×

วิษณุไม่ขอวิจารณ์ปมสภาล่ม โยนถามฝ่ายค้าน-รัฐบาล ย้ำขั้นตอนรัฐบาลรักษาการ ยืดเวลาถึงรัฐบาลใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ

โดย THE STANDARD TEAM
15.08.2022
  • LOADING...
วิษณุ เครืองาม

วันนี้ (15 สิงหาคม) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีเหตุสภาล่มในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ​ ทำให้ไม่ทันตามกรอบระยะเวลาการพิจารณา 180 วัน โดยได้กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากนี้ว่า​ เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากไม่แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาจะต้องกลับไปใช้ร่างที่รัฐบาลเสนอไป​ แต่ความจริงไม่ได้มีการบังคับว่าจะใช้ร่างที่รัฐบาลเสนอไป​ แต่มีการเขียนไว้ในข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 101 ที่ระบุว่า ในกรณีที่มีร่างฉบับเดียว ให้นำฉบับนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ​ แต่หากมีหลายฉบับก็ให้นำร่างของสภาเป็นฉบับหลักขึ้นทูลเกล้าฯ​ ซึ่งในขณะนั้นที่ร่างกฎหมายเข้าสภา ได้มีมติให้ใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก จึงจะนำฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

 

วิษณุ​ยังระบุอีกว่า​ หลังจากนี้สภาจะเป็นผู้ดำเนินการ​ ไม่ใช่รัฐบาล​ เพื่อส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง​ (กกต.) ภายในระยะเวลา 15 วัน และ กกต. จะตอบกลับมาภายใน 10 วัน จากนั้นสภาจะพิจารณาใหม่​ แต่หากไม่ส่งให้ กกต. พิจารณา จะสามารถนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลยหรือไม่​ ตนก็ยังสงสัยในข้อกำหนดนี้ เพราะข้อกำหนดที่เขียนไว้ว่าต้องส่งให้ กกต. เขียนไว้สำหรับกรณีที่สภาได้พิจารณาเสร็จแล้ว แต่กรณีนี้เมื่อใช้ร่างของรัฐบาลซึ่งเป็นร่างของ กกต. เดิม​ตั้งแต่เริ่มต้น ก็ไม่รู้ว่าจะส่งให้ กกต. พิจารณาอีกครั้งทำไม​ แต่ก็สามารถที่จะส่งให้ กกต. พิจารณาได้โดยไม่ต้องกำหนดเงื่อนไขเวลา ซึ่งสภาจะมีเวลา 3 วันในการพิจารณา รัฐบาลมีระยะเวลาพิจารณา 5 วัน และมีระยะเวลาในการขึ้นทูลเกล้าฯ อีก 20 วัน รวมเป็น 25 วัน​ ดังนั้น​จะต้องบริหารจัดการให้ได้ตามกรอบระยะเวลานี้ ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ​ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในกรอบระยะเวลา 90 วัน

 

ส่วนที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าถึงเวลานั้นผู้มีสิทธิก็สามารถไปยื่นได้​ใน​ห้วงเวลาของ​สภา​ 3 วัน​ รัฐบาล​ 5 วัน​ หรือ​ 20 วันก็ได้​ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ​ไม่มีเงื่อนกรอบระยะเวลาในการวินิจฉัย​ แต่รัฐบาลจะต้องไม่ส่งทูลเกล้าฯ ก่อน​กรอบพิจารณา​ 5 วัน​ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญตีตกในสาระสำคัญก็ต้องมาพิจารณาเริ่มต้นใหม่ โดยหากตกเป็นบางมาตราก็ให้นำมาตรานั้นออกไป แต่หากเป็นมาตราสำคัญ กกต. จะต้องเป็นผู้จัดทำขึ้นมาใหม่

 

ทั้งนี้ วิษณุยังระบุอีกว่า อย่าคาดเดาว่า พ.ร.ป. ฉบับนี้จะไม่แล้วเสร็จทันเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2566​ เนื่องจากการทำใหม่ก็แค่นำฉบับเดิมมาจัดทำใหม่ ไม่ได้ยากอะไร พร้อมกับระบุว่า 3 วันก็เสร็จ

 

ส่วนกรณีที่หากไม่มีกฎหมายสำหรับการเลือกตั้ง กรอบระยะเวลาในการรักษาการของนายกรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไร วิษณุระบุว่าเป็นคนละเรื่องกัน โดยหากการเลือกตั้งใหม่นั้นเกิดจากการยุบสภา จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่หากเกิดจากกรณีที่สภาหมดอายุ จะใช้กรอบระยะเวลา 45-60 วัน ส่วนหากไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับ ก็สามารถให้ยื้อการรักษาการออกไปจากกรอบระยะเวลานั้นได้ เนื่องจากมีกรอบระยะเวลา 60 วัน และเมื่อเลือกตั้งเสร็จจะต้องรอการประกาศผลอย่างเป็นทางการอีก 2 เดือน ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลก็ยังคงต้องรักษาการอยู่ รวมไปถึงมีระยะเวลาอีก 1 เดือนระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลและถวายสัตย์ปฏิญาณหลังจากนั้น รัฐบาลรักษาการจึงจะพ้นจากตำแหน่งไป

 

วิษณุ​ยังชี้แจงอีกว่า ต่อให้ไม่มีกฎหมายลูกฉบับใด กรอบระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งรัฐบาลก็ยังคงเป็นไปในลักษณะนี้​ สำหรับการเลือกตั้งก็มีไว้เฉพาะสำหรับการเลือกตั้ง​ และกรอบระยะเวลายังคงเดินต่อไปโดยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับกฎหมายลูก

 

โดยวิษณุ​ไม่ขอแสดงความคิดเห็นถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การที่สภาล่มในการพิจารณากฎหมายลูก โดยขอให้สังคมวิจารณ์กันไป ตนจะมาวิจารณ์ต่อได้อย่างไร 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สภาดูไม่สง่างามโดยใช้วิธีแบบนี้หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ขอให้ไปถามคนที่เกี่ยวข้องก็แล้วกัน ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายไหนที่ทำให้สภาไม่ครบองค์ประชุม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising