วันนี้ (4 มิถุนายน) วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปดูห้องทำงานที่ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) โดยทันทีที่วิษณุเดินทางมาถึงได้เปรยกับผู้สื่อข่าวว่า “เหมือนกลับบ้าน” พร้อมกับระบุว่า ตนเคยเข้า-ออกทำงานที่นี่มา 30 กว่าปีแล้ว ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ ตื่นเต้น หรือโลดโผน ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและให้คำปรึกษาตามที่ได้รับมอบหมาย อนุญาตให้เข้าประชุม ครม. ได้ และมีประเด็นบางอย่างที่นายกรัฐมนตรีสั่งและเป็นที่ถกเถียงระหว่างหน่วยงานต่างๆ และทำหน้าที่เช่นเดียวกับที่ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยทำก่อนเข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตรวจคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี 40 สว. ยื่นคำร้องตรวจสอบหลังแต่งตั้งพิชิตเป็นรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า หนีไม่พ้น จะต้องมีอย่างแน่นอน แต่คนที่ทำคือทีมงานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งพิชิตก็เป็นหนึ่งในทีมงาน เพราะเป็นเรื่องของพิชิต ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ทราบ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและ สลค. ก็ทำตามที่เสนอมาและนำมารวมกัน คงจะให้ตนตรวจดูสักครั้งหนึ่ง และอาจให้คนอื่นตรวจอีกครั้ง ซึ่งเท่าที่ทราบมีการร่างฉบับแรกเสร็จแล้วและจะให้ตนดูวันนี้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีลงนามก่อนส่งไปยังให้ทันตามกรอบเวลา และไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากอาจเสียรูปคดี
ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่าผลของคดีอาจ 50/50 วิษณุกล่าวว่า “ไม่ทราบ ผมจะมายืนยันได้อย่างไรว่าแพ้แหงๆ”
ส่วนที่วิเคราะห์กันว่า การกลับมาครั้งนี้มีอะไรนอกเหนือหรือไม่ เนื่องจากผ่านวิกฤตด้านสุขภาพมา วิษณุยอมรับว่า คิดหนักอยู่แล้ว เหมือนคนไม่เจียมตัว แต่เห็นใจนายกรัฐมนตรีที่อธิบายเหตุผลหลายอย่างให้ฟัง ก็คิดว่ามาช่วยท่านสักระยะ ไม่น่าทำให้ตัวเองเกิดอันตรายอะไร และไม่น่าเป็นผลเสียต่อประเทศชาติ ซึ่งไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะเป็นที่ปรึกษาธรรมดา และนายกรัฐมนตรีมีที่ปรึกษาทางการเมือง 5 ตำแหน่ง มีเงินเดือน ส่วนตนเป็นที่ปรึกษาลอยๆ ไม่ใช่ที่ปรึกษาทางการเมือง และส่วนใหญ่ตนจะอยู่ที่บ้าน มีเพียงวันอังคารที่จะเข้ามา ไม่มีห้องทำงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจปรึกษาหรือมอบให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีปรึกษา เพื่อยืนยันให้ท่านมั่นใจในบางเรื่อง
เมื่อถามว่า จะช่วยงานนายกรัฐมนตรีจนครบวาระรัฐบาลหรือเป็นไปตามภารกิจ วิษณุกล่าวว่า อนาคตตนไม่ทราบ แต่เท่าที่คุยกับนายกรัฐมนตรีคือเข้ามาช่วยเพียงบางภารกิจ
