×

วิโรจน์เสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหายาเสพติด จับรายใหญ่นำเงินมาลงทุนกับการบำบัดฟื้นฟู

โดย THE STANDARD TEAM
12.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (12 กันยายน) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายถึงปัญหายาเสพติดแ ซึ่งเป็นภัยสังคมที่กำลังคุกคามคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างแสนสาหัส และส่งผลร้ายในระยะยาว หรืออาจข้ามชั่วอายุคนก็ได้ โดยเฉพาะยาบ้า

 

วิโรจน์มองว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นความชัดเจนใดๆ ในการจัดสรรงบประมาณและการปฏิบัติอย่างครบวงจรจากรัฐบาลชุดแล้ว จนมาถึงคำแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังไม่เห็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ

 

“การตั้งเป้าแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาลชุดที่แล้วที่ทำแบบสุกเอาเผากิน สั่งอย่างเดียว จะเอางานเร็ว แต่เงินไม่จ่าย แล้วการแก้ไขปัญหาจะคืบหน้าได้อย่างไร หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ แพทองธาร ชินวัตร จะได้บทเรียน และไม่ทำเช่นนั้นอีก” 

 

วิโรจน์เสนอว่า จำเป็นต้องคลายปมปัญหา 3 ปม หากเอาแต่จับผู้เสพรายเล็กรายน้อยเพื่อสร้างภาพ นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังจะทำให้ปัญหายาเสพติดลุกลามกระจายเป็นวงกว้าง ฝังรากลึกทำลายระบบเศรษฐกิจ จนกลายเป็นปัญหาสังคมที่ยากจะแก้ไข

 

ปมแรก การจับกุมผู้เสพและผู้ครอบครองไว้เพื่อเสพไปเข้าคุก จะเป็นการเติมแรงงานให้กับธุรกิจยาเสพติด แต่การแก้ไขปัญหานี้ต้องจับตัวใหญ่แล้วยึดทรัพย์ ส่วนตัวเล็กตัวน้อยเอาเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู อย่าหลอกประชาชนด้วยจำนวนคดีและจำนวนผู้ต้องหาที่เพิ่มมากขึ้น แต่เต็มไปด้วยผู้ต้องหาปลาซิวปลาสร้อย ขยายไปสู่ตัวใหญ่ไม่ได้

 

ดังนั้น มาตรการที่รัฐบาลควรมุ่งเน้นจึงไม่ใช่การจับกุมคุมขังเพื่อทำยอดคดี แต่ต้องมุ่งไปที่การสนับสนุนด้านงบประมาณในการทำงานร่วมกันกับชุมชน ภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อพาผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดด้วยความสมัครใจ จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่มีประสิทธิผลที่ดีกว่า

 

สำหรับปมที่สอง คือการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ ต้องมีความใส่ใจให้มากกว่านี้ เนื่องจากยังทำไม่ถึงขีดความสามารถที่มี สะท้อนการขาดการจูงใจ ให้ผู้ติดยาเสพติดรู้สึกปลอดภัย และสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู รวมถึงสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดก็มีไม่เพียงพอ

 

ดังนั้น หากต้องการให้ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดอย่างสมัครใจ รัฐบาลควรประกาศว่าสามารถใช้บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ได้ ไม่ใช่แค่สั่งอย่างเดียว ต้องจัดสรรงบประมาณด้วย แม้จะมีงบเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2567 แต่หากเทียบกับปี 2564 แล้วน้อยกว่ามาก เมื่อดูจากยาบ้าที่เป็นของกลางที่ยึดได้ 

 

“รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการบำบัดฟื้นฟูให้มากกว่านี้ เพื่อลดอุปสงค์ของยาเสพติดลงให้ได้ หากทำแต่ปาหี่ จับผู้เสพทำยอด จับแต่ไม่บำบัด คนที่ถูกจับก็วนกลับมาเสพที่ชุมชนไม่จบไม่สิ้น จับแล้วก็จับอีก พอส่งฟ้องศาล พอศาลรอลงอาญาก็ไม่มารายงานตัวกับสถานคุมประพฤติ สุดท้ายไม่แคล้วต้องจับติดคุก ยิ่งเป็นการส่งเสริมแรงงานให้กับวงการค้ายาเสพติด จากเด็กเดินยาพัฒนากลายมาเป็นพ่อค้ายาเสพติดเสียเอง” วิโรจน์กล่าว

 

ส่วนปมที่สาม คือรัฐบาลต้องใส่ใจกับการยึดอายัดทรัพย์เครือข่ายของพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ จึงจะตัดอุปทานของยาเสพติดอย่างได้ผล เนื่องจากพ่อค้ายาเสพติดไม่กลัวการติดคุก เพราะมีเครือข่ายในการลำเลียงและจำหน่ายอยู่หลายทอด พอถูกจับทีไรหัวขบวนก็หาคนมาติดคุกแทนได้ หรือต่อให้ติดคุกก็ไปเป็นขาใหญ่ในคุก ได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ เพราะเงินซื้อได้ทุกอย่าง ซื้อความเป็นอภิสิทธิ์ชนได้ทุกที่ แม้กระทั่งที่เรือนจำ

 

“คนเหล่านี้รู้อยู่แล้วว่า การค้ายาเสพติดเป็นอะไรที่เสี่ยงมาก แต่ความมั่งคั่งจากเงินสกปรกเหล่านี้มันหอมหวนและคุ้มค่าที่คนเหล่านี้จะเสี่ยง สมุนที่เคยรายล้อมคอยปรนนิบัติรับใช้ ตลอดจนโจรในคาบสีกากีบางกลุ่มบางก้อนที่ไม่ได้ซื่อสัตย์ภักดีอะไร แต่เป็นเพราะเงินสีดำหอมหวนจนต้องยอมขายวิญญาณมาเป็นทาสรับใช้เจ้าพ่อเครือข่ายยาเสพติด” วิโรจน์ระบุ

 

วิโรจน์มองว่า หากรัฐบาลดำเนินการยึดทรัพย์พ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่อย่างจริงจัง จะทำให้เงินในกองทุนป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดมีเพิ่มมากขึ้น และสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปสนับสนุนการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด การทำงานร่วมกับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“ผมขอย้ำว่า การจะแก้ไขปัญหายาเสพติด ท่านนายกฯ ต้องจับตัวใหญ่ ไม่ใช่จับตัวเล็กมาตีตราทำยอด ผู้เสพต้องได้รับการบำบัด ผู้ค้าต้องตามยึดทรัพย์ให้หมด กลายเป็นยาจกให้ได้ ถึงจะแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับประเทศนี้ได้” วิโรจน์ทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X