วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาด ทำประเทศเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่า 8.3 พันล้านบาท
ขณะที่ประเทศในอาเซียนเริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว เช่น อินโดนีเซีย เริ่มฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564, เมียนมาและลาว เริ่มฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา, กัมพูชาเริ่มฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรือตัวอย่างในกรณีของประเทศอิสราเอล ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 และฉีดได้ถึง 1 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 9 ล้านคน ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน จนได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดในโลก และประเมินกันว่าเศรษฐกิจของอิสราเอลจะฟื้นตัวทันทีในไตรมาสที่ 2 และจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตถึง 7% ขณะที่แผนฉีดวัคซีนของ พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทิน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
“ผมสงสัยว่าอนุทินคงจะรู้ตัวดีว่าตกเลข เพราะวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 บอกว่าฉีดได้เดือนละ 5 ล้านโดส ตกวันละ 170,000 โดส นี่คนยังสงสัยนะครับว่าทำได้จริงหรือเปล่า อยู่ดีๆ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ อนุทินคนเดียวกัน มาบอกว่าจะฉีดได้เดือนละ 10 ล้านโดส แค่ผ่านมา 4 วัน ศักยภาพในการฉีดเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็นวันละ 340,000 โดส เรื่องแบบนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มาพูดเพิ่มตัวเลขกันดื้อๆ ได้นะครับ ผมต้องถามอนุทินว่า อนุทินได้เตรียมระบบการแจกจ่ายวัคซีน เตรียมสถานที่ฉีดวัคซีน เตรียมบุคลากรเจ้าหน้าที่ผู้ฉีดวัคซีน เตรียมเข็มฉีดยา เตรียมระบบการลงทะเบียน และระบบการติดตามผล ไว้พร้อมหรือยัง ชี้แจงมา ผมยืนยันว่าที่ผ่านมา อนุทินคนนี้เป็นคนกลับกลอกเชื่อไม่ได้อยู่แล้ว ต้องถาม พล.อ. ประยุทธ์ ว่ากล้าเชื่อที่อนุทินพ่นว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเดือนละ 10 ล้านโดสหรือเปล่า ประชาชนเขาอยากรู้ใจจะขาดแล้วว่า เมื่อไรเขาจะสามารถกลับมาทำมาหากินได้เหมือนเดิม เขาจะได้มีเงินไปใช้หนี้ที่สุมท่วมหัวเสียที ถ้าเชื่ออนุทินก็ให้ พล.อ. ประยุทธ์ ให้คำมั่นกลางสภาเลย ถ้าทำไม่ได้จะได้ลาออกไปด้วยกันทั้งคู่ ทั้งหัวหน้าและลูกสมุน” วิโรจน์กล่าว
ตั้งคำถามทำไมไม่ซื้อวัคซีน Sinopharm ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ซื้อ Sinovac
วิโรจน์ยังกล่าวถึงกรณีการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาลด้วยว่า เมื่อรัฐบาลเลือกที่จะเอาเงินภาษี 1,228 ล้านบาท ไปซื้อวัคซีนจากจีนมาแก้ขัด แล้วเหตุใดถึงไม่ตัดสินใจซื้อวัคซีนจาก Sinopharm ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน และได้รับการขึ้นทะเบียนสำหรับใช้งานทั่วไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และมีผลการทดสอบเฟส 3 ในคน สูงถึง 79.34% และมีผลการทดสอบที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีประสิทธิภาพสูงถึง 86% และเป็นวัคซีนหลักที่ประเทศจีนใช้ฉีดให้กับประชาชน แต่ พล.อ. ประยุทธ์ กลับเลือกซื้อวัคซีน Sinovac ที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีนายทุนรายหนึ่งเข้าไปลงทุนด้วยเม็ดเงิน 1.54 หมื่นล้านบาท เพื่อถือหุ้น 15% ซึ่ง ณ ขณะที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้ซื้อวัคซีน Sinovac ในวันที่ 5 มกราคม 2564 วัคซีน Sinovac ยังไม่ได้มีผลการทดสอบในเฟส 3 แต่อย่างใด
ชี้ข้ออ้างไม่ร่วม COVAX ฟังไม่ขึ้น มุ่งกระจุกความเสี่ยงวัคซีนผลิตโดยเอกชนในไทย
วิโรจน์อภิปรายด้วยว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของรัฐบาลนี้คือการจัดหาวัคซีนจาก COVAX โดยประเทศไทยได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมกับ COVAX ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 กว่าที่จะมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อตกลงและเจรจาเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 กับ COVAX และทวิภาคี ก็ต้องรอจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2563 และหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรเลย จนกระทั่งวันที่ 5 ตุลาคม 2563 จากรายงานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 ซึ่งมีอนุทินเป็นประธานในที่ประชุม ก็ได้ปรากฏข้อความที่แสดงถึงความกังวลเอาไว้ว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องของระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการร่วมกับ COVAX ซึ่งไทยขอเลื่อนทำความตกลงมา 2 เดือนแล้ว ควรพิจารณาระยะเวลาการดำเนินการต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการได้มาซึ่งวัคซีน ซึ่งวันนั้นอนุทินเป็นประธานในที่ประชุม จะอ้างว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้ เว้นแต่ว่ามาเซ็นชื่อเอาเบี้ยประชุมแล้วหนีกลับบ้าน
นอกจากนี้วิโรจน์กล่าวว่า การที่อนุทินออกมาอ้างว่าที่ประเทศไทยไม่เข้าร่วม COVAX เป็นเพราะประเทศไทยเป็นประเทศฐานะปานกลาง คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วเหตุใดประเทศมาเลเซียที่มีรายต่อต่อประชากรสูงกว่าประเทศไทย ถึงตัดสินใจเข้าร่วม COVAX ประเทศที่ร่ำรวยอย่างแคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สวีเดน, นอร์เวย์, ประเทศในสหภาพยุโรปเกือบทั้งหมด แม้แต่จีนก็ยังเข้าร่วม ขนาดสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ยังตัดสินใจเข้าร่วม อะไรทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทิน ใจกล้าขนาดที่จะไม่ให้ประเทศไทยเข้าร่วม COVAX อย่างไรก็จะพาคนไทยไปกระจุกความเสี่ยง รอการผลิตวัคซีน AstraZeneca จากบริษัทเอกชนที่ไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน
“ผมอยากให้อนุทินเข้าไปดูที่เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก เขาเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ‘COVAX เป็นโครงการจัดหาวัคซีนระดับโลก ที่มุ่งทำให้ทุกๆ ประเทศเข้าถึงวัคซีนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกันโดยไม่จำกัดระดับรายได้ของประเทศ’ ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วม COVAX ไปแล้วถึง 172 ประเทศ โดยมีประเทศในอาเซียนเข้าร่วมถึง 9 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, บรูไน, กัมพูชา, พม่า, ลาว, อินโดนีเซีย ประเทศในอาเซียนที่ไม่เข้าร่วมกับ COVAX มีอยู่ประเทศเดียว นั่นก็คือประเทศไทย ประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ชื่อว่า อนุทิน ชาญวีรกูล” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์กล่าวด้วยว่า ข้ออ้างที่ออกมาบอกกันว่าหากประเทศไทยจะเข้าร่วม COVAX จะต้องนำเงินไปจ่ายล่วงหน้า ถ้าวัคซีนไม่สำเร็จก็จะไม่ได้เงินคืน จึงเกิดคำถามว่า เหตุใด พล.อ. ประยุทธ์ ถึงได้กล้าอนุมัติให้นำเอาเงิน 2,379 ล้านบาท ไปจองวัคซีนล่วงหน้ากับ AstraZeneca เงื่อนไขก็เหมือนกันคือ ถ้าวัคซีนไม่สำเร็จก็จะไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งในเวลานั้น AstraZeneca ยังไม่ทราบผลการทดลองของวัคซีนในเฟส 3 เลยด้วยซ้ำ กว่า AstraZeneca จะประกาศความสำเร็จในการทดลองในเฟส 3 ก็ต้องรออีก 6 วัน ซึ่งก็คือวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 และข้ออ้างที่อนุทินอ้างว่า หากจองวัคซีนกับ COVAX แล้ว จะเลือกวัคซีนไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว เพราะ COVAX จะมีหน้าที่ในการกระจายความเสี่ยงวัคซีนที่จะส่งมอบให้มาหลายๆ ยี่ห้อ และในกรณีที่ต้องการที่จะเลือกวัคซีนก็สามารถเลือกได้ ซ้ำร้ายแถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาหลอกลวงประชาชน โดยบอกว่าเงินจองซื้อวัคซีนกับ COVAX แบบเลือกผู้ผลิตไม่ได้ 1.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดสนั้นเป็นค่าธรรมเนียมกินเปล่า ทั้งๆ ที่ทาง COVAX ประกาศชัดว่า 1.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดสนั้นเป็นเงินจ่ายล่วงหน้า หรือ Upfront Payment ซึ่งแปลว่าเงินจ่ายล่วงหน้า หมายความว่าถ้าวัคซีนของจริงมาแพงกว่าก็จ่ายส่วนต่างเพิ่มเติม และถ้าจะจองแบบเลือกวัคซีนได้ ก็จ่ายล่วงหน้าแพงสักหน่อยคือ 3.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ที่เสียเปล่ามีแต่ค่าประกันความเสี่ยงในกรณีนี้แค่ 0.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดสเท่านั้น
“อนุทินอย่ามาอ้างว่า COVAX จะส่งมอบวัคซีนล่าช้า เพราะองค์การอนามัยโลกได้ประกาศเอาไว้ที่หน้าเว็บไซต์เมื่อวันที่ 22 มกรารคม 2564 ว่าได้เตรียมส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ประมาณ 150 ล้านโดส ประเทศในอาเซียนต่างได้รับการแจกจ่ายวัคซีนจาก COVAX กันถ้วนหน้า ผมอยากบอกให้อนุทินเข้าไปที่เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกบ้าง COVAX เขามีประมาณการเอาไว้อย่างชัดเจน ช้าตรงไหนไม่ทราบ โดย บรูไน 100,800 โดส, มาเลเซีย 1,624,800 โดส, สิงคโปร์ 288,000 โดส, กัมพูชา 1,296,000 โดส, อินโดนีเซีย 13,708,800 โดส, ลาว 564,000 โดส, เมียนมา 4,224,000 โดส, ฟิลิปปินส์ 5,617,800 โดส, เวียดนาม 4,886,400 โดส ส่วนประเทศไทย ‘ศูนย์ครับ’ เพราะอนุทิน และ พล.อ. ประยุทธ์ ตัดสินใจไม่เข้าร่วม COVAX กะจะพาประชาชนไปกระจุกความเสี่ยงที่วัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนที่เพิ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และน่าจะไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน” วิโรจน์ระบุ
วิโรจน์ยังอภิปรายย้ำด้วยว่า เจตนาของตนเองไม่ใช่ต้องการให้ประเทศไทยไปพึ่งพา COVAX ทั้งหมด แต่การที่ปฏิเสธ COVAX ไปเลย ทั้งๆ ที่มีถึง 172 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมกัน แต่รัฐบาลกลับเอาประชาชนทั้งประเทศไปเดิมพันกับวัคซีน AstraZeneca จะเอาแต่ AstraZeneca เจ้าเดียว แถมเป็น AstraZeneca Made in Thailand ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนที่เพิ่งรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมา และน่าจะไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อนเสียด้วย เป็นการกระทำที่เสี่ยงมากๆ
ยกหลายประเทศไม่ยอมให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีน AstraZeneca
วิโรจน์ระบุอีกว่า รัฐบาลยังให้ประชาชนที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีน AstraZeneca อยู่หรือไม่ เพราะที่ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และสวีเดน ประกาศไม่แนะนำให้ใช้วัคซีน AstraZeneca กับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และโปแลนด์กำหนดไว้ที่อายุ 60 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า วัคซีน AstraZeneca มีจำนวนผลการทดสอบวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มากพอ โดยพบว่ามีข้อมูลการทดสอบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี แค่ 12% เท่านั้น และมีการนำเอาผลการทดสอบในกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่มีวิธีการฉีดวัคซีนต่างกันมาประมวลผลรวมกัน ถึงขนาดที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ประเทศเยอรมนี มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเยอรมนีไม่อนุญาตให้ใช้วัคซีน AstraZeneca กับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และประเทศอื่นในยุโรป เช่น เดนมาร์ก เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ต่างก็ทยอยกันออกมาประกาศจำกัดการใช้วัคซีน AstraZeneca ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ถึง 11.82% หรือจำนวน 7.87 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วัคซีนถึง 15.74 ล้านโดส
“ถ้าไม่เอา AstraZeneca จะไปเอาวัคซีนอื่นที่ไหน Sinovac ก็มีแค่ 2 ล้านโดส COVAX ก็ไม่เข้าร่วม คือ พล.อ. ประยุทธ์ จะบังคับให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ต้องฉีด AstraZeneca เท่านั้นใช่หรือไม่” วิโรจน์กล่าว
อัดฝากความหวังไว้ที่เอกชนรายเดียว ที่แค่ขนาดชุดตรวจโควิด-19 ง่ายๆ ยังไม่ผ่าน อย.
