วันนี้ (20 มิถุนายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในประเด็นของการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในด้านความมั่นคง
งบกลาโหมสะท้อนความไม่ตั้งใจพัฒนากองทัพ
วิโรจน์อภิปรายถึงประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่สะท้อนถึงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ จะพบว่ากระทรวงกลาโหมมีอัตราการเบิกรายจ่ายลงทุนต่ำอย่างน่าเป็นห่วง สะท้อนถึงอาการของ ‘โรคไม่ตั้งใจส่งเสริมความมั่นคงของประเทศให้สอดรับกับบริบทของภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกใบนี้’
ปัญหาลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด ตนเองเคยอภิปรายเรื่องนี้ร่วมกับ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ในตอนนั้นเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งปัญหานี้ย้อนไปตั้งแต่งบประมาณของกระทรวงกลาโหมในปี 2566
วิโรจน์ชี้ว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กระทรวงกลาโหมขาดงบมาพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ คืองบบุคลากรที่มีสัดส่วนสูงมาก แม้ในภาพรวมจะลดลงแล้ว แต่ไม่ได้เกิดจากการปรับปรุงโครงสร้างภายในของกระทรวงเลย โดยงบบุคลากรลดลงเพียง 2,500 ล้านบาท คิดเป็น 2.31% ขณะที่ภาพรวมทั้งกระทรวงได้งบประมาณเพิ่มขึ้น 2,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.31% และงบประมาณในภาพรวมก็เพิ่มขึ้นทุกเหล่าทัพ เมื่อเห็นการลดลงของงบบุคลากรแล้วอาจจะนึกดีใจคิดว่ากองทัพมีการปรับตัว แต่ขอยืนยันนี่เป็นการลดแบบธรรมชาติ ไม่ได้ลดจากการปรับปรุงโครงสร้างภายใน
วิโรจน์เผยว่า ท้ายสุดแล้วกระทรวงกลาโหมลดงบประมาณไปได้เพียง 34 ล้านบาท เป็นการลดแบบพอเป็นพิธี เพราะกลัวฝ่ายค้านด่า เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเคยยอมรับกลางสภามาแล้วแบบไม่กระมิดกระเมี้ยนว่ากลัวก้าวไกล
“จริงๆ ผมแอบภูมิใจนะที่ผมเป็นประธานคณะกรรมาธิการการทหารที่สามารถสร้างความหวาดกลัวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ถึงเพียงนี้ มือผมนี่สั่นเลยครับ รอรับพวงมาลัยจากท่านเลย ผมอยากบอกท่านรัฐมนตรีด้วยว่าคราวหลังเอาพวงมาลัยมาแลกกับวิโรจน์ อย่าเอาไปให้กับคนที่เขาไม่อยากรับเลย”
วิโรจน์อธิบายว่า งบบุคลากรลดลงเพราะกำลังที่รับบรรจุช่วงสงครามเย็นที่ทยอยครบกำหนดเกษียณในช่วงเวลานี้พอดี ไม่ได้เกิดจากความพยายามของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี แต่แทนที่จะรีบเปลี่ยนผ่านให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ควบรวมหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ทำ และเคยได้รับคำชี้แจงในคณะกรรมาธิการการทหารว่ากำลังพิจารณาอยู่ แต่จะเป็นทางการในช่วงปี 2570 ซึ่งประจวบเหมาะกับการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกองทัพก็อาจจะไปต่อรองขอขยายความอ่อนแอออกไปอีก
“จะชวนนายทหารระดับสูงมายืนพนมมือแล้วบริกรรมคาถาหรือครับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัตว์ปีกทั้งหลายที่ไม่อยากเวียนว่ายตายเกิด จบลงด้วย แล้วทุกอย่างจะดีเอง สาธุ อย่างนั้นหรือครับ” วิโรจน์กล่าว
นอกจากนี้โครงการ Early Retire ก็ไม่ปรากฏในงบ 2568 และการลดจำนวนนายพลลงครึ่งหนึ่งก็เป็นไปอย่างต้วมเตี้ยม กว่าจะครบตามเป้าหมายคือเหลือ 284 นาย ก็ต้องรอถึงปี 2571 และถ้าไม่คิดควบรวมหน่วยงานที่ซับซ้อนในกระทรวงกลาโหม นายพลอีก 965 นายก็จะดำรงอยู่ต่อไป
งบซ่อมบำรุงยานเกราะไม่เท่ารถประจำตำแหน่งนายพล
ขณะที่งบประมาณซ่อมบำรุงของกองทัพบก พบว่างบประมาณในการจัดหาสิ่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนซ่อมคงคลังหรือเงินซื้ออะไหล่ กลับลดลง 580 ล้านบาท จากงบปี 2567 จึงเชื่อได้ว่ายานเกราะจำนวนมากที่นอนรออะไหล่นานแรมปีก็ยังต้องรอต่อไป โดยเฉพาะยานเกราะล้อยางที่มีความสำคัญ กลับได้รับงบเพียง 40 ล้านบาท จะทำให้กองทัพสามารถรักษาสภาพยานเกราะให้มีความพร้อมใช้ 2 ใน 3 ได้อย่างไร
และเมื่อนำงบซ่อมยานเกราะล้อยาง งบการจ้างซ่อมของกองทัพบก มารวมกัน 195 ล้านบาท แล้วเทียบกับงบประมาณประจำตำแหน่งของนายพล 550 ล้านบาทต่อปี สะท้อนถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อความกินหรูอยู่สบายของบรรดานายพลที่ไม่คำนึงถึงการปฏิบัติงานของทหาร มากกว่าการจัดสรรงบประมาณเพื่อความมั่นคง
สำหรับงบประมาณในการฝึกศึกษาทางการทหารมารวมกับงบในการเตรียมกำลังพลป้องกันประเทศเป็น 2,747 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากงบปี 2567 มา 582 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพราะอะไร เพิ่มเพราะเกี่ยวข้องกับการฝึกการปฏิบัติภารกิจร่วมกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีงบเกี่ยวกับโดรนหรือแอนตี้โดรนหรือไม่ หากไม่มีจะเพิ่มได้อย่างไร ในเมื่อยอดการเกณฑ์ทหารลดลง ยอดบุคลากรก็ลดลงเช่นกัน
“กองทัพจะไม่มีพื้นที่ทางการคลัง ไม่มีงบประมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ ไม่มีงบลงทุนในเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จะทำให้กองทัพอ่อนแอในระยะยาว มีเพียงความพร้อมในการก่อการรัฐประหาร และประหัตประหารชีวิตประชาชนเท่านั้นเอง” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์ยังทิ้งท้ายว่าประชาชนควรจะคาดหวังกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่าจะสามารถเปลี่ยนผ่านให้กองทัพอยู่ภายใต้พลเรือน แต่ที่ผ่านมางบประมาณไม่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญได้เลย
“รัฐมนตรีพลเรือนกลับเป็นเพียงหุ่นเชิด เป็นโฆษกคอยแก้ต่างให้กองทัพ ดำเนินนโยบาย ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ของ พล.อ. ประยุทธ์ อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อาจจะทำได้ดีกว่า พล.อ. ประยุทธ์ ทำเองด้วยซ้ำ น่าผิดหวังมากที่คุณสุทินไม่สามารถโอบรับความหวังของประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้เลย” วิโรจน์ทิ้งท้าย
แนะรัฐบาลใช้ดาวเทียมด้านการทหาร
หลังจากนั้น ชยพล สท้อนดี สส. กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า งบประมาณของประเทศจะจัดสรรให้ดีก็ต้องจัดสรรให้มียุทธศาสตร์ มีตัวชี้วัดประสิทธิภาพ และมีแผนงานระยะยาว การใช้เงินถึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องอาศัยยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณ
ชยพลเสนอให้กระทรวงกลาโหมมีความกล้าหาญ พากองทัพเดินหน้า ตั้งเป้าหมายการพัฒนาในด้านที่กองทัพไทยยังขาดอยู่ โดยใช้กลไกของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพราะฉะนั้นเราควรเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาอาวุธสัญชาติไทยให้เกิดขึ้นจริง และตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนยกระดับคุณภาพอาวุธสัญชาติไทย โดยมีตัวชี้วัดคืออัตราการก้าวหน้าของสัดส่วนการบรรจุอาวุธสัญชาติไทยเข้าประจำการในกองทัพ จนเป้าสุดท้ายคือการส่งออกอาวุธให้กับประเทศอื่นๆ ต่อได้ในอนาคต
ถ้าเราดูสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณในปี 2568 งบที่ถูกใช้ไปกับการซื้อหรือซ่อมยุทโธปกรณ์ของทุกหน่วยงานรวมกันมีสัดส่วนอยู่ที่ 11% ส่วนงบที่ใช้เพื่อการวิจัยและพัฒนามีเพียง 0.37% เท่านั้น ต่างจากประเทศอื่นที่ใช้งบประมาณจำนวนมากในการพัฒนา ดังนั้นการตั้งเป้าหมายในการจัดสรรงบประมาณถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และที่สำคัญเลยคือต้องมีวิสัยทัศน์ ตั้งเป้าหมายที่จะพาประเทศขยับไปข้างหน้าอีกด้วย
“สิ่งที่จะเป็นตัวตัดสินสำคัญคือระยะที่ไกลกว่าที่ตามองเห็น ซึ่งตัวแปรสำคัญของสิ่งนี้คือการตรวจจับเป้าหมายที่เร็วกว่าและไกลกว่าข้าศึก เพราะฉะนั้นการหาข่าว การสอดแนม และการหาเป้าหมายระยะไกล จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และสิ่งเหล่านี้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพคือเครือข่ายดาวเทียม” ชยพลกล่าว
ชยพลชี้ว่าประเทศไทยยังไม่มีระบบการปกป้องเครือข่ายดาวเทียมของเราเลย สิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้คือความร่วมมือระหว่างเรากับประเทศพันธมิตรในการช่วยกันแจ้งเตือนว่ามีดาวเทียมดวงไหนของใครเข้าใกล้เครือข่ายดาวเทียมของเราบ้าง เพราะชาติพันธมิตรเรามีเครือข่ายในการติดตามความเคลื่อนไหวของดาวเทียมทุกดวงทั่วโลก ก็จะพยายามช่วยเราสอดส่องอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นการติดตามใกล้ชิดขนาดนั้น เป็นเพียงการแจ้งเตือน
จากทั้งหมดนี้เราสามารถนำความต้องการในการซื้อของกองทัพ หรือก็คืองบซื้อซ่อม หันมาสร้างเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ เพียงแต่เราปรับนโยบายการบริหาร และการใช้จ่ายงบประมาณกันใหม่ ตรงส่วนไหนที่สามารถยกให้เอกชนไทยทำแทนได้ ก็ควรต้องยกไปเพื่อให้เอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการแข่งขันและเติบโต จากงบประมาณของกระทรวงกลาโหมและในส่วนที่เอกชนไทยสามารถทำได้แล้ว
“ผมเพียงอยากขอให้ทุกท่านกล้าที่จะฝัน กล้าที่จะมองเห็นความเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเราเคยมีสิทธิ์จะขึ้นรถไฟขบวนแรกกับหลายต่อหลายอุตสาหกรรม จะเป็นเรื่องข้าว การเกษตร ยานยนต์ อุตสาหกรรมหนัก สิ่งทอ หรืออื่นๆ แต่เราก็ค่อยๆ ถอยร่นลงมาจากการเป็นผู้นำ กลายเป็นต้องเล่นเกมของผู้ตามแทน” ชยพลกล่าว