วันนี้ (2 มกราคม) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานระหว่างรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในปี 2565 มีอะไรน่ากังวลหรือไม่ โดยเฉพาะการแก้กฎหมายต่างๆ ท่ามกลางปัญหาสภาล่มในปีที่ผ่านมา ว่า สภาในสมัยประชุมนี้จะจบในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 กฎหมายที่จะต้องเข้าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 หรือ WADA กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองและร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวมทั้งกฎหมายอีกหลายฉบับที่เสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูป ดังนั้นสมัยประชุมนี้จึงไม่มีอะไรตื่นเต้นโลดโผน แม้จะมีอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติก็ตาม
วิษณุกล่าวอีกว่า ส่วนสมัยประชุมหน้าที่เปิดในเดือนพฤษภาคม 2565 นั้นมีกฎหมายงบประมาณปี 2566 และมีกฎหมายที่ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูปที่เสนอเข้าสภาเดียว ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องว่ากัน รวมทั้งมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติก็จะเข้าสมัยประชุมหน้า
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แสดงว่าเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป เป็นช่วงตื่นเต้นของรัฐบาลใช่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ตนไม่ได้พูดว่าเดือนพฤษภาคม แต่หมายถึงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงกันยายน เป็นเวลา 120 วัน เป็นสมัยประชุมที่สามารถมีกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างเกิดขึ้น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งผ่านการพิจารณาในช่วงสมัยประชุมเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จะทำให้เกิดกระแสเรียกร้องยุบสภาหรือไม่
วิษณุระบุว่า กระแสเรียกร้องมีแน่และมีทุกวัน ซึ่งวันนี้ก็มีอยู่แล้ว แต่จะสามารถตอบสนองต่อกระแสดังกล่าวได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะบางทีอยากสนองก็สนองไม่ได้ เพราะกฎหมายลูกแม้มีผลบังคับใช้แล้วก็ยังมีรายละเอียดว่าจะต้องทำอะไรต่อไปภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนจำนวนวันที่ระบุไว้จะทำให้เห็นว่าหากยุบสภาไปก่อนก็คงยากลำบาก เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งก็ต้องแบ่งใหม่ ซึ่งไม่แน่ใจว่าต้องแบ่งภายใน 90 วันใช่หรือไม่ ดังนั้นจะเกิดอะไรก่อน 90 วันนั้นคงไม่ได้ ตนยังไม่พูดถึงเรื่องการประชุม APEC และ G20 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ แต่พูดถึงระยะเวลาตามปกติ ดังนั้นต้องรอผลของกฎหมายลูก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หากกฎหมายลูกยังไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา นายกฯ จะยุบสภาได้หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ยุบได้ แต่ยุบแล้วเกิดปัญหา กติกาต่างๆ ยังไม่มีอะไรชัดเจน รัฐธรรมนูญเป็นเพียงแม่บทวางเอาไว้ ซึ่งเดิมกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นคนวางรายละเอียด แต่ได้มีการตัดออกไปก่อน จึงยังไม่มีใครกำหนดได้ ดังนั้นต้องรอกฎหมายลูกเท่านั้น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากเกิดอุบัติเหตุยุบสภา รัฐบาลจะสามารถออก พ.ร.ก. มาแก้ปัญหาได้หรือไม่ วิษณุบอกว่า เป็นความเสี่ยงมาก เพราะการออก พ.ร.ก. รัฐบาลกำหนดฝ่ายเดียว สภาจะยอมหรือไม่ที่จะให้รัฐบาลวางกติกาสำหรับเขาในการไปเลือกตั้งฝ่ายเดียว โดยที่เขาไม่มีสิทธิร่วมพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และหากไม่เห็นด้วยขึ้นมาแต่เลือกตั้งผ่านไปแล้วจะให้ทำอย่างไร หรือหาก พ.ร.ก. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วการเลือกตั้งที่ผ่านไปแล้ว และ กกต. ได้แจ้งมาว่าใช้เงินประมาณ 5,600 ล้านบาท จากเดิม 3,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้ตัวเลขขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นปัญหา
ส่วนกรณีที่ระบุถึงเรื่อง APEC นั้น แปลว่ารัฐบาลต้องมีอำนาจเต็มเพื่ออยู่ทำหน้าที่นี้ใช่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า โดยหลักแล้วความคาดหมายของนานาประเทศเขาก็อยากประชุมและเจรจาตกลงกับรัฐบาลที่อำนาจเต็มในวันเจรจา แต่หลังเจรจาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะหากช่วงเวลาเจรจารัฐบาลไม่มีอำนาจเต็ม ก็ไม่รู้จะคุยอะไรกัน
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่านายกฯ ควรมีอำนาจเต็มอยู่ถึงการเป็นประธาน APEC ภายในปลายปี 2565 ใช่หรือไม่นั้น
วิษณุกล่าวสั้นๆ ว่า สื่อมวลชนเป็นคนพูดเอง และใครๆ ก็รู้ว่าควรเป็นอย่างไร