×

นักวิจัยร่วมพัฒนา ‘WIN-Masks’ นวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น ใช้ซ้ำได้ 30 ครั้ง ป้องกันโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
18.03.2020
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (17 มีนาคม) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงข่าว ‘ร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks) เพื่อป้องกันโควิด-19’

 

โดยมี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าว ระบุว่านวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks) เพื่อป้องกันโควิด-19 เป็นหน้ากากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยตรง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง และประชาชนที่ต้องอยู่ในกลุ่มชนหรือพบปะผู้คนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันยังลดขยะปนเปื้อนจากหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ด้วย ซึ่งตัวหน้ากากมีโครงสร้าง 3 ชั้น ประกอบด้วย

  1. ผ้ากันไรฝุ่นศิริราชชนิดทอแน่น เคลือบสารนาโนกันน้ำ
  2. ผ้าไมโครไฟเบอร์ผสม ZnO ที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
  3. ผ้าฝ้ายที่สามารถดูดซับน้ำจากการไอจาม ผ้า 3 ชั้นทำงานร่วมกัน ทำให้สามารถกรองฝุ่นและละอองฝอยจากเสมหะขนาดเล็กระดับ 2.5-5 ไมครอนได้ ซักล้างได้ มีคุณภาพมาตรฐาน ผ่านการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ 

 

ซึ่งแนวคิดและรูปแบบในการออกแบบหน้ากาก WIN-Masks ออกแบบโดยทีมออกแบบของ ศลช. มุ่งเน้นการออกแบบที่ทันสมัยและสวมใส่สบาย มีหลายขนาด เช่น S, M และ L

 

ส่วนผลการทดสอบคุณสมบัติหน้ากาก WIN-Masks พบว่าในเบื้องต้นหน้ากากต้นแบบสามารถป้องกันหรือกรองฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 65% ซึ่งมีค่าใกล้เคียง Surgical Mask ทั่วไป และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ไม่ต่ำกว่า 80% ในชุดส่งมอบหน้ากาก 5,000 ชิ้น อีกทั้งยังมีความสามารถในการป้องกันการซึมผ่านของของเหลว (Fluid Resistance) ที่ใช้ผลการทดสอบโดยการหยดน้ำลงบนพื้นผิวผ้ากรองไรฝุ่นที่เคลือบด้วยสารนาโน พบลักษณะน้ำกลิ้งบนใบบัว โดยที่น้ำไม่ซึมไปในเนื้อผ้า 

 

นอกจากนี้ยังได้ทดสอบการหายใจด้วยอาสาสมัครในสภาพการทำงานในที่ร่ม พบว่าสามารถใส่ได้นาน ไม่รู้สึกอึดอัด และที่สำคัญคือสามารถซักซ้ำได้ประมาณ 30 ครั้ง 

 

ทั้งนี้หน้ากากอนามัย WIN-Masks ควรใช้ได้ในหลายกลุ่มเสี่ยง

  • กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการผู้ป่วยทั่วไป ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และไม่ได้ดูแลผู้ป่วย (Confirm Cases) อย่างใกล้ชิด เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร พนักงานเคลื่อนย้าย เจ้าหน้าที่เวชระเบียน ประชาสัมพันธ์ การเงิน ฯลฯ
  • กลุ่มบุคลากร (Non Healthcare) ที่ต้องให้บริการประชาชนจำนวนมากแบบเผชิญหน้า (Face to Face) เช่น พนักงานบนเครื่องบิน คนขับแท็กซี่ พนักงานท่าอากาศยาน ฯลฯ 
  • ประชาชนทั่วไปที่ต้องอยู่ในกลุ่มชนหรือพบปะผู้คนจำนวนมาก 

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากการสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสแล้ว ต้องร่วมกับการล้างมือทุกครั้ง หรือล้างด้วยแอลกอฮอล์ 70% อย่างน้อย 20 วินาที ก่อนสัมผัสจมูก ปาก หรือขยี้ตา และการปฏิบัติด้วยสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด กินร้อน ช้อนฉัน แยกภาชนะบรรจุอาหาร ไม่ใช้อุปกรณ์การรับประทานอาหารร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดกาแฟ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชนคนหมู่มาก คือวิธีที่สำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ

 

 

ขณะที่ข้อควรระมัดระวังและการเก็บรักษาทำความสะอาดมีดังนี้

  • หากใส่หน้ากากแล้วมีอาการหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย ให้ถอดหน้ากากออก 
  • เมื่อหน้ากากฉีกขาด ชำรุด หรือปนเปื้อนด้วยเสมหะหรือสารคัดหลั่ง ควรเปลี่ยนหน้ากากอันใหม่
  • หน้ากากผ้าใช้แล้วควรใส่ถุงพลาสติกหรือถุงซิปล็อกเพื่อปิดปากถุงให้แน่นสนิท และนําไปซักทำความสะอาด
  • การทำความสะอาด ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอก ไม่ควรใช้แปรง และไม่ควรใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยใช้ภาชนะทำความสะอาดแยกจากผ้าทั่วไป
  • เมื่อซักแล้วควรผึ่งตากแดดจนแห้งสนิทก่อนนำกลับมาใช้ใหม่

 

สำหรับ WIN-Masks พัฒนาขึ้นภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

 

ซึ่งการส่งมอบระยะแรก ภายใน 3 สัปดาห์จะสามารถส่งมอบได้ไม่เกิน 7,000 ชิ้นภายใต้บรรจุภัณฑ์ฆ่าเชื้อให้กับโรงพยาบาลหลักๆ ก่อน ส่วนการขยายผลต่อไปจะระดมทุนโดยอาศัยกลไก Crowd Funding ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ให้โรงงานที่ได้มาตรฐานรับดำเนินการผลิตขยายผลให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และดำเนินการให้ถึงมือประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนหลักหมื่นหรือหลักแสนชิ้น ขึ้นอยู่กับผลการระดมทุนและกำลังการผลิตของโรงงาน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising