หลู่ว์เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย ส่งสาส์นเรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งเสริมความร่วมมือแบบที่ประเทศคู่ค้าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มากกว่าการใช้มาตรการทางการค้าเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นภัยต่อความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพของโลก
ในแถลงการณ์หัวข้อ Win-Win Cooperation, rather than Unilateralism is the Right Choice หรือ ความร่วมมือแบบวิน-วิน แทนมาตรการฝ่ายเดียว เป็นทางเลือกที่ถูกต้อง ที่เผยแพร่โดยสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ระบุว่า เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศกำลังเผชิญแรงกดดันสู่ทิศทางขาลงและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น โดยหนึ่งในนั้นมาจากสงครามการค้าที่ก่อโดยสหรัฐอเมริกาเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพของโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย
สหรัฐฯ ยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้ากับอินเดีย รวมถึงยกเลิกสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) สำหรับสินค้านำเข้าจากไทย 11 รายการ นอกจากนี้ยังเพิ่มเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ เข้าไปในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตาว่าเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงิน อีกทั้งยังเตรียมขยายกำแพงภาษีกับสินค้าจีนเพิ่มเติม ซึ่งจะเห็นได้ว่า เกือบทุกประเทศในภูมิภาคต่างกำลังประสบปัญหาจากยอดส่งออกที่ลดลงและภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนตกเป็นเหยื่อของมาตรการฝ่ายเดียว และการกีดกันทางการค้า
สงครามการค้าทำให้เราอยู่บนทางแยกเพื่อตัดสินใจเลือกอีกครั้ง ไม่ว่าจะเลือกเดินบนเส้นทางเดิมหรือถอย, ลดหรือขยายความขัดแย้ง, เคารพซึ่งกันและกันหรือใช้อำนาจเพียงฝ่ายเดียว ประวัติศาสตร์บอกเราหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะต่อรองเพื่อสร้างสันติภาพ เราควรเรียนรู้บทเรียนจากสงครามการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเมื่อทศวรรษ 1980 และเลือกแนวทางเพื่ออนาคต โดยการแสวงหาความร่วมมือแบบวิน-วิน และช่วยกันแก้ปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างวิตกในแนวทางสมดุล เพื่อประโยชน์ที่ลงตัวของคู่กรณี เพราะไม่มีทางเลือกใดที่ดีไปกว่านี้แล้ว
ฝ่ายจีนตระหนักเสมอว่า ไม่มีใครเป็นฝ่ายชนะในสงครามการค้า ดังนั้นจึงหวังทำข้อตกลงแบบวิน-วินกับสหรัฐฯ บนพื้นฐานความเสมอภาคและการเจรจาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่การเจรจาหยุดชะงักลงเนื่องจากความไม่ลงรอยกันของรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะในสหรัฐฯ เองก็มีเสียงคัดค้านการตั้งกำแพงภาษีเพิ่มเติมที่ดังขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อไม่กี่วันก่อน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์พูดคุยกัน และตกลงที่จะพบกันในที่ประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่นครโอซาก้า โดยฝ่ายจีนหวังว่า สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับจีนเพื่อแก้ปัญหาผ่านการเจรจาบนหลักความเท่าเทียม จุดยืนพื้นฐานของจีนยังคงไม่แปรเปลี่ยน นั่นคือ จีนไม่ต้องการสงครามการค้า แต่จีนก็ไม่เกรงกลัว ไม่ว่าสถานการณ์จะดำเนินไปอย่างไร ฝ่ายจีนจะปกป้องผลประโยชน์และสิทธิตามกฎหมาย จีนจะไม่มีวันยินยอมถูกสหรัฐฯ ข่มเหง ไม่ยอมต่อรองในหลักการ และไม่ยอมถูกบีบบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาใดก็ตามที่เป็นภัยต่อเกียรติภูมิอธิปไตยของประเทศ
จีนมีความมั่นคงและสงบ เพราะจีนมีศักยภาพและความเชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือกับภัยเสี่ยงและความท้าทายทุกรูปแบบ ปีนี้ครบรอบ 70 ปี แห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดย 70 ปีที่ผ่านมา เรือจีนขนาดยักษ์แล่นฝ่าคลื่นลมมรสุมทางเศรษฐกิจมาแล้วทุกรูปแบบ และจะมุ่งไปข้างหน้าต่อไปโดยไม่หยุดนิ่ง ปัจจุบันจีนเติบโตขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก พึ่งพาการบริโภคและอุปสงค์ภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของจีนก็เป็นอันดับ 2 ของโลก และภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เข้มแข็ง ประชาชนจีนจะสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว สงครามการค้าไม่อาจขัดขวางการเติบโตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพของเศรษฐกิจจีน และไม่อาจยับยั้งการเดินหน้าปฏิรูปและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของจีนได้ จีนเหมือนนกฟีนิกซ์ที่เติบโตขึ้นจากเถ้าถ่าน จีนจะเข้มแข็งขึ้น เชื่อมั่นขึ้น มีความเปิดกว้าง เจิดจรัส และจะยืนหยัดอย่างมั่นคงด้วยภาพลักษณ์ใหม่ในประชาคมนานาชาติ
ช่วงท้ายของแถลงการณ์ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา ผู้นำจากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกต่างก็แสดงท่าทีสนับสนุนการพัฒนาของจีน และต่อต้านมาตรการลงโทษเพียงฝ่ายเดียวและการกีดกันการค้า พร้อมทั้งแสดงความคาดหวังที่จะกระชับความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะกับประเทศไทย ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนในปีนี้
ไทยดำเนินบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมการค้าเสรีในภูมิภาคและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียนและจีน ซึ่งจีนยกย่องและสนับสนุนความพยายามดังกล่าว จีนถือว่าประเทศเพื่อนบ้านเปรียบเหมือนริมฝีปากและฟันที่อยู่ติดกัน และเราทราบว่าคนไทยก็มีภาษิตที่คล้ายคลึงกันว่า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า เราจะเปิดกว้างขึ้นสำหรับประเทศไทยและหุ้นส่วนในภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road) เพื่อทำให้เอเชียตะวันออกที่เราเรียกว่าบ้านมีความมั่นคงขึ้น เจริญขึ้น และเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและมีอนาคตร่วมกัน เพื่อที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เติบโต
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย