วันนี้ (6 ตุลาคม) สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นจนคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่วานนี้ (5 ตุลาคม) โดยน้ำได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน, บริษัท และห้างร้าน ในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะย่านเศรษฐกิจบนถนนช้างคลานจากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำในแม่น้ำปิงที่เอ่อล้นเข้าท่วมบริเวณที่ลุ่ม
ส่งผลให้บริเวณโบราณสถานเวียงกุมกาม ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอายุมากกว่า 700 ปี ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ จำนวนประมาณ 20 แห่ง มีน้ำท่วมขัง
เทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า บพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพน้ำท่วมโบราณสถานเวียงกุมกาม พบว่าโบราณสถานภายในเวียงกุมกามหลายแห่งมีน้ำท่วมขัง เช่น กู่ป้าด้อม, วัดหนานช้าง, วัดอีก้าง, วัดธาตุขาว และวัดปู่เบี้ย จึงได้สั่งการให้สำนักศิลปากรที่ 7 ดำเนินการสูบน้ำที่ท่วมขังออก
ทั้งนี้ โบราณสถานในเวียงกุมกามที่มีน้ำท่วมขังต้องแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- โบราณสถานที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน เกิดจากการขุดค้นลึกลงไปจากผิวดินมากกว่า 1 เมตร เช่น วัดกู่ป้าด้อม, วัดหนานช้าง, วัดธาตุขาว, วัดกานโถม (วัดช้างค้ำ) กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี ตัวโบราณสถานจึงสามารถระบายความชื้นได้ตามธรรมชาติ
- โบราณสถานที่อยู่ระดับพื้นดิน เช่น วัดปู่เบี้ย, วัดอีก้าง ที่มีความสมบูรณ์และมีความสูงของตัวเจดีย์ ซึ่งโบราณสถานกลุ่มนี้เป็นโบราณสถานที่ไม่เคยถูกน้ำท่วมมานานกว่า 10 ปี กลุ่มนี้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะไม่สามารถปรับตัวได้เองเหมือนกลุ่มแรก ดังนั้นการสูบน้ำจะต้องค่อยๆ สูบออกจากพื้นที่ เพื่อให้โบราณสถานค่อยๆ ปรับสภาพของตนเอง โดยเฉพาะอิฐที่ต้องมีการปรับตัวอย่างช้าๆ หากเร่งสูบน้ำออกจนแห้งทันที จะทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวโบราณสถานได้
ทั้งนี้ หากสถานการณ์น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่เป็นปกติแล้ว จะประสานไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ นอกจากนี้ยังเตรียมการป้องกันปัญหากระแสน้ำจากแม่น้ำปิงและลำคลองต่างๆ ที่อยู่โดยรอบพัดเข้ามายังโบราณสถานจนเกิดความเสียหาย โดยจะปลูกต้นไม้ไว้เป็นแนวป้องกันกระแสน้ำ แต่จะไม่สร้างกำแพงคอนกรีต เพราะจะทำให้ไม่สวยงาม
เวียงกุมกามตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มต่ำด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง แต่ถูกตะกอนดินจากการเปลี่ยนทางของแม่น้ำปิงทับถมจนสูญหายไป ก่อนจะค้นพบภายหลัง จนมีชื่อเรียกว่า ‘เมืองโบราณใต้พิภพ’ ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ อำเภอสารภีร่วมกับกลุ่มจิตอาสาจะจัดกิจกรรมทำความสะอาดบริเวณพื้นที่โบราณสถานที่ได้รับผลกระทบ
ภาพและเรื่อง: พงศ์มนัส ทาศิริ