×

วิโรจน์จับตาคืบหน้าตั๋ว P/N 9 ฉบับของแพทองธาร และปมที่ดินเทมส์ วัลลีย์ มอบรังสิมันต์ยื่นเอาผิดกรณีชั้น 14

โดย THE STANDARD TEAM
21.04.2025
  • LOADING...
wiroj-pn9-paetongtarn-case

วันนี้ (21 เมษายน) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน แถลงถึงการดำเนินการภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทั้งทางด้านกฎหมาย และกระบวนการต่างๆ โดยระบุว่า เมื่อพวกเราหารือกันแล้ว จะมีการดำเนินการ 3 เรื่องด้วยกัน คือ 

 

1.กรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว P/N จำนวน 9 ฉบับ โดยที่ไม่มีการกำหนดการชำระเงิน และไม่มีดอกเบี้ย สร้างกระบวนการให้ดูเสมือนว่า เป็นการซื้อหุ้นจากคนในครอบครัวและเครือญาติ ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเจตนาที่แท้จริงที่จะหลีกเลี่ยงชำระภาษีการรับให้

 

หากพิจารณาด้วยความสุจริต พฤติการณ์ในลักษณะนี้ ประชาชนทุกคนคงเข้าใจได้ว่า น่าจะเป็นการทำนิติกรรมอำพราง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้นำของประเทศ และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐด้วย 

 

วิโรจน์ยืนยันว่า กรณีข้างต้นตรวจสอบได้ไม่ยาก ซึ่งหลายๆ อย่าง ก็จะเป็นพยานหลักฐาน ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า นายกรัฐมนตรีมีเจตนาในการซื้อหุ้นจริง หรือเป็นเพียงการจัดฉาก เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเท่านั้น 

 

พรรคประชาชนเชื่อว่า หากคณะกรรมการ วินิจฉัยภาษีอากร พิจารณาเรื่องนี้ ด้วยความสุจริต และกล้าหาญ ที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยวินิจฉัยสอดคล้องกับหลักสากล พฤติกรรมดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีจะเป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และต้องมีการติดตามให้มีการชำระภาษีย้อนหลัง รวมถึงต้องมีการดำเนินการแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการไต่สวนในอีก 2 ประเด็นต่อไป และเราจะดำเนินการภายหลังคณะกรรมการภาษีอากรวินิจฉัยแล้วเสร็จ ทั้งเรื่องทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 172 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ป.ป.ช. และการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินโดยมีข้อความอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 167 ของ พ.ร.ป. ป.ป.ช. เพื่อให้มีการไต่สวนและชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรีต่อไป 

 

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรมีผลคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีเป็นการหลบเลี่ยงภาษี เราจะดำเนินการกับ ป.ป.ช. ในกรณีประพฤติมิชอบต่อไป ซึ่งก็ต้องดูว่า จะดำเนินการแบบคู่ขนานได้หรือไม่ หรือต้องรอผลวินิจฉัยของคณะกรรมการภาษีอากรก่อน

 

2.กรณีโฉนด 4 แปลงซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ เรายืนยันว่า พื้นที่นี้ ยังคงสถานะเป็นพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) สงวนไว้ เพื่อการรักษาทรัพยากรธร เป็นต้นน้ำลำธาร ซึ่งห้ามออกโฉนดโดยเด็ดขาด ตามข้อ 14 (5) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 รวมถึงมติ ครม. ที่อนุญาตให้ครอบครองเพื่อทำประโยชน์ แต่ไม่ใช่ให้กรรมสิทธิ์แต่อย่างใด จึงเป็นเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ที่ตั้งของโรงแรมเป็นการออกโฉนด โดยคลาดเคลื่อน หรือมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งพรรคประชาชนได้มีการยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนโฉนดดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเราจะติดตามกรณีนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป 

 

โดยขณะนี้ ยังไม่มีการร้องต่อ ป.ป.ช. แต่จะแกะรอยต่อว่า หากพบร่องรอยที่มีการสั่งการ หรือประพฤติมิชอบ จะดำเนินการต่อ ป.ป.ช. ตามกฎหมายต่อไป 

 

  1. ข้อสงสัยต่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นบิดาของนายกรัฐมนตรี ว่าได้รับอภิสิทธิ์เหนือผู้ต้องขังรายอื่น อันเป็นหลักการทำลายหลักนิติรัฐ ซึ่งกำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องมีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย และต้องอยู่ภายใต้บรรทัดฐานเดียวกันในการบังคับใช้กฎหมายของประเทศ และในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นบุตรสาวของทักษิณ จะต้องทราบถึงข้อเท็จจริงของอาการเจ็บป่วย รวมถึงการได้รับสิทธิ์ หรืออภิสิทธิ์ใดๆ ของผู้เป็นบิดาอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก 

 

