หลังรัฐสภาไม่ลงมติใน 6 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในการประชุมวันที่ 23-24 กันยายนที่ผ่านมา และเลือกใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษาก่อนรับหลักการ
วันนี้ (30 กันยายน) ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการนัดประชุมครั้งแรกของ ‘คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช … ก่อนรับหลักการ’
กาประชุมวันนี้เกิดขึ้นหลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณเมื่อวานนี้ระหว่างหารือกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่านายกฯ ส่งสัญญาณที่ดีในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2
ขณะที่ก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการ เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่าการประชุมคือการคุยกันว่าจะหาจุดร่วมกันอย่างไร เพราะตนได้อภิปรายไว้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องเห็นพ้องต้องกัน มาดูเหตุผลและหาข้อยุติร่วมกัน ไม่ใช่มาเอาชนะกัน เพียงแต่วันนั้นมันเห็นกันคนละฝั่งก็เลยต้องมานั่งคุยกันวันนี้
เมื่อถามว่าถ้านายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณมาเร็วกว่านี้ก็คงจบเรื่องไปแล้วใช่หรือไม่
เสรีกล่าวว่าไม่เกี่ยวกัน อย่าไปโยงถึงนายกฯ เพราะตอนนั้นนายกฯ คิดอย่างไรไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นเราไปยึดตรงนั้นไม่ได้ แต่ที่เห็นอยู่คือวันนั้น ส.ว. ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะเห็นตามญัตติแก้รัฐธรรมนูญที่เสนอมา ส่วนการตัดสินใจไม่ใช่แค่นายกฯ คนเดียว ต้องรับฟังทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน iLaw และอีกกลุ่มที่เห็นอีกด้าน โดยกรรมาธิการชุดนี้ต้องรับฟังทั้งหมด
ทั้งนี้ 15 ส.ว. ในกรรมาธิการจะเป็นตัวแทนของ ส.ว. ทั้งหมดในการตัดสินใจ แต่เราก็ต้องบอกใ้ห้ ส.ว. โดยรวมรับรู้
ขณะที่ สมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่ายืนยันจุดยืนเดิม คือการแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 กับการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 และตั้ง สสร. ด้วยเป็นคนละเรื่องกัน เพราะถ้าตั้ง สสร. ด้วยนั้นเคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าถ้าจะตั้ง สสร. ต้องทำประชามติก่อน ซึ่งต้องมาพูดคุยกันในข้อกฎหมายว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 แบบไม่มี สสร. เช่น เอา ส.ว. 1 ใน 3 ออกไปก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแก้ได้เลยแล้วค่อยไปลงประชามติ
ทั้งนี้ หลังการประชุม ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ เปิดเผยว่ที่ประชุมมีมติเลือก วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. พลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล เป็นประธานคณะกรรมาธิการ และตั้งรองประธานกรรมาธิการ 6 คนประกอบด้วย
มหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว.
ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ
ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์
วิเชียร ชวลิต ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ
และ นิกร จำนง ส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนา ตามลำดับ
ชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมาธิการจะเร่งศึกษาทั้ง 6 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะเชิญฝ่ายค้านในฐานะเจ้าของญัตติ 5 ฉบับเข้ามาให้ข้อมูลด้วย โดยยังไม่ได้นำร่างของ iLaw เข้าพิจารณา เพราะร่างดังกล่าวยังไม่บรรจุในวาระการประชุม
สำหรับการประชุมจะมีขึ้น 3 วันต่อสัปดาห์ และจะทำรายงานการศึกษาส่งในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ เพราะการประชุมมีกรอบเวลาจะต้องเสร็จก่อนวันที่ 23 ตุลาคม ยืนยันจะทำให้เสร็จใน 30 วัน โดยเร่งศึกษาให้ทันตามเวลาที่กำหนด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์