วันนี้ (8 กันยายน) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวยุบศูนย์บริหารสถานการณ์การโควิด-19 หรือ ศบค. ว่าไม่ควรใช้คำว่ายุบ ซึ่ง ศบค. ถือเป็นหน่วยงานที่ตั้งกันเอง ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นไปตามยุคสมัย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลพยายามขอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแยกออกมา เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ใช้กับเหตุการณ์ฉุกเฉิน อย่างการก่อการร้าย การก่อความไม่สงบสุข และสามารถใช้ได้กับกรณีเกิดภัยพิบัติหรือโรคระบาดได้
แต่ในขณะนี้เมื่อใช้ไปได้สักระยะก็ไม่ค่อยจะตรงนัก และทุกฝ่ายก็พะอืดพะอมกันอยู่ จึงเห็นควรมีการแก้ไขกฎหมายโรคติดต่อ เพื่อใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งหากในอนาคตมีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ก็ไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นต้องตั้ง ศบค.
วิษณุกล่าวต่อไปว่า ศบค. ถูกตั้งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็อาจจะมีหน่วยงานใหม่ หรือหน่วยงานอื่นขึ้นมาได้ อาจจะเท่ากันหรือใหญ่กว่าก็ได้
ส่วนนายกรัฐมนตรีจะขึ้นเป็นประธานหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ เพราะยังไม่เห็นกฎหมาย ขออย่าคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่ว่ายุบแล้วจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ส่วน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณา ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายปฏิรูป อีกทั้งวันที่ 1 พฤศจิกายน ก็จะมีการเปิดสมัยประชุมสภาแล้ว ยืนยันว่า ศบค. จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังดำเนินการเอาไว้อยู่
นอกจากนี้ วิษณุยืนยันว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้พิจารณาเรื่องวันหยุดเพิ่มเติม เนื่องจากยังคงต้องการให้ประชาชนลดการเดินทาง แต่วันหยุดที่ 24 กันยายน ที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ ยังคงให้เป็นวันหยุดไว้ไม่มีการยกเลิก