วันนี้ (15 สิงหาคม) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีเหตุสภาล่มในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ไม่ทันตามกรอบระยะเวลาการพิจารณา 180 วัน โดยได้กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากนี้ว่า เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากไม่แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาจะต้องกลับไปใช้ร่างที่รัฐบาลเสนอไป แต่ความจริงไม่ได้มีการบังคับว่าจะใช้ร่างที่รัฐบาลเสนอไป แต่มีการเขียนไว้ในข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 101 ที่ระบุว่า ในกรณีที่มีร่างฉบับเดียว ให้นำฉบับนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หากมีหลายฉบับก็ให้นำร่างของสภาเป็นฉบับหลักขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งในขณะนั้นที่ร่างกฎหมายเข้าสภา ได้มีมติให้ใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก จึงจะนำฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
วิษณุยังระบุอีกว่า หลังจากนี้สภาจะเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ใช่รัฐบาล เพื่อส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายในระยะเวลา 15 วัน และ กกต. จะตอบกลับมาภายใน 10 วัน จากนั้นสภาจะพิจารณาใหม่ แต่หากไม่ส่งให้ กกต. พิจารณา จะสามารถนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลยหรือไม่ ตนก็ยังสงสัยในข้อกำหนดนี้ เพราะข้อกำหนดที่เขียนไว้ว่าต้องส่งให้ กกต. เขียนไว้สำหรับกรณีที่สภาได้พิจารณาเสร็จแล้ว แต่กรณีนี้เมื่อใช้ร่างของรัฐบาลซึ่งเป็นร่างของ กกต. เดิมตั้งแต่เริ่มต้น ก็ไม่รู้ว่าจะส่งให้ กกต. พิจารณาอีกครั้งทำไม แต่ก็สามารถที่จะส่งให้ กกต. พิจารณาได้โดยไม่ต้องกำหนดเงื่อนไขเวลา ซึ่งสภาจะมีเวลา 3 วันในการพิจารณา รัฐบาลมีระยะเวลาพิจารณา 5 วัน และมีระยะเวลาในการขึ้นทูลเกล้าฯ อีก 20 วัน รวมเป็น 25 วัน ดังนั้นจะต้องบริหารจัดการให้ได้ตามกรอบระยะเวลานี้ ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในกรอบระยะเวลา 90 วัน
ส่วนที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าถึงเวลานั้นผู้มีสิทธิก็สามารถไปยื่นได้ในห้วงเวลาของสภา 3 วัน รัฐบาล 5 วัน หรือ 20 วันก็ได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเงื่อนกรอบระยะเวลาในการวินิจฉัย แต่รัฐบาลจะต้องไม่ส่งทูลเกล้าฯ ก่อนกรอบพิจารณา 5 วัน แต่หากศาลรัฐธรรมนูญตีตกในสาระสำคัญก็ต้องมาพิจารณาเริ่มต้นใหม่ โดยหากตกเป็นบางมาตราก็ให้นำมาตรานั้นออกไป แต่หากเป็นมาตราสำคัญ กกต. จะต้องเป็นผู้จัดทำขึ้นมาใหม่
ทั้งนี้ วิษณุยังระบุอีกว่า อย่าคาดเดาว่า พ.ร.ป. ฉบับนี้จะไม่แล้วเสร็จทันเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2566 เนื่องจากการทำใหม่ก็แค่นำฉบับเดิมมาจัดทำใหม่ ไม่ได้ยากอะไร พร้อมกับระบุว่า 3 วันก็เสร็จ
ส่วนกรณีที่หากไม่มีกฎหมายสำหรับการเลือกตั้ง กรอบระยะเวลาในการรักษาการของนายกรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไร วิษณุระบุว่าเป็นคนละเรื่องกัน โดยหากการเลือกตั้งใหม่นั้นเกิดจากการยุบสภา จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่หากเกิดจากกรณีที่สภาหมดอายุ จะใช้กรอบระยะเวลา 45-60 วัน ส่วนหากไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับ ก็สามารถให้ยื้อการรักษาการออกไปจากกรอบระยะเวลานั้นได้ เนื่องจากมีกรอบระยะเวลา 60 วัน และเมื่อเลือกตั้งเสร็จจะต้องรอการประกาศผลอย่างเป็นทางการอีก 2 เดือน ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลก็ยังคงต้องรักษาการอยู่ รวมไปถึงมีระยะเวลาอีก 1 เดือนระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลและถวายสัตย์ปฏิญาณหลังจากนั้น รัฐบาลรักษาการจึงจะพ้นจากตำแหน่งไป
วิษณุยังชี้แจงอีกว่า ต่อให้ไม่มีกฎหมายลูกฉบับใด กรอบระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งรัฐบาลก็ยังคงเป็นไปในลักษณะนี้ สำหรับการเลือกตั้งก็มีไว้เฉพาะสำหรับการเลือกตั้ง และกรอบระยะเวลายังคงเดินต่อไปโดยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับกฎหมายลูก
โดยวิษณุไม่ขอแสดงความคิดเห็นถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การที่สภาล่มในการพิจารณากฎหมายลูก โดยขอให้สังคมวิจารณ์กันไป ตนจะมาวิจารณ์ต่อได้อย่างไร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สภาดูไม่สง่างามโดยใช้วิธีแบบนี้หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ขอให้ไปถามคนที่เกี่ยวข้องก็แล้วกัน ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายไหนที่ทำให้สภาไม่ครบองค์ประชุม