บทความโดย วิโรจ ลี้ตระกูล สถาปนิก-นักวิจารณ์ไวน์
การลงทุนในไวน์เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและมีเสน่ห์ในโลกของการลงทุนที่ผสมผสานระหว่างความหรูหรา ความรู้ และโอกาสทางการเงิน เหตุผลที่ทำให้การลงทุนในไวน์น่าดึงดูด ไม่ได้มีเพียงแค่องค์ประกอบของความเพลิดเพลินในการดื่มและชื่นชอบในไวน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงศักยภาพทางการเงินที่อาจตามมาได้
นอกจากนี้การลงทุนในไวน์ยังเป็นการลงทุนที่ให้ความสุขและประสบการณ์ เมื่อนักลงทุนได้ศึกษาและสัมผัสกับโลกของไวน์ พวกเขาไม่เพียงจะได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับไวน์เท่านั้น แต่ยังได้รับความเพลิดเพลินจากการลิ้มลองไวน์ที่มีคุณภาพด้วย
กลายเป็นที่มาของคอลัมน์พิเศษนี้ที่เกิดจากความร่วมมือของ THE STANDARD WEALTH กับ UOB Privilege Banking เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านทุกท่านในการบริหารความมั่งคั่งผ่าน Passion & Lifestyle ส่วนบุคคล เพื่อต่อยอดความสุขของผู้อ่านด้วยแพสชันที่มีต่อสินทรัพย์ลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการลงทุนในไวน์
หากถามว่าไวน์ประเภทไหนที่เหมาะกับการลงทุน?
เราก็ต้องมองที่คุณสมบัติพื้นฐานกันก่อน นั่นคือจะต้องมีระยะเวลาหรือช่วงอายุที่อยู่ในตลาดได้นาน ดังนั้นในบรรดาไวน์ทั้งหลายจึงมีอยู่ 2 ประเภทที่เหมาะสำหรับการลงทุน คือ ไวน์แดงและไวน์หวาน ซึ่งหากเป็นไวน์ที่มีคุณภาพดีจะอยู่ได้นานถึง 30-50 ปีเลยทีเดียว
สำหรับไวน์แดงเราอาจจะพบเห็นได้มากมายในตลาดไวน์วินเทจ แต่ในส่วนของไวน์หวานหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าเหมาะกับการลงทุน ไวน์หวานส่วนใหญ่นั้นจะเป็นไวน์ที่ทำจากองุ่นขาวเหมือนไวน์ขาว แต่มีวิธีการผลิตที่พยายามทำให้น้ำตาลอยู่ในเนื้อน้ำค่อนข้างสูง จึงมีรสหวาน ทำให้มีแอลกอฮอล์ที่สูง ซึ่งเมื่อเทียบกับไวน์ขาวที่มีคุณภาพดีจะมีอายุแค่ราวๆ 10-15 ปี แต่ไวน์หวานสามารถมีช่วงอายุที่มากถึง 30-50 ปีเลยทีเดียว ด้วยระยะเวลาที่นานมากพอจึงเป็นไวน์ที่เหมาะสมที่สามารถลงทุนและเปลี่ยนมือได้
ขยายความให้เห็นภาพของการซื้อ-ขายไวน์ หากเป็นไวน์แดงที่ถูกประเมินแล้วว่าเป็นไวน์ที่มีคุณภาพดีจาก ‘ซอมเมอลิเยร์’ (Sommelier) หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านไวน์หลายๆ ท่าน ไวน์ตัวนั้นก็จะเริ่มมีราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ 15 เป็นต้นไป แต่สำหรับนักสะสมหรือผู้ที่ชื่นชอบไวน์ ถ้าเราสามารถประเมินได้ก่อนก็อาจจะเข้าไปจองกับ Chateau อันเป็นคำภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายว่า ‘ปราสาท’ ซึ่งยังมีความหมายซ้อนอีกทีว่า ‘เป็นผู้ผลิตไวน์ที่ทำทุกอย่าง ตั้งแต่การเพาะปลูกองุ่นไปจนถึงการผลิตไวน์’ เมื่อจองได้แล้วก็จะเก็บไวน์ก่อนนำออกมาช่วงในช่วง 5-10 ปีต่อจากนั้น ซึ่งสามารถทำราคาได้เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวเลยทีเดียว
แต่ช่วงเวลาที่จะมีการซื้อ-ขายอย่างจริงจังคือไวน์ที่มีช่วงอายุ 20 ปี เพราะเป็นช่วงที่ไวน์สมบูรณ์พร้อม โดยมีคุณภาพที่ดีสำหรับการดื่ม ทำให้ราคาขยับเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งสามารถนับไปได้อีก 20 ปี อันเป็นจุดที่หลายคนจะเข้ามาเก็งกำไร เพราะหลังจากนี้คุณภาพจะลดลง จึงทำให้ราคาตกลงไปด้วย
ยิ่งเวลาผ่านไปนานยิ่งเป็นที่ต้องการ
มูลค่าของไวน์สามารถเพิ่มขึ้นได้อีกเรื่อยๆ เพราะยิ่งเวลาที่ผ่านไป ไวน์รุ่นนั้นก็จะถูกบริโภคไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า ไวน์รุ่นนั้นจะมีจำนวนที่ลดน้อยลงไปด้วย (เพราะ Chateau บางแห่งอาจจะผลิตปีละแค่ 20,000-30,000 ขวดเท่านั้น) ทำให้ไวน์ที่เป็นที่ต้องการก็จะหายากขึ้นไปอีก ราคาก็จะขึ้นไม่หยุด ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับนักเก็งกำไรด้วยเช่นกันว่าจะมีการมองส่วนต่างของกำไรอยู่ที่เท่าไร
เทรนด์ลงทุนใน ‘ไวน์โลกเก่า’ น่าจับตามอง
ในแง่ของเทรนด์ไวน์ที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในกลุ่มไวน์โลกเก่า เพราะคนรักไวน์ต่างรู้กันดีว่า หนึ่งในไวน์คุณภาพดีที่สุดในโลกก็คือไวน์ฝรั่งเศส โดยไวน์ฝรั่งเศสก็จะมีการแบ่งประเภทไวน์ตามพื้นที่แหล่งผลิต สำหรับแหล่งผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ได้แก่
- ไวน์จากแคว้นบอร์โดซ์ (Bordeaux)
- ไวน์จากแคว้นบูร์กอญ (Bourgogne) หรือเบอร์กันดี (Burgundy)
- ไวน์จากแคว้นชองปาญ (Champagne)
รู้จักคนกลาง ‘เนโกซิอองต์’ ด่านแรกจากผู้ผลิตสู่นักสะสม
สิ่งที่น่าสนใจคือ ไวน์จากแหล่งผลิตชั้นดีมักจะไม่ได้ออกมาสู่ตลาดผู้บริโภคทั่วไปในทันทีหลังจากที่ผลิตออกมา เพราะมักจะถูกจับจองโดย ‘Négociants Éleveurs’ (เนโกซิอองต์ เอเลเวอรส์) ซึ่งเป็นการค้าขายแบบมีตัวแทนตามซื้อถึงไร่หรือแหล่งผลิต แล้วมาตั้งกำไรขายต่อจากนั้น เนโกซิอองต์ส่วนใหญ่จะเป็นชาวฝรั่งเศส เบลเยียม และอังกฤษ จะสั่งไปจองซื้อยังตั้งแต่ก่อนผลิตด้วยซ้ำไป
การเข้ามาของเนโกซิอองต์ทำให้เกิด ‘ตลาดรองของไวน์’ ซึ่งตัวนักสะสมหรือผู้ที่อยากเก็งกำไรก็ต้องไปซื้อต่อจากเนโกซิอองต์อีกต่อหนึ่ง ซึ่งคนทั่วไปเองจะไม่สามารถซื้อไวน์ล็อตแรกได้เลย ด้วยว่า Chateau เองจะขายครึ่งหนึ่งให้กับเนโกซิอองต์ และที่เหลือก็จะเก็บไว้เพื่อนำออกมาขายทำกำไรในอนาคต
ดังนั้นผู้ที่จะซื้อจึงต้องมีคอนเน็กชันกับแต่ละเนโกซิอองต์ เพราะไม่ใช่จู่ๆ จะเดินเข้าไปหาเนโกซิอองต์แล้วซื้อได้เลย จะต้องรู้จักกันมาก่อนและมีขั้นตอนอีกหลายขึ้น ซึ่งความซับซ้อนของระบบนี้จะเป็นเฉพาะสำหรับไวน์ที่การลงทุนหรือสะสม แต่ถ้าเป็นไวน์ทั่วๆ ไปก็จะไม่ได้มีโครงสร้างแบบนี้
