×

EXCLUSIVE: ลุ้น Tesla ตั้งโรงงานผลิต EV ในไทยอีกครั้งได้หรือไม่? หลังนายกฯ เตรียมเสนอแพ็กเกจ EEC ฉบับปรับปรุง เว้นภาษีสูงสุด 15 ปี มัดใจ อีลอน มัสก์

18.10.2023
  • LOADING...
โรงงานผลิต EV

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีปลุกกระแสคนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยการทดลองขับ EV จากแบรนด์จีน BYD รุ่นใหม่ และเอาใจแบรนด์คู่แข่งด้วยการขับ Tesla รุ่น Model Y มาทำงาน ระหว่างนี้คงต้องลุ้นกันว่า จากการเยือนจีนเพื่อเข้าร่วมประชุม Belt and Road Forum ที่ปักกิ่ง ได้พบผู้นำทั่วโลก 

 

และในอีกมิติหนึ่ง เศรษฐา ทวีสิน จะสามารถใช้โอกาสนี้จีบนักลงทุน EV รายใหม่ๆ เข้ามาลงทุนในไทยได้มากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงเดือนพฤศจิกายนก็มีแผนเดินทางไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้งและเจรจากับ Tesla ให้มาตั้งโรงงานที่ประเทศไทย ภารกิจนี้จะสำเร็จหรือไม่  

 

ล่าสุด จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดครั้งแรกภายใต้คณะกรรมการบอร์ดชุดใหม่ ว่า ภายหลังจากที่ EEC ผลักดันเป้าหมายผ่าน 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ การแพทย์ขั้นสูง, ดิจิทัล, ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), BCG และบริการ และร่วมกับธนาคารกสิกรไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งระดมทุนและบริการทางการเงิน เพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 

 

ล่าสุดอยู่ระหว่างทบทวนและปรับสิทธิประโยชน์พิเศษเป็นรายกรณีให้กับนักลงทุนรายใหม่ๆ​ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า​ (EV) อาทิ Tesla ให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้หารือกับผู้บริการของ Tesla ในการเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่ผ่านมา

 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้นำเสนอแพ็กเกจให้นายกรัฐมนตรี​พิจารณา​ ซึ่งรายละเอียดเบื้องต้นของแพ็กเกจฉบับนี้จัดได้เป็นแพ็กเกจสูงสุดของการลงทุนในพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีการลงทุนต่างๆ สูงสุด 15 ปี และยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ​ทั้งอุปกรณ์และชิ้นส่วน การให้วีซ่า​ระยะยาวในการพำนักในไทยสูงสุด​ 10 ปี​ ทั้งในกลุ่มแรงงาน​และนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกันแพ็กเกจดังกล่าวจะเป็นแพ็กเกจพิเศษที่มากกว่า BOI ที่ยกเว้นภาษีการลงทุนสูงสุดที่ 8 ปี

 

รวมไปถึงการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (​Flat Rate) เหลือ 17% และปรับอัตราค่าเช่าพื้นที่สร้างโรงงาน คาดว่าจะให้เช่า​ได้สูงสุด​ 99 ปี​ ทั้งนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้​ และเพื่อบังคับใช้วันที่​ 1 มกราคม​ 2568 ต่อไป

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

“เดือนพฤศจิกายน ผมและนายกรัฐมนตรีมีแผนการเดือนทางไปสหรัฐฯ ซึ่งนายกฯ จะไปประชุม APEC คาดการณ์ว่านายกรัฐมนตรี​อาจจะนำเสนอแพ็กเกจการลงทุนดังกล่าวเสนอต่อ Tesla ให้มาตั้งโรงงานที่ประเทศไทย”

 

ทำไม Tesla ยังไม่มาตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในไทย​ 

 

THE STANDARD WEALTH สรุปบทวิเคราะห์จากเกียรตินาคินภัทรซึ่งระบุว่า ที่ผ่านมาสาเหตุที่ Tesla ยังไม่มาตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในไทย​ เนื่องจากตลาดรถยนต์ไทยมีขนาดเล็กและกำลังซื้อน้อยกว่าจีนและสหรัฐฯ โดยยอดขายรถยนต์นั่ง EV ในไทยมีเพียง 3-4 แสนคันต่อปี ขณะที่จีนขายได้ 20 ล้านคันต่อปี ซึ่ง Tesla มียอดขายในจีนอยู่ประมาณ 4 แสนคันต่อปี 

 

นอกจากนี้มาตรการรัฐที่สนับสนุนราคา Tesla ก็ยังสูงกว่าระดับราคารถที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้อยู่​ และการนำเข้ามีแนวโน้มถูกกว่าการผลิตในไทย Tesla ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ​อีกทั้งนโยบายอุตสาหกรรมประเทศอื่นดึงดูดการลงทุนมากกว่าไทย ส่งผลให้ปัจจุบัน Tesla เลือกจะนำเข้ารถยนต์จากจีนแทนการมาตั้งฐานการผลิตในไทย เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรี

 

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ก็มีเงื่อนไขกำหนดว่าต้องผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 2565-2566 จึงทำให้ Tesla ไม่ได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวและไม่ได้ส่วนลดทางภาษีพร้อมกับเงินอุดหนุนเหมือนค่ายรถจีน และยังไม่มีแผนสำหรับการตั้งฐานผลิตที่ไทย แม้ว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา

 

EV หมุดหมายพัฒนาเศรษฐกิจ

 

สำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้บรรจุวาระของการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญจากทั้งหมด 13 หมุดหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่วางไว้ 

 

ในปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและความต้องการ EV ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น

 

  • การอุดหนุนเงินสดสูงสุดถึง 150,000 บาท สำหรับรถ EV ที่ผลิตในประเทศ 
  • การยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงถึง 13 ปี สำหรับการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทย
  • การยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนเทคโนโลยีสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในระยะเริ่มต้น
  • การลดอัตราภาษีสรรพสามิต
  • การลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจดทะเบียนรถ 
  • การได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการส่งออกผ่านกรอบข้อตกลง FTAs ซึ่งทำให้การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนจากไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชีย-แปซิฟิกเสียภาษีใกล้เคียงศูนย์  

 

นอกจากนี้ยังมีมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่การเงิน เช่น การเร่งขยายโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 12,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2573 

 

หลังจากนี้คงต้องติดตามบทบาทเซลส์แมนและการพบนักธุรกิจชาวอเมริกันอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนจะส่งท้ายปีเศรษฐาจะสามารถนำแพ็กเกจการลงทุนใหม่นี้มัดใจ อีลอน มัสก์ สำเร็จหรือไม่ ต้องติดตาม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X