วารสาร Biological Reviews เผยแพร่งานศึกษาวิจัยว่า พบอัตราการสูญเสียประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดจนน่าตกใจ ขณะที่เกือบครึ่งของสายพันธุ์สัตว์ป่าทั่วโลกกำลังเผชิญกับการลดลงอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร
ผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าวศึกษาและวิเคราะห์สายพันธุ์สัตว์ป่าทั่วโลกมากกว่า 70,000 สายพันธุ์ ครอบคลุมกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังและแมลงทั้งหมด รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา เพื่อดูว่าประชากรของสัตว์ป่าเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ลดลง หรือคงที่ เมื่อเวลาผ่านไป
จากการศึกษาพบว่า 48% ของสายพันธุ์สัตว์ป่าเหล่านี้มีขนาดประชากรลดลง และมีน้อยกว่า 3% ที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น
ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ประชากรสัตว์ป่าลดลงมาจากการทำลายภูมิทัศน์ของป่า เพื่อใช้ในการทำการเกษตร การก่อสร้าง และการพัฒนาชุมชน เมือง และถนนหนทางต่างๆ ขณะที่ภาวะโลกรวนหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ที่ส่งผลให้สัตว์หลากหลายสายพันธุ์มีจำนวนประชากรลดลง โดยคาดว่าผลกระทบจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น
แดเนียล ปินเชรา โดโนโซ จากคณะวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยควีนส์ ในเมืองเบลฟาสต์ สหราชอาณาจักร ชี้ว่า การค้นพบดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนที่ร้ายแรง
“การศึกษาวิจัยอื่นๆ ซึ่งอ้างอิงจากจำนวนสายพันธุ์สัตว์ป่าที่น้อยกว่ามากแสดงให้เห็นว่า วิกฤตการสูญพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นโดยทั่วไป การค้นพบของเราเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนในระดับโลก” เขากล่าวเมื่อให้สัมภาษณ์กับ CNN
ขณะที่การศึกษาวิจัยนี้ให้ ‘ภาพที่ชัดเจนขึ้น’ เกี่ยวกับขอบเขตการกัดกร่อนของความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา วิกฤตการสูญพันธุ์จะถูกกำหนดโดยหมวดหมู่ของการอนุรักษ์ โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) จะเป็นผู้กำหนดให้กับสัตว์แต่ละชนิดหลังการประเมินในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
จากวิธีการดังกล่าวจะพบว่า บัญชีแดงของสายพันธุ์สัตว์ป่าที่ถูกคุกคามของ IUCN มีการจำแนกประเภทสายพันธุ์สัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่ที่ราว 28%
ขณะที่ ปินเชรา โดโนโซ กล่าวว่า “ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่า มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าสายพันธุ์สัตว์ป่าในปัจจุบันจะถูกจำแนกประเภทว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์หรือไม่ แต่อยู่ที่ขนาดประชากรของพวกมันว่าจะลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องหรือไม่” ซึ่งจากการประเมินของงานวิจัยฉบับนี้พบว่า 33% ของสายพันธุ์สัตว์ป่าในปัจจุบันที่จัดอยู่ในประเภท ‘ไม่เสี่ยงสูญพันธุ์’ ในบัญชีแดงของ IUCN ก็กำลังมีประชากรลดลงและเดินหน้าไปสู่การสูญพันธุ์
ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำได้รับผลกระทบในภาพรวมที่ค่อนข้างเลวร้าย โดยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามมากมาย รวมถึงโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ปลาและสัตว์เลื้อยคลานนั้นพบว่า จำนวนประชากรของสายพันธุ์ต่างๆ ดูเหมือนจะมีจำนวนค่อนข้างคงที่มากกว่าลดลง
ภาพ: Jorge GarcÍa / VW Pics / Universal Images Group via Getty Images
อ้างอิง: