×

สำรวจชีวิตหญิงรักหญิงในภาพยนตร์และละครไทยที่ยังเป็นได้แค่ตัวประกอบ

05.04.2021
  • LOADING...
สำรวจชีวิตหญิงรักหญิงในภาพยนตร์และละครไทยที่ยังเป็นได้แค่ตัวประกอบ

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ความจริงตัวละครหญิงรักหญิงก็มีปรากฏในภาพยนตร์และละครสายแมสอยู่หลายเรื่อง แต่ก็อย่างที่บอกว่าเป็นเพียงองค์ประกอบสร้างสีสัน ไม่ได้เจาะลึกถึงชีวิต ความรู้สึกนึกคิดสักเท่าไร อย่าง คุณหญิงศรี ในเรื่อง คือหัตถาครองพิภพ ที่มีการพูดถึงรสนิยมทางเพศของเธออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักของเรื่อง
  • ถ้านับกันจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่า รากแก้ว นี่แหละคือละครยาวทางจอทีวีเรื่องแรกที่เอาเรื่องของหญิงรักหญิงมาเป็นเส้นเรื่อง แต่ด้วยเนื้อหาที่ล่อแหลม มีการพูดถึงปัญหา Child Grooming (การเลี้ยงเด็กเพื่อผลประโยชน์ทางเพศ) ทำให้หลายคนวิตกว่าจะยิ่งสร้างภาพลบให้กับหญิงรักหญิงหรือเปล่า

​ในยุคที่ซีรีส์วายเฟื่องฟูจนแทบจะกลายเป็นกระแสหลัก และตัวละคร ‘ชายรักชาย’ ค่อยๆ กลายเป็นที่ยอมรับ แม้ว่าเนื้อหาในซีรีส์วายแทบจะไม่สะท้อนความเป็นจริงในโลกของเกย์เลยก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเห็นผู้ชายจู๋จี๋พะเน้าพะนอกันก็เริ่มเป็นสิ่งที่ ‘ยอมรับได้’ มากขึ้น แต่กับตัวละคร ‘หญิงรักหญิง’ ยังคงเหมือนอยู่ในแดนสนธยา เป็นเพียงองค์ประกอบให้เนื้อหาของภาพยนตร์และละครมีสีสันมากขึ้น อย่างการที่ค่าย CHANGE 2561 ประกาศสร้างละครเรื่อง รากแก้ว ซึ่งตัวละครหลักของเรื่องเป็นเลสเบี้ยน ก็เกิดกระแสดราม่าว่าจะยิ่งตอกย้ำภาพลบต่อหญิงรักหญิงเข้าไปอีก

 

​ผู้เขียนติดตามแวดวงบันเทิงไทยมาร่วม 30 ปี ลองนึกถึงภาพยนตร์หรือละครที่มีความรักของหญิงรักหญิงเป็นเส้นเรื่องและประสบความสำเร็จ มีคนพูดถึง ก็เห็นจะมีเพียง Yes or No อยากรัก ก็รักเลย (2553) ส่วนที่ได้ดูกันทางหน้าจอทีวีเห็นจะมีแค่ซีรีส์เพียงไม่กี่ตอน ส่วนใหญ่ก็สร้างในตระกูล Club Friday The Series เช่น รักเธอ รักเขา และรักของเรา, รักแท้หรือแค่ความหวัง, รักล้ำเส้น, รักออนไลน์ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีดราม่าของ อังคารคลุมโปง TheSeries… ตอน มือที่สาม เมื่อทางผู้ผลิตตัดฉากหญิงจูบหญิงออกในเวอร์ชันที่ออกอากาศทางทีวี แต่ดูฉบับเต็มได้เฉพาะในบริการออนไลน์เท่านั้น จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความสองมาตรฐาน เพราะในเมื่อซีรีส์ชายรักชายออกจะโจ๋งครึ่ม แต่หญิงจูบหญิงกลับกลายเป็นเรื่องผิดศีลธรรมไปเสียได้

 

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Yes or No อยากรัก ก็รักเลย (2553)

 

ตัวละครหญิงรักหญิงคนแรกที่ผู้เขียนพอจะนึกออก ก็คือ ‘แพรว’ จากภาพยนตร์เรื่อง เพลงสุดท้าย (2528) ทอมบอยที่ต้องเสียอรทัยให้กับ บุญทิ้ง คู่รักของ สมหญิง สาวประเภทสองดาวเด่นแห่งคณะคาบาเรต์โชว์ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมรักไม่สมหวังของคนเพศที่ 3 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในยุคนั้น แม้จะให้ข้อมูลที่ไม่สมจริงของกลุ่ม LGBTQ+ สักเท่าไร แต่ก็เป็นการเบิกเนตรให้สังคมได้รับรู้ถึงความหลากหลายทางเพศมากขึ้น จากนั้นตัวละครชายรักชายก็ได้รับการพัฒนาให้เห็นแง่มุมอื่นๆ มากกว่าแค่ตลกโปกฮา อย่างที่เราได้ดูมุมละมุนๆ ในเรื่อง รักแห่งสยาม (2550) จนกลายเป็นรากฐานให้กับซีรีส์วายในปัจจุบัน ส่วนตัวละครหญิงรักหญิงก็มีเพียง Yes or No อยากรัก ก็รักเลย ซึ่งก็ยังไม่เห็นเนื้อหารักดีๆ แบบหญิงรักหญิงในภาพยนตร์และละครที่ประสบความสำเร็จอีกเลย

 

ภาพจากละครเรื่อง รักล้ำเส้น 

 

ความจริงตัวละครหญิงรักหญิงก็มีปรากฏในภาพยนตร์และละครสายแมสอยู่หลายเรื่อง แต่ก็อย่างที่บอกว่าเป็นเพียงองค์ประกอบสร้างสีสัน ไม่ได้เจาะลึกถึงชีวิต ความรู้สึกนึกคิดสักเท่าไร อย่างตัว คุณหญิงศรี ในเรื่อง คือหัตถาครองพิภพ ที่มีการพูดถึงรสนิยมทางเพศของเธออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักของเรื่อง หรืออย่างตัวละคร นุช จากเรื่อง ดาวแต้มดิน (2538) เด็กสาวผู้รอดพ้นจากการ ‘ตกเขียว’ จนสะอิดสะเอียนกับสังคมชายเป็นใหญ่ และหันไปสนิทสนมกับสาวรุ่นใหญ่ โดยผู้สร้างขมวดปมทิ้งท้ายให้คนดูคาดเดากันถึงวิถีทางเพศของเธอเอง ส่วนเมื่อเร็วๆ นี้ ละครเรื่อง อกเกือบหักแอบรักคุณสามี ก็มีตัวละครหญิงรักหญิงอย่าง กั้ง และ ข้าวฟ่าง ที่นำเสนอออกมาในแง่มุมน่ารัก สดใส 

 

ภาพจากละครเรื่อง อกเกือบหักแอบรักคุณสามี

 

ถ้านับกันจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่า รากแก้ว นี่แหละคือละครยาวทางจอทีวีเรื่องแรกที่เอาเรื่องของหญิงรักหญิงมาเป็นเส้นเรื่อง แต่ด้วยเนื้อหาที่ล่อแหลม มีการพูดถึงปัญหา Child Grooming (การเลี้ยงเด็กเพื่อผลประโยชน์ทางเพศ) ทำให้หลายคนวิตกว่าจะยิ่งสร้างภาพลบให้กับหญิงรักหญิงหรือเปล่า อีกทั้งเมื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับนวนิยายนี้ ก็ได้พบกับคำนิยามให้ชวนกังวลหนักยิ่งกว่าเดิมว่า เรื่องราวของเด็กสาวคนหนึ่งซึ่งเกิดมาและมุ่งหวังที่จะหนีให้พ้นจาก ‘ผู้มีพระคุณ’ ซึ่งมี ‘ความวิปริตทางเพศ’ และสร้างความบอบช้ำให้… โรยทองทราย จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนได้หรือไม่?

 

ภาพจากละครเรื่อง รากแก้ว 

 

​ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รากแก้ว เป็นบทประพันธ์ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ช่วงปี 2517 ในยุคที่พฤติกรรมรักร่วมเพศยังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ‘ความผิดปกติทางจิต’ อยู่เลย และแก่นแกนของเรื่องก็มีอะไรมากกว่าแค่ประเด็นหญิงรักหญิง แต่สอดแทรกปัญหาวัยรุ่นและผลกระทบจากพฤติกรรมผิดปกติในครอบครัว ผู้เขียนเองเคยได้ชม รากแก้ว ในเวอร์ชันภาพยนตร์ในชื่อ พิศวาส เมื่อปี 2530 กำกับโดย แม่หนู-สรวงสุดา ชลลัมพี (ปัจจุบันคือผู้จัดของช่อง 3) ในตอนนั้น ต่าย-เพ็ญพักตร์ ศิริกุล รับบทเป็น รังรอง ผู้มีพระคุณที่เคลม โรยทองทราย ซึ่งรับบทโดย นิด-อรพรรณ (พานทอง) วัชรพล ซึ่งเป็นเหมือนลูกเลี้ยงและคู่รักไปพร้อมๆ กัน ความสับสนในใจทำให้ โรยทองทราย กลายเป็นเด็กใจแตก ก้าวร้าว เอาแต่ใจ ต่อต้านสังคม จนกระทั่งได้พบกับชายหนุ่มที่ทำให้เธอรู้ว่าจริงๆ แล้วความรักและเพศวิถีของตัวเองคืออะไร ซึ่งในเวอร์ชันเก่าก็มีตัวละครที่เป็น ‘เด็กเลี้ยง’ อีกคนหนึ่ง และความ ‘วิปริต’ ก็ไม่ใช่เรื่องวิถีทางเพศ (ตามที่คนในยุคนั้นเข้าใจ) เท่านั้น แต่คือความรักมาก หวงมาก คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของชีวิตของคนที่เลี้ยงมาด้วยต่างหาก

 

ตัวผู้เขียนเองได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ และยังจำได้มาจนถึงวันนี้ ก็เชื่อว่ามันต้องมีข้อดีอะไรสักอย่างที่ประทับอยู่ในใจเรา เลยอยากให้เปิดใจ ให้โอกาสทีมผู้สร้างเสียก่อน เชื่อว่าด้วยบริบทของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รากแก้ว คงไม่น่าจะทำให้เลสเบี้ยนเป็นตัวร้ายแบบเหมารวมอย่างที่หลายคนกังวล ยิ่งเมื่อทำออกมาในเวอร์ชันละครก็ย่อมมีเวลาที่จะปูพื้นฐานตัวละครได้มากขึ้น ก็น่าจะทำให้คนดูได้เข้าใจความซับซ้อนในความคิดของ รังรอง ได้ดีกว่า จากนี้ก็ลองมาลุ้นกันว่า รากแก้ว จะออกมาเป็นอย่างไร อีกไม่นานเกินรอ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising