×

วิษณุเผย นายกฯ ยังไม่ยื่นทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้ไม่มีอำนาจยื่นศาลตีความ

โดย THE STANDARD TEAM
05.10.2021
  • LOADING...
Wissanu Krea-ngam

วันนี้ (5 ตุลาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้วตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน ว่า กรอบเวลาการยื่นทูลเกล้าฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 เมื่อรัฐสภาส่งมาถึงมือนายกรัฐมนตรีต้องเก็บไว้ 5 วัน เมื่อครบให้บวกไปอีก 20 วัน จะทูลเกล้าฯ เมื่อใดก็ได้ใน 20 วันนี้ 

 

ส่วนระยะเวลา 20 วันนี้ นายกรัฐมนตรีสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น วิษณุระบุว่า ถ้านายกรัฐมนตรีจะยื่นต้องยื่นตามมาตรา 148 จะเห็นว่าผู้ที่จะยื่นได้คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กับนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการใช้กับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไม่ได้ใช้กับรัฐธรรมนูญ 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจยื่นตีความได้แล้วใช่หรือไม่ วิษณุระบุว่า ตนตอบแค่นี้ เพราะมาตรา 148 ใช้กับ พ.ร.บ. 

 

ส่วนกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน จะกระทบกับการยื่นทูลเกล้าฯ ของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ วิษณุระบุว่าไม่กระทบ การยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เกี่ยวกับการกำหนดเวลาเป็นกฎหมายแล้วก็ยังยื่นได้ อยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับหรือไม่ ซึ่งถือเป็นคนละส่วนกัน 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว หากเกิน 90 วันยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ร่างดังกล่าวจะตกไปเลยใช่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ตกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 147 แต่ไม่เชิงตก เพราะมีช่องให้สภายืนยันอีกครั้งภายใน 30 วัน ส่วนในหลวงสามารถคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าทรงมีพระราชอำนาจในการวีโต้ พ.ร.บ. ใน 90 วัน  ซึ่งเคยเกิดสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เคยวีโต้ พ.ร.บ. 3 ฉบับ เมื่อถามว่า หากดูจากไทม์ไลน์ต่อจากนี้ไม่น่าจะมีอะไรสะดุดใช่หรือไม่ ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญและกติกาเลือกตั้ง วิษณุกล่าวว่า มันจะสะดุดเรื่องเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ แต่เวลานี้ยังไม่มีการยื่น

 

ส่วนระหว่างนี้หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง จะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด วิษณุระบุว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตามรัฐธรรมนูญระบุเอาไว้แล้วในมาตรา 147 หากร่าง พ.ร.บ. หรือร่างรัฐธรรมนูญใดที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องตกไป แต่ถ้าได้รับความเห็นชอบแล้วไม่ตก เว้นแต่จะไม่โปรดเกล้าฯ ลงมาภายใน 90 วัน เพราะฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลลาออก หรือยุบสภา หรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้ารัฐธรรมนูญนั้นประกาศใช้ต้องเดินต่อไป แต่ตนไม่กล้าบอกว่าถ้ายุบสภาตอนนี้แล้วใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เพราะยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ ลงมา 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ยังต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ยังต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ และยังทรงมีเวลา 90 วัน ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมา ตนจึงเคยบอกว่าจะยุ่งหากเกิดเหตุการยุบสภาในตอนนี้ เนื่องจากขณะที่ยุบสภาเรายังนึกว่ามี ส.ส. เขต 350 คน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องเตรียมการอย่างนี้เพราะยังไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ แล้วพรรคการเมืองก็เตรียมการแบบนี้แล้ว จู่ๆ เกิดมีการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงมา ทุกอย่างต้องเปลี่ยนหมด จะไม่เปลี่ยนก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่มีผลแล้วมันถึงจะยุ่ง  

 

ส่วนหากมีการยุบสภาก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้ วิษณุระบุว่า ไม่มีปัญหา ก็จบเรื่อง ใช้กติกาเดิม บัตร 1 ใบ ส.ส. 350 คน กับ 150 คน ถ้าเลือกตั้งเสร็จวันนี้ พรุ่งนี้โปรดเกล้าฯ ส.ส. ก็เป็นแบบเดิม จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่จึงจะใช้กติกาใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญจะมีผลกับการเลือกตั้งครั้งใหม่เท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X