วิโรจน์กล่าวว่า การฉีดวัคซีนล่าช้ามาจากการบริหารราชการที่บกพร่อง วางแผนผิดพลาด และการเอาชีวิตของประชาชนไปกระจุกความเสี่ยงไว้ที่วัคซีนเจ้าเดียวของ พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทิน อย่างชัดเจน แทนที่อนุทินจะสำนึกผิดออกมาขอโทษประชาชน กลับมาอ้างว่าที่ล่าช้ามาจากระบบกฎหมายไทย คือจะโทษไปที่ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเอาตัวรอด
“สิ่งที่ประชาชนสงสัยกันนักหนา ก็คือ ทำไม พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทิน หัวเด็ดตีนขาดก็ต้องเอาชีวิตและปากท้องของประชาชนทั้งประเทศไปกระจุกความเสี่ยงและรอคอยวัคซีน AstraZeneca ที่จะผลิตโดยบริษัทเอกชนที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ชื่อของ สยามไบโอไซเอนซ์ ได้เริ่มปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบค. ครั้งที่ 10/2563 ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค. ได้กล่าวถึงบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีน และสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด Viral Vector ได้ และขอให้รัฐบาลพิจารณาสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม และขอให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนรัฐบาลในการเจรจาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ ศ.นพ.ปิยะสกล ได้เอ่ยถึงชื่อ ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 หรือในอีก 2 วันถัดมา และมีการพูดถึงตัวเลขงบประมาณ 600 ล้านบาท ที่จะถูกใช้เพื่อการพัฒนาศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีน ซึ่งอนุทินได้ยอมรับว่าเป็นงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนในเรื่องวัคซีนจริง โดยมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นผู้ดูแล” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์ยังเปิดเผยด้วยว่า จากการแถลงของ ศ.นพ.ปิยะสกล ที่ปรึกษา ศบค. ที่ขอให้กระทรวงการต่างประเทศไปเป็นตัวแทนรัฐบาลในการเจรจา เพื่อให้สยามไบโอไซเอนซ์รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยมีการพูดถึงงบประมาณในการสนับสนุน 600 ล้านบาท จึงเป็นหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ศบค. ได้ตั้งธงไว้ตั้งแต่แรก ที่จะใช้งบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน ผลักดันให้บริษัทเอกชนที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยมีอนุทินร่วมรับรู้ด้วย และต่อมาในเดือนสิงหาคม 2563 งบประมาณ 600 ล้านบาท ก็ได้รับการอนุมัติเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชน รวมทั้งการตัดสินใจของรัฐบาลในการนำเอาเงินภาษีของประชาชนไปสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนนั้นมีผลต่อการตัดสินใจเลือกสยามไบโอไซเอนซ์ของ AstraZeneca ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุน ก็เป็นไปได้ที่ AstraZeneca จะไม่เลือกสยามไบโอไซเอนซ์ ดังนั้น คำชี้แจงที่ พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทิน พูดมาโดยตลอดว่า AstraZeneca เลือกสยามไบโอไซเอนซ์เอง โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงเป็นการโกหกประชาชนทั้งสิ้น
“จากการแถลงของ พญ.สุชาดา เจียมศิริ ต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ที่ระบุเอาไว้ว่า “ในการที่เขาบอกว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เรา เขาเหมือนกับว่าผูกมัดไว้ว่าคุณจะต้องซื้อวัคซีนจากเขาด้วย…” เขา คือ AstraZeneca ‘เรา’ นี่ไม่ใช่รัฐบาลไทยนะครับ แต่เป็นบริษัทเอกชนที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนประโยคที่บอกว่า คุณจะต้องซื้อวัคซีนจากเขาด้วย ก็คือ รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีของประชาชนไปซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์ย้อนถามนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่าบริษัทเอกชนที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ที่เพิ่งจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิด Viral Vector จะสามารถผลิตวัคซีน และส่งมอบตามจำนวนที่ได้วางแผนเอาไว้
“จากการประชุมคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ผมช็อกมากๆ ที่ผู้แทนจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เภสัชกรหญิง กรภัทร ตรีสารศรี ได้แจ้งกับที่ประชุมกรรมาธิการการสาธารณสุขว่า ชุดตรวจโควิด-19 RT-PCR ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสยามไบโอไซเอนซ์ร่วมกันผลิต อย. ได้ตรวจประเมินไปแล้วครั้งหนึ่ง แล้วพบว่า ‘ไม่ผ่าน’ ทั้งๆ ที่ชุดตรวจโควิด-19 RT-PCR เป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีการผลิตใช้กันมานานแล้ว และไม่ได้มีเทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อนอะไร ขนาดร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการผลิต ก็ยังไม่ผ่าน อย. แล้วถามว่า พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทิน ไปเอาอะไรมามั่นใจ ถึงกับเอาคนไทยทั้งประเทศ 67 ล้านคน ไปฝากความหวังไว้ที่บริษัทเอกชนรายเดียวกันนี้ ตกลง อย. นี่ย่อมาจาก อันตรายเยอะ หรือเปล่า” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์ยังได้อภิปรายด้วยว่า งบประมาณ 600 ล้านบาท ที่วางแผนว่าจะเอาไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมวัคซีน ประชาชนเขาก็คิดว่า เงินส่วนใหญ่คงถูกเอาไปลงทุนในด้านเทคโนโลยี เครื่องจักร และบุคลากร แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า เงินลงทุนในครุภัณฑ์นั้นมีแค่ 80 ล้านบาท, ค่าจ้างบุคลากร 12 ล้านบาท แต่ 430 ล้านบาท เป็นการนำไปซื้อสารเคมี, สารชีวเคมี, ตัวทำละลาย, สารชีวภัณฑ์ และวัสดุสิ้นเปลือง ทั้งๆ ที่การซื้อวัตถุดิบในการผลิตเหล่านี้ ควรเป็นหน้าที่ของบริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้ผลิต เหตุใดรัฐบาลต้องเอาเงินภาษีไปซื้อวัตถุดิบให้กับบริษัทเอกชนด้วย และที่มีการชี้แจงมาว่า สยามไบโอไซเอนซ์ และ AstraZeneca จะขายวัคซีนให้กับประเทศไทย ด้วยนโยบายราคาที่ไม่กำไร หรือ No profit No Loss โดยข้อเท็จจริงคือ นโยบายที่ไม่ทำกำไรนั้นเป็นนโยบายเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดเท่านั้น ซึ่ง นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ยืนยันกับที่ประชุมคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ว่านโยบาย No Profit No Loss คาดว่าจะใช้ได้จนถึงปี 2565 เท่านั้น หลังจากปี 2565 หากการระบาดสามารถควบคุมได้แล้ว บริษัทเอกชนที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ก็จะสามารถทำกำไรจากการขายวัคซีนได้ และเมื่อถูกตั้งคำถามมากขึ้นก็ได้มีการออกมาชี้แจงว่า สยามไบโอไซเอนซ์จะคืนเงินงบประมาณ 600 ล้านบาทกลับมาเป็นวัคซีน จะคืนหลังจากที่ผลิตและจำหน่ายไปแล้ว 200 ล้านโดส โดยสยามไบโอไซเอนซ์จะซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca เพื่อคืนให้แก่รัฐบาลไทย แต่ถ้าเป็นการซื้อคืนหลังจากที่การระบาดสามารถควบคุมได้แล้ว ก็คงต้องซื้อในราคาตลาด ซึ่งยังไม่รู้ว่าราคาเท่าไร แต่เป็นไปได้ที่จะแพงกว่าราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐอย่างแน่นอน
“ในเมื่อเงิน 600 ล้านบาท ที่รัฐบาลนำเอาไปอุดหนุนบริษัทเอกชนที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นเงินภาษีที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานและคราบน้ำตาของประชาชน ประชาชนต้องตรวจสอบได้ สยามไบโอไซเอนซ์ เขาไม่ได้ผลิตวัคซีนมาแจกให้ประชาชนฟรีๆ นะครับ รัฐบาลก็ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปซื้อ แม้ว่าจะไม่มีกำไร แต่ก็มีรายได้เป็นกระแสเงินสดเข้าบริษัท และเมื่อการระบาดควบคุมได้แล้ว น่าจะเป็นปี 2566 เป็นต้นไป ทั้งเครื่องจักร และ Know How ที่บริษัทเอกชนรายนี้ได้รับไป เขาก็ไปผลิตวัคซีนขายทำกำไรได้ บริษัทเอกชนที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ นี่ไม่ได้มีบุญคุณอะไรกับประชาชนเลยนะครับ แต่ถ้าจะนับกันจริงๆ ว่าใครมีบุญคุณกับใคร ผมก็ต้องบอกว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่ได้มีบุญคุณกับประชาชน แต่ประชาชนต่างหากที่มีบุญคุณกับบริษัทเอกชนที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ทำให้เขาได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ และสามารถตั้งตัวได้ ดังนั้นประชาชนมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบสัญญา มีสิทธิ์ที่จะขอดูข้อตกลง ตลอดจนเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐบาลไปทำกับทั้ง AstraZeneca และสยามไบโอไซเอนซ์” วิโรจน์กล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล