×

“ผู้หญิงควรมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ” ช่อ พรรณิการ์ และ รอมฎอน เปิดวงพูดคุยพื้นที่การเมืองสำหรับผู้หญิงในชายแดนใต้

11.12.2023
  • LOADING...
ช่อ-พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมพูดคุยในหัวข้อ ‘Be The Change พื้นที่การเมืองสำหรับผู้หญิง’

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ช่อ-พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมพูดคุยในหัวข้อ ‘Be The Change พื้นที่การเมืองสำหรับผู้หญิง’ โดยมี รอมฎอน ปันจอร์ สส. พรรคก้าวไกล และ อามีเน๊าะ อารง อดีตผู้สมัคร สส. พรรคก้าวไกล จังหวัดนราธิวาส และผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ร่วมแลกเปลี่ยนที่ร้าน Sajada Cafe ในอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

 

สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มี สส. หญิงมากที่สุด

 

พรรณิการ์กล่าวว่า ขณะนี้จำนวน สส. หญิงในรัฐสภาของไทยเพิ่มมากที่สุดในรอบ 75 ปี แม้ปัจจุบันจำนวน สส. หญิงในสภาจะเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการมีจำนวน สส. ผู้หญิงในสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นตัวตัดสินถึงสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงที่ได้รับการเชิดชูแล้ว แต่อย่างน้อยก็ช่วยสะท้อนอะไรบ้างอย่างว่าสังคมเปิดกว้างมากขึ้น ผู้หญิงได้เข้าสู่รูปแบบการเมืองมากขึ้น และได้รับการยอมรับจนสามารถเข้าไปสู่สภาได้มากขึ้น 

 

การเลือกตั้งในปี 2566 ได้มีจำนวน สส. ผู้หญิงเข้าสู่สภามากสุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ปี 2475 ที่ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎร โดยมี สส. ผู้หญิงมากกว่า 20% และเป็นจำนวน  สส. ผู้หญิงที่มาจากพรรคก้าวไกลมากที่สุดในบรรดาทุกพรรคการเมือง จำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 17% และส่วนใหญ่เป็น สส. จากพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคเหนือ 

 

ผู้หญิงกับบทบาทในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

 

เช่นเดียวกับกระบวนการสันติภาพที่พรรณิการ์เห็นว่า ผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ต้องเจอกับความเจ็บปวดควรมีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพ

 

“เพิ่มผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพให้มากขึ้น ไม่ใช่ผู้หญิงที่เป็นข้าราชการระดับสูง เป็นอีลีท แต่เป็นผู้หญิงเหล่านี้ที่อยู่ในพื้นที่ ที่เข้าใจถึงความสูญเสียและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ดีกว่าใคร” พรรณิการ์กล่าว

 

พรรณิการ์กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะการมาพูดที่นี่ ที่จังหวัดนราธิวาสที่เป็นพื้นที่ชายแดนใต้ ตนคิดว่าสำคัญยิ่งกว่าการมี สส. หญิง มีผู้แทนราษฎรหญิง และสมาชิกหญิง คือการให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

 

ซึ่งที่ผ่านมาถามว่าอะไรจะเป็นการเมือง ยิ่งไปกว่าการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ ไม่ใช่เฉพาะกับคนที่นี่ แต่สำหรับคนทั้งประเทศ เพราะพวกเราที่นี่ก็คือคนที่อยู่ร่วมในประเทศเดียวกัน และยิ่งไปกว่านั้น ตนอาจเป็นคนไทยคนหนึ่งที่มักจะทุกข์ร้อน รู้สึกเจ็บปวดเสมอ เวลาเห็นคนในชายแดนใต้ต้องถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ เวลาเห็นคนถูกจับเข้าค่ายทหาร เวลาเห็นคนถูกซ้อมทรมานจนตาย 

 

ซึ่งตนเห็นว่าขณะนี้ความพยายามในการเจรจากระบวนการสันติภาพรอบใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ ถือว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มันก้ำกึ่งว่าตกลงรัฐบาลจะตั้งใจทำหรือไม่ได้ตั้งใจทำ จะเกิดหรือไม่เกิด และในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้ ตนเห็นว่าทุกคนยิ่งต้องผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้หญิงที่จะต้องมีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพ

 

“ทำไมต้องให้สถานะพิเศษกับผู้หญิง เพราะผู้หญิงในทุกที่ของโลกต้องกลายเป็นคนรับภาระ รับผลกระทบที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดความรุนแรงในพื้นที่ทั่วโลก เช่น สงครามในประเทศอัฟกานิสถาน สงครามในกาซา สงครามในยูเครน ผู้คนที่ต้องแบกรับภาระคือ คนท้อง แม่ลูกอ่อน ผู้หญิงที่ต้องดูแลเด็ก คนแก่ในบ้าน และสำหรับผู้หญิงในชายแดนใต้ ผู้หญิงถูกบังคับให้ตรวจ DNA เพราะสามีถูกต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ลูกอายุ 3-4 เดือน ถูกบังคับให้ตรวจ DNA”

 

“เวลาที่เกิดสถานการณ์วุ่นวายจนเศรษฐกิจไม่ได้ไปต่อ คนที่ต้องหาข้าวให้ลูกกิน ต้องจัดการทุกอย่างก็คือผู้หญิง เพราะฉะนั้นทำไมล่ะ เวลาที่คุณจะไปเจรจาสร้างสันติภาพ ทำไมคุณถึงบอกว่าเป็นเรื่องของผู้ชาย แต่เวลาสร้างสันติภาพไม่สำเร็จ คนรับเคราะห์คือผู้หญิง”

 

พรรณิการ์กล่าวว่า ตนอยากเห็นบทบาททางการเมืองของผู้หญิงที่นี่ ผู้หญิงที่เป็นผู้ที่เดือดร้อน ทุกข์ยาก เจ็บแค้นจากความขัดแย้งจริงๆ เข้าไปอยู่ในการกำหนดแนวทางการสร้างสันติภาพในพื้นที่ มิเช่นนั้นคงเป็นสันติภาพที่ลอยมาจากเบื้องบน ไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชน

 

“กระบวนการสันติภาพต้องมีที่มาจากความต้องการจริงๆ ของประชาชนในพื้นที่ที่เขาต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดมาเกือบ 20 ปี หรือมากกว่านั้น 100 ปี เราต้องถาม เขาต้องการสันติภาพแบบไหน”

 

ผู้หญิงเปลี่ยนการเมืองชายแดนใต้

 

ขณะที่ รอมฎอน ปันจอร์  สส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงได้มาสู่พื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งจากการเลือกตั้งปี 2566 ทำให้ได้เห็นว่าผู้หญิงเข้ามาอยู่ในการเมืองมากขึ้น และเสียงของผู้หญิงในบ้านก็ดังมากขึ้นด้วย

 

“ผมได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้ชายในพื้นที่ ในช่วงเลือกตั้งรอบล่าสุด 2566 และต้องพบกับความแปลกใจ จากปกติที่เวลามีการซื้อเสียงจะต้องมาพูดคุยกับหัวหน้าครอบครัว ก็คือผู้ชายในแต่ละบ้านว่าในบ้านมีสมาชิกครอบครัวกี่คน และผู้ชายมีสิทธิกำหนดว่าจะเลือกใคร จากพรรคไหน”

 

แต่ทว่าเสียงจากผู้ชายที่บอกกับตนคือ กลับเป็นผู้หญิงที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่บ้าน ผู้หญิงในพื้นที่หลายคนสามารถโน้มน้าวและเปลี่ยนความคิดสามีของเธอได้ 

 

“ผู้หญิงในพื้นที่บ้านเราคิดได้ เสนอได้ และที่สำคัญพวกเธอโน้มน้าวจิตใจของหัวหน้าครอบครัวได้ นี่คือความเปลี่ยนแปลงในชายแดนใต้ และบทบาทการเมืองของผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้ตอนนี้” รอมฎอนกล่าว

 

รอมฎอนกล่าวอีกว่า ผมเห็นด้วยที่พรรณิการ์กล่าวถึงการเมืองที่สำคัญที่สุดของที่นี่คือสันติภาพ เราจะหยุดเรื่องความสูญเสีย จาก 7,000 คนที่เสียชีวิต และ 20,000 คนที่ได้รับบาดเจ็บ แน่นอนว่าสัดส่วนผู้ชายบาดเจ็บล้มตาย ทำให้ภาระหนักตกไปอยู่ที่ผู้หญิง คำถามสำคัญคือ เราจะเปลี่ยนเป็นการต่อสู้ที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงอย่างไร 

 

“ชายแดนใต้ของเราจะเดินไปทางไหน ขึ้นอยู่กับปี 2566 คุณทำอะไร เราทำอะไรในเวลานี้ เพราะมันเป็นตัวกำหนด สุดท้ายแล้วความหวังและความเปลี่ยนแปลงอยู่ที่เราทุกคน” รอมฎอนกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X