×

วิโรจน์เผย กมธ.การทหารเชิญกองทัพเรือแจงปมเปลี่ยนการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต 26 ต.ค. นี้ ชี้ประชาชนควรได้รู้ข้อมูลและค่าเสียหายทั้งหมด

โดย THE STANDARD TEAM
24.10.2023
  • LOADING...

วันนี้ (24 ตุลาคม) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร ประจำสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณี กมธ.การทหาร เชิญกองทัพเรือชี้แจงประเด็นการยกเลิกการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนเปลี่ยนเป็นเรือรบฟริเกต ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคมนี้

 

วิโรจน์กล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับภาษีประชาชน ความเสียหายไม่ใช่แค่เงิน 7,000 ล้านบาทที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้ว แต่มีมากกว่านั้น เช่น ประชาชนต้องการรู้ว่าโครงการที่เกี่ยวข้องกับท่าจอด การฝึกอบรม อาคาร หรือระบบอำนวยการต่างๆ ที่ตั้งงบไว้ประมาณ 11,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปแล้วเท่าไร เรือหลวงช้างที่บอกว่าเป็นเรือยกพลขึ้นบก เป็นเรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำ ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง ถ้ายุติการซื้อเรือดำน้ำแล้วจะทำอย่างไรกับเรือหลวงช้าง

 

สำหรับประเด็นที่ทาง กมธ.การทหาร จะถามกองทัพเรือนั้น คำถามแรกคือกรณีที่สหภาพยุโรปมีข้อตกลงห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้จีนหลังเกิดเหตุที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นเรื่องที่ทูตทหารพึงรู้ จึงต้องตั้งคำถามว่าก่อนการลงนามซื้อเรือดำน้ำในปี 2560 ทางการไทยได้ทำหนังสือไปขอคำยืนยันจากทางประเทศจีนหรือไม่ หรือเป็นการลงนามที่หละหลวม คำถามที่สองคือมูลค่าความเสียหายทั้งหมดรวมเป็นเท่าไร และคำถามที่สาม ในสัญญามีการระบุรายละเอียดเรื่องการขอคืนเงินไว้หรือไม่ กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือต้องบอกเรื่องนี้ต่อประชาชนก่อน ส่วนการปรับหรือการขอคืนเป็นสินค้าอย่างอื่นสามารถพิจารณากันได้ภายใต้กรอบกฎหมายและเหตุผล คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เชื่อว่าทางจีนก็ไม่อยากเอาเปรียบเรา

 

วิโรจน์กล่าวต่อว่า กรณีจะเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตนั้นเราสามารถเปลี่ยนไม่ให้ตัวเองเสียเปรียบได้ เพราะข้อเท็จจริงคือเรือฟริเกตมีหลายสเปก ต้องพิจารณาว่าอุปกรณ์ติดตั้งภายใน การสื่อสารภายในกองเรือกับเรือลำอื่นจะมีอุปสรรคหรือไม่ การลงทุนทำระบบอำนวยการการสื่อสารระหว่างเรือที่ต่างสัญชาติทำได้หรือไม่ ไม่ใช่เรือในกองเรือเดียวกันคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็จะมีปัญหาความมั่นคงอีก สำคัญที่สุดคือการสำรองอะไหล่ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเป็นอย่างไร เพราะหากมีเรือรบหลายรุ่นหลายผู้ผลิต ก็ต้องมีวิธีบำรุงรักษาแตกต่างกัน

 

“คุณสุทินได้อ่านหนังสือปกขาวที่ระบุยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือแล้วหรือยัง ที่บอกไว้ชัดเจนว่าจะสร้างกองทัพเรือที่กะทัดรัดและทันสมัย ลดการสร้างกองทัพที่ประกอบด้วยเรือหลายรุ่นหรืออาวุธหลายแบบ เพราะลำบากในการบำรุงรักษาและการสื่อสารกันเอง” วิโรจน์กล่าว

 

วิโรจน์กล่าวต่อว่า จากที่ได้หารือกับสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ ทราบว่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) บริษัทไทยสามารถต่อเองได้ ดังนั้นเชื่อว่าถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล มีการร่วมมือกันระหว่างกรมอู่ทหารเรือและบริษัทเอกชนของคนไทย การต่อเรือฟริเกตก็คงทำได้เช่นกัน จึงขอแนะนำให้ รมว.กลาโหม ศึกษาแนวคิดด้าน Economics of Defense หรือเศรษฐศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศว่าจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินที่ใช้กับการป้องกันประเทศสามารถสร้างประโยชน์โพดผลทางเศรษฐกิจ เป็นประโยชน์กับปากท้องประชาชนในระยะยาว

 

“ขอตำหนิในฐานะกัลยาณมิตรว่ารัฐบาลนี้จะเป็นอะไรกันนักกันหนา คำว่าสังคายนาก็พูดไม่ได้ ต้องเรียกว่าแก้ทีละเรื่อง ปฏิรูปก็พูดไม่ได้ ต้องบอกว่าพัฒนาร่วมกัน ล่าสุดผิดสัญญาก็พูดไม่ได้ ต้องพูดว่าเขาไม่สามารถทำตามข้อตกลง ขออย่าทำเรื่องนี้เป็นเรื่องลึกลับดำมืด ถ้าเปิดเผยประชาชนจะช่วยคลี่คลายหาทางออกที่เหมาะสม ไม่ทำให้ประเทศเสียเปรียบ และไม่กระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะเชื่อมั่นว่าประเทศจีนเองไม่ได้ต้องการให้เกิดปัญหานี้เช่นกัน เรื่องนี้ควรพูดคุยอย่างกล้าหาญ ตรงไปตรงมา เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส” วิโรจน์กล่าว

 

วิโรจน์กล่าวอีกว่า ในการประชุมยังมีวาระอื่นๆ ให้กองทัพเรือชี้แจง ได้แก่ กรณีกระสุนหายกว่าหมื่นนัด และกรณีเรือหลวงสุโขทัย ซึ่ง ณ วันนี้ยืนยันว่าหากงบประมาณไม่ได้สูงเกินไปและมีความสมเหตุสมผล ควรต้องกู้เรือขึ้นมา อย่าให้ความลับจมลงสู่ก้นทะเล ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร เป็นปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบ การบำรุงรักษา หรือการทุจริต หากรู้สาเหตุจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีกในเรือลำอื่นๆ ได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X