×

‘วิญญัติ’ แจ้งความ ‘ศรีสุวรรณ’ เหตุแจ้งความเท็จต่อ กกต. ชี้จงใจกลั่นแกล้งพรรคเพื่อไทย-ทักษิณ

โดย THE STANDARD TEAM
15.12.2022
  • LOADING...
วิญญัติ ชาติมนตรี

วันนี้ (15 ธันวาคม) เวลา 10.00 น. ที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทุ่งสองห้อง วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) พร้อมทีมงาน เข้าแจ้งความกล่าวโทษให้สืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับ ศรีสุวรรณ จรรยา จากกรณีที่ศรีสุวรรณเป็นผู้แจ้งหรือผู้กล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลใด ว่ากระทำความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อันเป็นความเท็จต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยน่าเชื่อว่ามีเจตนาพิเศษกลั่นแกล้ง กล่าวหา พรรคเพื่อไทยและ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในลักษณะน่าจะเป็นการจงใจใส่ร้าย กล่าวหา ว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย โดยมิได้ตรวจสอบให้ดี หรือมิได้มีพยานหลักฐานยืนยันการกระทำของพรรคเพื่อไทยและ ทักษิณ ชินวัตร กระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคเพื่อไทยจริง

 

วิญญัติกล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่รับรู้กันทั่วไปว่าพรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันในปี 2570 ต่อสาธารณะเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ต่อมามีบุคคลต่างๆ หรือพรรคการเมืองอื่น ต่างมาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ เช่นเดียวกับ ทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังมีการประกาศนโยบายนั้นแล้ว แต่ศรีสุวรรณกลับนำมาเป็นพฤติการณ์ เพื่อนำไปเชื่อมโยงให้เข้าลักษณะว่าเป็นการครอบงำและชี้นำพรรคเพื่อไทย โดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ

 

การกระทำของศรีสุวรรณจึงน่าจะเป็นการกระทำเข้าข่ายกระทำความผิดฐานแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลใด ว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 101 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และข้อหาฐานเป็นผู้รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่กลับแจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

 

วิญญัติกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเห็นว่าการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อันเป็นเสรีภาพแก่บุคคล จัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปิดโอกาสในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงมีพรรคการเมืองหลากหลายที่มาจากการสนับสนุนของประชาชน นี่คือสิ่งที่ต้องรักษาตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่จะหาเรื่องยุบพรรคการเมือง ทำลายหลักการประชาธิปไตย หรือใช้สิทธิใดๆ ที่ไม่สร้างสรรค์หรือไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมมาทำลายพรรคการเมือง บุคคลต้องเคารพต่อเจตจำนงของประชาชน ที่ต้องการให้พรรคที่ตนสนับสนุนได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้ง มีการแข่งขันกันที่นโยบายของแต่ละพรรคและบุคคลที่เสนอตัวลงเลือกตั้ง และไปวัดกันด้วยการพิสูจน์ผลงาน จึงไม่ควรใช้กระบวนการใดๆ มาทำลายพรรคการเมืองด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่สมเหตุสมผลอีก ตนจึงมาแสดงออกถึงการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตย

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X