ช่วงเวลาแห่งการเทรด
การเทรดไวน์นั้นจะมีอยู่ 2 ช่วง คือ หลังจากที่ผลิตแล้วกับผ่านมา 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพมากขึ้น จังหวะนี้ทาง Chateau ก็จะนำไวน์ออกมาขาย ซึ่งเพิ่มราคาได้ถึง 3-4 เท่าตัวเลยทีเดียว ขณะที่เนโกซิอองต์หากอยากได้ไวน์รุ่นนั้นเพิ่มก็จะต้องมาซื้อในราคาที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ในช่วงที่ 2 นี้เองก็จะมีอีกขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาคือ ‘การประมูลไวน์’ ซึ่งมักจะไม่ได้อยู่ในฝรั่งเศส แต่จะอยู่ในสถาบันสะสมสิ่งของมีค่า อย่างเช่น ในอังกฤษ แต่โดยรวมๆ แล้วจะมีประมาณ 6-7 รายที่กระจายตัวอยู่ในยุโรป
ไวน์ก็มีกองทุน
นอกจากนี้ยังมีกองทุนไวน์ที่จะติดต่อกับเนโกซิอองต์และคัดเลือกไวน์เข้ามาอยู่ในพอร์ต ซึ่งหากเราอยากลงทุนกับไวน์ก็สามารถไปซื้อกองทุนประเภทนี้ได้ (มีจำนวนกว่าพันกองทุน) ส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรป โดยในเอเชียก็จะมีที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ แต่ที่ไทยยังไม่มีกองทุนประเภทนี้
สำหรับกองทุนไวน์นั้น เราที่เป็นนักลงทุนแทบจะไม่รู้เรื่องการจัดการเลย นอกจากใส่เงินลงทุนและรับทราบผลการันตีตอบแทน ซึ่งนี่ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับมือใหม่ที่อยากลงทุน และนักลงทุนทั่วโลกที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญก็มักจะลงทุนในกองทุนแทนที่จะเก็งกำไรเอง โดยส่วนสำคัญมาจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงไวน์ได้เอง
อย่างไรก็ตาม มือใหม่ที่อยากลงทุนในไวน์จะต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีว่า ไวน์ประเภทไหนที่เหมาะกับการลงทุนหรือความชื่นชอบของผู้บริโภค เหล่านี้ก็จะเข้ากับประโยคที่คุ้นหูกันดีอย่าง ‘รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง’ ซึ่งเป็นข้อคิดเชิงปรัชญาจาก ซุนวู ที่จะทำให้เรามีชัยเหนือสมรภูมิไวน์ได้
และในที่สุด การลงทุนในไวน์ อย่างเช่น การเก็บสะสมไวน์ที่หายากและมีคุณภาพสูง ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์และเพิ่มมูลค่าในแง่ของการลงทุนเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงออกถึงรสนิยมและความเชี่ยวชาญในโลกของไวน์ด้วย
ติดตามคอลัมน์พิเศษจาก THE STANDARD WEALTH และ UOB Privilege Banking ได้ทุกเดือน สำหรับเดือนหน้าจะเป็นเรื่องใด โปรดติดตาม
UOB Privilege Banking ที่ให้คุณค่ากับทุก Passion & Lifestyle และพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมทุกความหลงใหลให้กลายเป็นความมั่งคั่ง ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์และเข้ากันกับไลฟ์สไตล์
www.uob.co.th/privilegebanking