เมื่อถามว่า การมารับตำแหน่งในขณะที่เงินและเกียรติยศก็มีแล้ว ยังต้องการอะไร วิษณุระบุว่า “ผมคิดว่าประเทศชาติน่าจะต้องการคนช่วยแก้ปัญหา คนเล็กๆ คนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหารัฐบาลในบางเรื่องที่รัฐบาลมีข้อสงสัย สมัยที่คุณพิชิต หรือแม้ไม่ใช่คุณพิชิต ใครก็ตามที่อยู่เขาก็ช่วยได้ ผมก็มาทำหน้าที่แทน ไม่ได้ต้องการเงิน ไม่ได้ต้องการเกียรติยศ เพราะเกียรติศักดิ์ของการเป็นรองนายกฯ แล้วมานั่งเป็นที่ปรึกษาแบบนี้ สมัยผมเป็นรองนายกฯ ตั้งเป็น 10 คน”
วิษณุระบุว่า การตัดสินใจมาทำหน้าที่เป็นการตัดสินใจต่อหน้านายกรัฐมนตรี และได้พูดคุยว่าอะไรที่ตนทำได้หรือไม่ควรทำ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับมอบหมายงานแต่อย่างใด และนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ขอคำปรึกษาเรื่องใดเป็นพิเศษ ส่วนเงื่อนไขการรับตำแหน่งมีเงื่อนไขเพียงเล็กๆ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับตน ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว
โดยวิษณุยืนยันว่า การกลับมาทำงานครั้งนี้ไม่ใช่การลงเรือแป๊ะ เพราะแป๊ะขึ้นไปแล้ว แต่อันนี้เศรษฐีมา ไม่ใช่แป๊ะ ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรไม่ขอเปรียบเทียบ เพราะตนไม่ได้อยู่ในรัฐบาล ไม่เรียกว่าร่วมรัฐบาล
ส่วนที่เคยเตือนรัฐบาลชุดก่อนเปรียบเหมือนสนิมเหล็กเนื้อใน แล้วรัฐบาลนี้จะมีการเตือนหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ไม่ต้องเตือนรัฐบาลนี้ เพราะฝ่ายการเมืองเขาเตือนกันเอง
ส่วนกรณีที่มีการออกมาระบุว่า รัฐบาลชุดนี้มีแต่คนไม่รู้คุยกันกับคนไม่รู้ แล้วใน ครม. นี้มีคนไม่รู้ทำอะไรไปแล้วบ้าง วิษณุกล่าวว่า ไม่มี สื่อมวลชนเป็นคนวิจารณ์กันเอง แต่ที่บอกว่าไม่รู้ ไม่ใช่ไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่เป็นการรู้เพียงเรื่องของตนเอง ไม่รู้เรื่องคนอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่โต
วิษณุยืนยันว่า ตนมาร่วมประชุม ครม. เฉพาะวันอังคาร เวลา 11.00-12.00 น. จะไปมีอำนาจอะไร ซึ่งหากทักท้วงอะไรก็สามารถทำได้ ซึ่งในแต่ละรัฐบาลไม่แปลกที่จะมีคนนอกมานั่ง แต่มานั่งเฉยๆ ไม่ได้ท้วง หากมีอะไรผิดพลาดก็สามารถโน้ตเตือนได้ และนั่งเพื่อวันหนึ่งหากเกิดคดีความก็จะช่วยจด ช่วยจำ เป็นพยาน เพราะบางคดีต้องการคนนอกที่ไม่มีส่วนได้เสีย
ส่วนที่มีกระแสต้านจากคนในพรรคเพื่อไทยกรณีมารับตำแหน่ง วิษณุกล่าวว่า “ก็ไม่เดือดร้อน ต้านมากๆ ผมก็ไม่อยู่ ไม่แปลก เพราะผมไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย ปกติถ้าวันอังคารผมอยู่บ้านนอน”
ส่วนการที่มาช่วยงานรัฐบาลจะการันตีว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องของตน และตนไม่ได้อยู่ในรัฐบาล ส่วนที่เข้ามาดูเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทในดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้
วิษณุยังกล่าวถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า ไม่ใช่ความพยายามของรัฐบาล แต่เป็นรัฐสภาที่พยายามและต้องส่งมาให้รัฐบาลดู และขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการหรือพูดอะไร แต่เป็นเรื่องปกติที่จะมีร่างประกบ หากร่างฯ ของรัฐบาลนั้นต่างจากร่างฯ ของ สส. ส่วนมีโอกาสที่จะรวมคดีมาตรา 112 ลงใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือไม่ ตนไม่รู้