×

การผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์เพิ่มทำสถิติ รับความต้องการใช้พลังงานพุ่งสูง

โดย THE STANDARD TEAM
01.04.2022
  • LOADING...
การผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์เพิ่มทำสถิติ รับความต้องการใช้พลังงานพุ่งสูง

Ember หน่วยงานวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงาน เปิดเผยว่า การผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์คิดเป็น 10% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกเป็นครั้งแรกในปี 2021 

 

รายงานวิจัยล่าสุดเผยให้เห็นว่า 50 ประเทศได้รับพลังงานมากกว่าหนึ่งในสิบจากลมและพลังงานแสงอาทิตย์ 

 

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิดในปี 2021 ทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น การวิจัยแสดงให้เห็นว่า ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวขึ้นในปีที่แล้วนั้นเทียบได้กับการเพิ่มประเทศที่มีขนาดใหญ่เท่าอินเดียเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของโลกเลยทีเดียว

 

พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และแหล่งพลังงานสะอาดอื่นๆ ผลิตกระแสไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 38% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2021 และเป็นครั้งแรกที่กังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 10% ของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งทรัพยากรต่างๆ ทั้งหมด

 

ไฟฟ้าที่ผลิตจากลมและแสงแดดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ปี 2015 เมื่อมีการลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement)

 

สำหรับประเทศที่เปลี่ยนไปใช้ลมและแสงอาทิตย์ในอัตรารวดเร็วที่สุด ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม โดยหนึ่งในสิบของความต้องการไฟฟ้าของประเทศเหล่านี้เปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นแหล่งทรัพยากรสีเขียวในช่วงสองปีที่ผ่านมา

 

ฮันนาห์ บรอดเบนต์ จาก Ember กล่าวว่า เนเธอร์แลนด์เป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศทางตอนเหนือของโลกที่พิสูจน์ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศเขตร้อนที่มีแสงแดดเจิดจ้าตลอดเท่านั้น แต่นโยบายที่เหมาะสมก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

 

นอกจากนี้ เวียดนามเป็นอีกประเทศที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 300% ในเวลาเพียงปีเดียว

 

“ในกรณีของเวียดนาม การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ Feed-in Tariff ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ภาคครัวเรือนและสาธารณูปโภคหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์” เดฟ โจนส์ Global Lead ของ Ember กล่าว

 

“สิ่งที่เราเห็นในเรื่องนี้คืด การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในปีที่แล้ว ไม่เพียงตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซลดลงด้วย”

 

อย่างไรก็ตาม แม้ในบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก ผลิตไฟฟ้ามากกว่า 50% จากลมและพลังงานแสงอาทิตย์ แต่พลังงานจากถ่านหินก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกันในปี 2021

 

ความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ในปี 2021 ได้รับการตอบสนองจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มขึ้น 9% ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1985

 

การใช้ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย แต่การใช้ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการใช้ก๊าซ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 1% ทั่วโลก บ่งชี้ว่าราคาก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ถ่านหินเป็นแหล่งไฟฟ้าเพื่อความอยู่รอด

 

“ปีที่แล้วราคาก๊าซสูงขึ้นมากจริงๆ ขณะที่ถ่านหินมีราคาถูกลงกว่าก๊าซ” เดฟ โจนส์ กล่าว

 

“สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้คือ ราคาน้ำมันทั่วยุโรปและในหลายประเทศของเอเชีย มีราคาแพงกว่าช่วงเวลาเดียวกันนี้ในปีที่แล้วถึงสิบเท่า เทียบกับถ่านหินที่มีราคาแพงขึ้นสามเท่า”

 

คณะนักวิจัยกล่าวว่า แม้การใช้ถ่านหินกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในปี 2021 แต่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และแคนาดา ต่างตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนกริดของตนให้เป็นการผลิตไฟฟ้าที่ปลอดก๊าซเรือนกระจก 100% ภายใน 15 ปีข้างหน้า

 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รับแรงผลักดันจากความกังวลในการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การที่จะทำเช่นนั้นได้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์จะต้องเติบโตในอัตรา 20% ทุกปีไปจนถึงปี 2030 ซึ่งผู้เขียนรายงานวิจัยเชื่อว่า ณ ขณะนี้ การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวมีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง

 

ฮันนาห์ บรอดเบนต์ กล่าวว่า ลมและแสงอาทิตย์นำเสนอทางออกของวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรือการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล “นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่แท้จริง”

 

ภาพ: Patrick Pleul / Picture Alliance via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising