วันนี้ (1 กันยายน) วิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคดี บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา แถลงข่าวภายหลังคณะกรรมการดำเนินการครบ 30 วันว่า เรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้เพราะสังคมมองว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีความอ่อนไหว เหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม และทั้งที่เป็นคดีที่เกิดบนท้องถนนทุกวัน และคดีนี้กลับมีอะไรเป็นพิเศษ เพราะใช้เวลาถึง 7-8 ปีตั้งแต่ปี 2555 และผลสั่งไม่ฟ้องต่างประเทศก็รู้ก่อน เป็นเรื่องน่าอับอายในองค์กรยุติธรรมและคนไทยเอง พร้อมขอบคุณคณะกรรมการทุกคนที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างขันแข็ง ซึ่งกระบวนการยังดำเนินการต่อไป รวมถึงนายกสภาทนายความก็มีความจริงจังที่จะจัดการทนายความ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ไม่ชอบ โดยจะส่งกรรมการมรรยาททนายความตรวจสอบ ขณะที่จะผิดอาญาหรือไม่ค่อยว่ากันอีกที
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้มายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรียังกังวลบางเรื่องว่าหากเผยแพร่จะกระทบใครหรือไม่ แต่ในสรุปรายงานยืนยันว่าครบ บอกหมดว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องแบบไหน มีพฤติการณ์อย่างไร
“แต่ก็เป็นสิทธิของนายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการต่อ ซึ่งในสำนวนที่มอบให้สื่อมวลชนนั้นเป็นตัวละครที่ให้นามย่อพ่วงด้วยตำแหน่ง แต่อ่านดูก็รู้ว่าใคร ขอย้ำว่าไม่ต้องกังวลใจ ขอให้สบายใจว่าเราต้องการสิ่งที่เป็นจริง” วิชากล่าว
วิชากล่าวต่อไปว่า เราเห็นพฤติกรรมที่ทำกันมา ทำสำนวนบกพร่องแต่แรก คือตั้งข้อหาคนตาย ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คนตายไม่มีโอกาสต่อสู้คดี แม้จะได้รับเงินเยียวยา แต่ทำให้รูปคดีเสียหายอย่างหนัก เห็นภาพว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำอย่างมืออาชีพ เพราะบางข้อกล่าวหาไม่ได้ใส่ แค่สอบให้รู้ว่าสอบแต่สั่งไม่ฟ้อง เช่น เรื่องเมาแล้วขับ กลับกลายเป็นขับแล้วเมาทีหลัง
“สำหรับคดีของ บอส อยู่วิทยา มีข้อบกพร่องแต่แรกที่ไม่สามารถเอาตัวมาฟ้องคดีได้ ทำให้เกิดช่องโหว่ในการร้องขอความเป็นธรรมมากถึง 14 ครั้ง โดย 13 ครั้งก่อนหน้าไม่ประสบความสำเร็จ และมาสำเร็จในครั้งที่ 14 อัยการหลายคนรู้สึกเสียใจมากที่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญคือใช้เวลาถึง 6 เดือนในการสอบสวน แต่กลับไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องศาลตามที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องแต่แรก” วิชากล่าว
วิชากล่าวด้วยว่าพยานหลักฐานครั้งที่ 8 เป็นครั้งที่เป็นการร่วมมืออย่างผิดปกติที่สุด เป็นการทำสำนวนแบบสมยอม วันที่สอบพยานผู้เชี่ยวชาญก็ผิด ทั้ง พ.ต.อ. ธนสิทธิ์ แตงจั่น และ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ทำให้กลับความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ โดย พ.ต.อ. ธนสิทธิ์ ยืนยันว่าเป็นการถูกกดดันและพยายามที่จะเปลี่ยนตลอดมา ซึ่งก็ขอบคุณที่มาให้ถ้อยคำที่เป็นประโยชน์ ซึ่งวันสอบอันเป็นเท็จคือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 2 มีนาคม 2559 แต่แท้จริงคือวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 มีหลักฐานยืนยันชัดเจน และขณะนี้ทั้งสองคนขออยู่ในกระบวนการคุ้มครองพยานโดยทันที เพราะเกิดความกลัว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการตรวจสอบทั้งหมดมีความเห็นตรงกันว่าเป็นกระบวนการทำสำนวนสมยอมโดยไม่สุจริตตามทฤษฎีสมคบคิด ทำสำนวนเสียตั้งแต่ต้น พร้อมเปรียบเปรยว่าต้นไม้พิษย่อมให้ผลเป็นพิษ ดังนั้นต้นไม้พิษต้องฟันทิ้ง เห็นสมควรให้สอบสวนใหม่ แต่บางข้อหาขาดอายุความไปแล้ว ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะเร่งด่วนเกี่ยวกับเรื่องอายุความ เสนอว่าต้องแก้ให้อายุความหยุดลงเมื่อผู้ต้องหาหลบหนีแบบเดียวกับคดีทุจริต จนกว่าจะได้ตัวมา อายุความจึงจะเริ่มนับต่อ และรีบเสนอก่อนที่จะมีการเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องมีกฎหมายใช้ทั่วถึงกัน และเรื่องนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมยืนยันว่าต้องดำเนินการบุคคลในตำแหน่งสูงและเป็นผู้นำองค์กร อาจจะไม่ได้ข้อมูลแท้จริงทางอาญาและวินัย แต่ทำได้ในแง่จริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ โดยให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ซึ่งสามารถให้พ้นจากตำแหน่งโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่เกี่ยวพันกับ บอส อยู่วิทยา เป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองทางภาคเหนือ และกรณี จารุชาติ มาดทอง พยานที่เสียชีวิต ตำรวจภาค 5 ก็กำลังตรวจสอบว่าทำไมจึงมีการทำลายโทรศัพท์มือถือผู้ตาย และจารุชาติขณะยังมีชีวิตก็กลับคำให้การเดิมด้วย
“ส่วนอัยการที่เกี่ยวข้องกับคดียังไม่ได้รับการอนุมัติให้ลาออก ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องตรวจสอบเรื่องเส้นทางการเงินด้วย โดยจะพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศ ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นไว้วางใจ” วิชากล่าว
สำหรับเอกสารสรุปผลการสอบสวนที่ให้ต่อสื่อมวลชนระบุชัดเจนว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไปเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นคดีจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ใช้อำนาจหน้าที่ ใช้อิทธิพลบังคับ และการสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากคดี
ขณะที่ข้อเสนอของคณะทำงานหลักๆ 2 ข้อคือ
- ต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ในข้อหาที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะข้อหายาเสพติด ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
- จะต้องดำเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมในขบวนการคือ
2.1 พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับสำนวน
2.2 พนักงานอัยการซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
2.3 ผู้บังคับบัญชาซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
2.4 สนช. ที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
2.5 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
2.6 ทนายความซึ่งกระทำผิดกฎหมาย
2.7 พยานซึ่งให้การเป็นเท็จ
2.8 ตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนในการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์