วิโรจน์กล่าวต่อว่า เมื่อสังคมมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งข้อสงสัย ที่สะท้อนถึงความไม่สมเหตุสมผลต่างๆ ความไม่สอดคล้องของบริบทโดยรอบ ในการได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลของทักษิณ ตลอดจนความลักลั่นของการได้รับสิทธิของผู้ต้องขังรายอื่น นายกรัฐมนตรีแทนที่จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และชี้แจงต่อสาธารณะด้วยความสุจริตโปร่งใส กลับบ่ายเบี่ยงซ่อนเร้นและอำพรางข้อเท็จจริง ทั้งยังปล่อยให้ความคลุมเครือยังคงดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อหลักนิติรัฐ และหลักความเสมอภาคกันของกฎหมาย 

 

ดังนั้น พฤติกรรมดังกล่าวนี้ พวกเราได้พินิจพิเคราะห์แล้วว่า เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 172 ของ พ.ร.ป.ป.ป.ช. และกระทำความผิดตามมาตรา 11 (1) ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 

 

โดยพรรคประชาชน ได้มอบหมายให้ รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ดำเนินการร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวนและชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรีต่อไป และหากรายละเอียดครบถ้วน ก็จะมีการยื่นภายในสัปดาห์นี้ หรือไม่เกินสัปดาห์หน้า 

 

กลไกจริยธรรมสร้างวังวนนิติสงคราม

 

วิโรจน์กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่ต้องการให้พรรคประชาชน ใช้กลไกด้านจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นเครื่องมือในการจัดการกับนายกรัฐมนตรี ทั้งการเข้าชื่อกัน เพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 เพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 70 วรรค 1 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมาตรา 160 (4) ซึ่งว่าด้วยพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) รวมถึงข้อเสนอที่พรรคประชาชนจะดำเนินการตามมาตรา 235 (1) ประกอบมาตรา 234 (1) ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ ป.ป.ช. ไต่สวนกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อส่งเรื่องให้กับศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไป 

 

วิโรจน์ชี้แจงอย่างว่า เรื่องจริยธรรมบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ และยังแบกรับหน้าที่และความรับผิดชอบทางสาธารณะในระดับที่สูง หากถูกสังคมและประชาชน ตั้งคำถามถึงความมีจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง และไม่อาจชี้แจงข้อเท็จจริงได้จนสิ้นข้อสงสัย นายกรัฐมนตรีควรต้องมีหิริโอตตัปปะ มีความสำนึกในตัวเอง พิจารณาความเหมาะสมของตัวเอง และแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะด้วยการลาออกโดยสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นมรดกบาปของการทำรัฐประหาร ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และไม่มีการยึดโยงต่อเจตจำนงของประชาชน มาเป็นผู้ชี้นิ้วไล่ให้ออกจากตำแหน่ง เพราะจะเป็นการทำลายเกียรติภูมิของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ 

 

“การใช้ผ้าที่สกปรกถูกบ้าน ไม่อาจทำให้บ้านสะอาดขึ้นมาได้ การทำน้ำเน่าไล่น้ำเสีย ไม่อาจทำให้น้ำในคูคลองใสสะอาด พรรคประชาชน ยืนยันว่า เราจะไม่ใช้กลไกที่เราไม่ยอมรับความชอบธรรมในการจัดการกับสิ่งที่ไม่ชอบธรรมอย่างเด็ดขาด เพราะหากเราทำเช่นนั้น บ้านเมืองก็จะติดอยู่ในวังวนนิติสงครามที่คณะรัฐประหาร ได้วางหลุมพรางเอาไว้ และประเทศชาติจะไม่สามารถกลับคืนสู่ความเป็นนิติรัฐได้อีกเลย” วิโรจน์กล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม วิโรจน์เชื่อว่าบุคคลที่ดำรงนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ถืออำนาจรัฐในระดับสูง และเป็นประมุขของฝ่ายบริหารของประเทศ เมื่อพบช่องว่างทางกฎหมาย ที่กฎหมายไม่สามารถเอาผิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรมต่อสังคมได้ ย่อมต้องมีหน้าที่ปิดช่องว่างทางกฎหมายนั้น มิใช่ฉกฉวยโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมายนั้นเสียเอง 

 

“เรายังคงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี สำนึกในความดีความชั่วของตน และแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ในขณะที่ยังสามารถรักษาเกียรติภูมิของตำแหน่งผู้นำประเทศเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องรอให้กลุ่มบุคคลใดมาชี้หน้าว่าท่านไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จนต้องถูกไล่ออก เหมือนทรชนที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย” วิโรจน์ทิ้งท้าย 

 

วิโรจน์ย้ำว่า พรรคประชาชนจะใช้กลไกของ ป.ป.ช. และหน่วยงานราชการ อาทิ กรมสรรพากร และกรมที่ดิน ในการวินิจฉัยให้เกิดความเป็นธรรม และหากพบความทุจริตหรือความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น จะใช้กลไกของ ป.ป.ช. ดำเนินการกับนายกรัฐมนตรี 

 

“หลายคนบอกว่า ทำไมเราไม่ใช้หอกทมิฬแทงทมิฬ ทำไมเราไม่เอาให้สุดซอย อย่าไปสนใจวิธีการเลย จะจัดการกับใครทำไมต้องสนใจวิธีการ เราคิดอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าเราจัดการกับคนโดยที่ไม่สนใจวิธีการเลย เราก็ไม่แตกต่างจากคนเหล่านั้น” วิโรจน์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising