือดร้อนอย่างมากในสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะพยาบาลหญิงที่ถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลาแทนสมาชิกที่มีครอบครัว ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันโรค (ชุด PPE) ที่เพียงพอ ต้องรวมเงินกันซื้อเอง
นอกจากนี้ธนพรยังเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอื่น เช่น ต้องจัดให้มีเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 0-6 ปี, แก้ไขปัญหาการสั่งปิดศูนย์เลี้ยงเด็กในช่วงโควิด-19, ยกเลิกกฎหมายเอาผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง
ขณะที่ สุธิลา ลืนคำ สมาชิกกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีและเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวเพิ่มเติมว่าข้อเรียกร้องที่จะนำมายื่นต่อนายกรัฐมนตรีวันนี้เป็นข้อเรียกร้องเร่งด่วนจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งคัดมาจากข้อเรียกร้องฉบับเต็มเนื่องในวันสตรีสากลปีที่ผ่านมา (เคยยื่นไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง) และนำมาปรับปรุงใหม่เป็นข้อเรียกร้องในปีนี้ โดยจะมายื่นหนังสืออีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคมนี้
ด้านตัวแทนสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาชุดป้องกันโรค (ชุด PPE) ให้กับพยาบาลทุกคนอย่างเพียงพอ มีห้องเปลี่ยนชุดที่สะอาด ปลอดภัย เป็นสัดส่วนสำหรับบุคลากรหญิง รวมทั้งให้จ่ายค่าเสี่ยงภัยให้พยาบาลในอัตราเท่ากับแพทย์ รับบรรจุพยาบาลวิชาชีพ และส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์หญิงมีบทบาทมากขึ้นในงานบริหาร เช่น เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล โดยกำหนดสัดส่วนผู้หญิงในบอร์ดเป็น 30%
นอกจากนี้สมาชิกสมาพันธ์แรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทยกล่าวว่า กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกำลังขาดรายได้หลังรัฐบาลมีประกาศสั่งปิดตลาดนัด, ผู้ประกันตน มาตรา 39 และ 40 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบไม่ได้ลดหย่อนเงินสมทบ และนโยบายคนละครึ่งก็ไม่ทั่วถึง ผู้สูงอายุที่ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือลงทะเบียนออนไลน์ไม่เป็น ผู้ค้ารายย่อย วินมอเตอร์ไซค์ และอาชีพอื่นๆ บางส่วนก็ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากโครงการนี้ คล้ายกับว่าเงินจากโครงการคนละครึ่งหลั่งไหลไปอุดหนุนผู้ค้ารายใหญ่ทั้งหมด
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายได้มีการอ่านแถลงการณ์พร้อมยื่นหนังสือให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี ประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมารับหนังสือเครือข่ายแรงงาน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์