×

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ-ผู้เสียหาย ฟ้องศาลปกครอง เอาผิด ผบ.ตร. สลายชุมนุมราษฎรหน้าสภา 17 พ.ย. 2563

โดย THE STANDARD TEAM
26.03.2021
  • LOADING...
ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ-ผู้เสียหาย ฟ้องศาลปกครอง เอาผิด ผบ.ตร. สลายชุมนุมราษฎรหน้าสภา 17 พ.ย. 2563

วันนี้ (26 มีนาคม) ที่ศาลปกครองกลาง ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยผู้เสียหายและผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวน 11 คนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา นำโดย อังคณา นีละไพจิตร และ ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้เสียหายและนักกิจกรรมกลุ่มราษฎร ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ยุติการใช้กำลังจัดการการชุมนุมที่รุนแรงเกินสมควรแก่เหตุกับผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรและประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดเสรีภาพการชุมนุมผู้ฟ้องคดี

 

อังคณา กล่าวว่า ในฐานะผู้ฟ้องคดีความผิดฐานถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางและสิทธิในชีวิตและร่างกาย เนื่องจากในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ตนมีภารกิจร่วมประชุมในคณะอนุกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร โดยเดินทางไปถึงบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาประมาณ 14.00 น. พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการปิดกั้นทางเข้าออกรัฐสภาโดยไม่แจ้งล่วงหน้าหรือผ่อนปรนให้ผู้มีกิจธุระสามารถเดินทางเข้าอาคารรัฐสภาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ตนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายได้ อีกทั้งการที่เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีก่อนเวลานัดหมายการชุมนุม ทำให้ตนได้รับผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง

 

อังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐสภาถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกได้อย่างเต็มที่โดยสันติ ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าโดยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีที่มีผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 โดยไม่มีการเจรจา ไม่ยืดหยุ่นในการรับฟังเหตุผลของผู้ที่ต้องใช้เส้นทางบริเวณนั้น จึงเป็นปฏิบัติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่เกินกว่าเหตุและไม่มีความจำเป็น อีกทั้งไม่สอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศที่ให้ความคุ้มครอง นอกจากนั้นการปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงโดยมุ่งกำราบจะไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งหรือความเห็นต่างของผู้คนในสังคมได้

 

“การฟ้องคดีของดิฉันในวันนี้ไม่ใช่เพราะต้องการแก้แค้นหรือเพราะความเกลียดชังสถาบันตำรวจ หากแต่ต้องการให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งการอำนวยความสะดวกในการชุมนุม การคุ้มครองและการรักษาชีวิตและร่างกายของผู้ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมนุมทุกคน ดิฉันเชื่อมั่นว่าการฟ้องคดีต่อศาลปกครองจะนำไปสู่การทบทวนบทบาทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการคุ้มครองผู้ที่อยู่ในสถานที่ชุมนุม และมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ดุลยพินิจได้ตามอำเภอใจ รวมถึงมีการชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น” อังคณา กล่าว 

 

ด้าน ชลธิชา กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าวมีทั้งผู้ที่เป็นช่างภาพอิสระ และผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมแต่ว่าอยู่ในบริเวณนั้น รวมทั้งมีคนที่ต้องการไปทำงานในรัฐสภาแต่ถูกขัดขวางและโดนแก๊สน้ำตา ซึ่งส่วนตัวในวันดังกล่าวตนได้รับผลกระทบในเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการคุกคามหรือขัดขวางเราแล้ว ในแง่หนึ่งเราไม่สามารถย้อนกลับไปได้ เช่น เราบอกว่าเราต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อต่อต้านหรือเพื่อแสดงเจตจำนงว่าเราไม่เห็นด้วยกับการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา คือเรามีสิทธิครั้งเดียวในการแสดงออกวันนั้น เพราะถ้าเราไม่ใช้สิทธิตอนนั้นรัฐสภาก็จะผ่านร่างไป แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ขัดขวางไปแล้ว มันทำให้เราไม่สามารถแสดงเจตจำนงของเราได้อย่างแท้จริง 

 

“ประเด็นต่อมาวันนั้นมีการใช้ทั้งแก๊สน้ำตา สารเคมี และรถฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งทำให้หลายคนบาดเจ็บ ในส่วนของตนมีอาการแพ้ ไอจนแสบคอและเป็นเลือดจนต้องเข้าพบแพทย์ จึงต้องการให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ชลธิชา กล่าว

 

ด้าน อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการยื่นฟ้องคดีดังกล่าวเพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยเป็นกลุ่มผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นและใช้กำลังสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ด้านหน้ารัฐสภา ซึ่งมีปัญหาทั้งเรื่องการปิดกั้น กีดขวางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการใช้กำลังทั้งการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดการบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรง มีแผลผุพอง มีอาการปวดแสบปวดร้อน หายใจไม่ออก เป็นต้น คดีนี้จะเป็นการตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ทำไม่ถูกต้อง เพื่อชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ ทั้งนี้คาดหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการกำกับดูแลการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุม ดูแลความปลอดภัยทั้งของผู้ชุมนุมและประชาชนต่อไป  

 

อัมรินทร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในท้ายคำร้องระบุว่า  

 

1. ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดียุติการใช้กำลังจัดการการชุมนุมที่รุนแรงจนเกินสมควรแก่เหตุกับผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรและประชาชนทุกกลุ่ม อันเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและเป็นการใช้กำลังโดยไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แผนดูแลการชุมนุมสาธารณะและคู่มือการ ปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2563) ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนที่ไม่เป็นไปตามหลักการสากล เช่น ห้ามฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตาหรือสารเคมี และหรือห้ามใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ห้ามวางสิ่งกีดขวางขัดขวางการใช้เสรีภาพการชุมนุมเกินกว่าเหตุ/โดยไม่มีเหตุอันสมควร 

 

2. ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แผนดูแลการชุมนุมสาธารณะและคู่มือการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2563) ที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมการดำเนินการป้องกันเหตุเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมต่างฝ่าย จัดเตรียมหน่วยรักษาพยาบาลเพื่อรองรับเหตุการณ์การชุมนุมในทุกการชุมนุม

 

3. ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดเสรีภาพการชุมนุมให้กับผู้ฟ้องคดี 

 

สำหรับกรณีการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นในนามกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 บริเวณใกล้กับอาคารรัฐสภา เป็นการนัดชุมนุมเพื่อร่วมติดตามการประชุมรัฐสภาในวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ และเรียกร้องให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่ประชาชนร่วมกันใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกว่า 1 แสนรายชื่อ อันเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรอง 

 

แต่ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับออกประกาศพื้นที่ห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรรอบรัฐสภา และทำการปิดกั้นถนนเส้นทางสัญจรในบริเวณรอบรัฐสภาด้วยเครื่องกีดขวางต่างๆ เพื่อสกัดกั้นผู้ชุมนุม ไม่ให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมและหรือเดินทางผ่านเข้าออกบริเวณหน้ารัฐสภาได้ รวมทั้งได้ดำเนินมาตรการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีแก๊สน้ำตา และใช้แก๊สน้ำตาชนิดควันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดจนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อสุขภาพร่างกายและถูกละเมิดเสรีภาพในการชุมนุม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X