×

ทำไมคณะเก่าแก่แห่งนี้ถึงกลายเป็น LGBTQ-Friendly ได้?

07.07.2021
  • LOADING...
LGBTQ-Friendly

ใครจะเชื่อว่า ‘โรงเรียนกฎหมาย’ แห่งแรกของประเทศไทย อายุเกือบ 90 ปีแห่งนี้ จะหันมาให้ความสำคัญกับ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ในทุก ๆ ด้าน?

 

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 บนเว็บไซต์ของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีโพสต์ประกาศที่ใครๆ อ่านแล้วต้องแปลกใจ กับข้อความที่สื่อสารกับสาธารณะ ต้องบอกว่า ‘ล้ำ’ มากสำหรับอุดมศึกษาในวงการการศึกษาด้านกฎหมายของไทย

 

‘ประกาศคุณค่าและนโยบายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการยอมรับความหลากหลายทางเพศ’

 

LGBTQ-Friendly

 

ประกาศที่ออกสู่สายตาประชาชนในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนที่ทั่วโลกจัดไว้ให้เป็น ‘Pride Month’ เพื่อเปิดโอกาสให้ความแตกต่างหลากหลายทางเพศในทุกๆ วงการเกิดขึ้น เป็นเวลาที่ตรงกันโดยบังเอิญ หรือเพราะจังหวะมันได้?

 

LGBTQ-Friendly

 

ทำไมอยู่ๆ คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ถึงมาให้ความสำคัญเรื่องนี้?

“ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เคยอยู่ในความสัมพันธ์กับผู้หญิงค่ะ ตอนนั้นเสียงจากคนรอบตัวที่หวังดีกับเรามากๆ บอกว่า อย่าเปิดเผยเลยนะ ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาในการหางานในอนาคต จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมได้อย่างไร”

 

ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU Health & Wellness เล่า

 

‘อาจารย์โบว์’ เชื่อมโยงประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว และรับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ความอึดอัด และความเจ็บปวด 

 

“พอจุดเริ่มแรกถูกเซ็ตมาแบบนั้น บอกตรงๆ เลยว่าตลอดเวลาที่อยู่ในความสัมพันธ์มันอยู่ด้วยความหวาดกลัว อยู่ด้วยความรู้สึกว่าการอยู่ในความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันมันด้อยกว่าคนอื่นเหรอ ถึงวันนี้เรายังจำความรู้สึกเจ็บปวด ความรู้สึกหวาดกลัวนั้นได้

 

ประกอบกับตอนนั้นมีเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งมีอัตลักษณ์ทางเพศอีกแบบ และเรารู้ว่าเขาจะต้องปิดบังอัตลักษณ์ทางเพศ เราก็คิดไปว่า คนที่ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เลยอย่างเสรี มันจะถูกกดทับและถูกบั่นทอนจิตใจมากแค่ไหน ในขณะที่เรายังสามารถแต่งตัวและเป็นตัวของเองได้ เพียงแค่กลัวที่จะต้องเปิดเผยเรื่องของคนรักเท่านั้น”

 

ความคิดนั้นยังคงดังก้องอยู่ ทำให้อาจารย์นิติศาสตร์ท่านนี้ให้สัญญากับตัวเองว่า

 

‘มันไม่ควรที่จะต้องมีคนมาถูกบั่นทอน ถูกกดทับแบบนี้อีกแล้ว’

 

แม้ตอนนี้เธอจะไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์นั้นแล้ว และเดตกับผู้ชาย แต่ยังจดจำความรู้สึกนั้นไว้เพื่อเป็นพลังในการทำงานด้านนี้ต่อไป โดยไม่ได้ปิดบังอดีต บุคคลท่านนี้น่าจะเป็นอาจารย์ของคณะนี้เพียงไม่กี่คน หรือไม่ก็อาจเป็นคนแรกเลยก็ว่าได้ที่กล้าเล่าเรื่องนี้ให้นักศึกษาฟัง ‘อย่างเปิดเผย’ และทำให้เป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่สุด

 

ความรู้สึกปลอดภัยและให้ความเคารพในตัวตนกันและกันได้รับการตอกย้ำมากขึ้น เมื่อเธอได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา ในช่วงที่กำลังศึกษาต่อปริญญาเอก และได้เห็นอะไรบางอย่างที่เกิดแรงบันดาลใจและความคิดต่างๆ 

 

“ทุก ๆ ที่ในมหาวิทยาลัยจะมีโปสเตอร์ประกาศว่า ที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัย จะไม่ยอมรับการกระทำอันเป็นการดูหมิ่น ล้อเลียน หรือเลือกปฏิบัติใดๆ ก็ตาม เป็นสิ่งที่เห็นแล้วทำให้รู้สึกสบายใจและมั่นใจ เพราะพอเรารู้ว่าสถาบันหรือองค์กรนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เราสามารถเปิดเผยได้ ถ้ามีใครมาถามว่ามีแฟนหรือยัง เราก็เล่าได้ปกติ อันนี้คือหนึ่งในแรงบันดาลใจ” 

 

เมื่อได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ เธอจึงเกิดไอเดียว่าอยากจะผลักดันเรื่องนี้เป็นรูปธรรม เริ่มแรกด้วยการเล่าเรื่องตัวเองให้เป็นเหมือน ‘เรื่องปกติ’ อย่าง “เราเคยมีแฟนเป็นผู้หญิงนะ” ทำให้นักศึกษารู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ต้องปกปิด พอมีแรงสนับสนุนมากขึ้น ก็ชวนกลุ่มนักศึกษาที่สนิทและสนใจมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน

 

“ทุกๆ ครั้งที่คุยกับนักศึกษา พวกเขาจะมีคำถามว่า ถ้าเราทำกิจกรรมแล้ว คณะจะว่าอย่างไรเหรอ คณะจะโอเคไหม อาจารย์จะโอเคไหม มันสัมผัสได้ถึงความกลัวบางอย่างค่ะ รู้เลยว่าการที่คณะจะออกมาประกาศนโยบาย ประกาศคุณค่า ยอมรับ และสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ”

 

จากการคุยกับนักศึกษาปีสี่เพียงหนึ่งคน ค่อยๆ รวมกันตัวกันเป็นกลุ่มนักศึกษาที่หลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งมีเพื่อนชายหญิงทั่วไปและกลุ่มที่ไม่ระบุเพศมาช่วยกันทำงานอย่างแข็งขัน หลายสิ่งหลายอย่างของคณะเริ่มก่อร่างขึ้น

 

LGBTQ-Friendly

 

Clubhouse มิติใหม่ของการเปิดโอกาสให้พูด ให้คิด

คณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่มีวัฒนธรรมเปิดในเรื่องคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน จนเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปอยู่แล้ว และที่ผ่านมาที่นี่ก็ให้ความสนใจเรื่อง ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และกฎหมายเรื่องความเท่าเทียม มีการจัดสัมมนาและอภิปรายอยู่บ่อยครั้ง

 

“น่าจะเป็นช่วงเวลาที่โชคดีมากๆ ที่คณบดี ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน เปิดกว้างมาก เราก็จัด Clubhouse ให้ทุกคนมาช่วยกันเล่าว่ามีปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกล้อเลียนอะไรบ้างในคณะ คณะอาจารย์ก็เปิดกว้าง ช่วยกันแชร์โพสต์ ช่วยกันพีอาร์กิจกรรม และไม่ว่าจะติดต่อไปในทางส่วนตัวกับอาจารย์ท่านไหนในคณะ ทุกคนก็พร้อมสนับสนุน ช่วยโปรโมต มันเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างราบรื่นมากค่ะ”

 

เป้าหมายของโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มเลยก็คือ คณะต้องประกาศจุดยืน ‘อย่างเป็นทางการ’ และนั่นคือสิ่งที่ได้แสดงผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรมและกำลังสร้างแรงกระเพื่อมอย่างน่าสนใจยิ่ง 

 

“จากไอเดียนักศึกษาเอง นักศึกษาเป็นแรงบันดาลใจ อย่างเช่น ตลอดเดือนมิถุนายนเราจะต้องขึ้นสีรุ้งตลอดทั่วทั้งคณะ นี่ถ้าเปิดตึกคณะได้ก็คงมีธงรุ้งนะ ตอนนี้ (ติดปัญหาโควิด) เราก็ทำได้แค่ใน Facebook ไปก่อน”

 

ในขณะที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งกำลังมองหาจุดอะไรที่ลงตัว และพยายามหลีกเหตุผลเพื่อ ‘ความเหมาะสม’ ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตเรื่อง ‘การแต่งกายตามเพศสภาพ’ ‘การแต่งกายในวันรับปริญญาของนักศึกษาข้ามเพศ’ สถาบันผลิตนักกฎหมายเก่าแก่แห่งนี้ได้ประกาศความต้องการเปลี่ยนแปลง ‘ทั้งคณะ’ เพื่อรองรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ และนั่นไม่ใช่ประกาศเพื่อความ ‘สวยหรู’ แต่พร้อมที่จะ ‘Action Plan’ ทันที

 

อาจารย์โบว์เล่าว่า สิ่งหนึ่งที่นักศึกษาสะท้อนมาก็คือ คำถามจากเพื่อนนักศึกษาเรื่อง LGBTQ ที่มีการถามบ่อย จึงคิดที่จะเริ่มต้นจากการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจก่อนเป็นลำดับแรก และนับเป็นภารกิจหลักที่ทางกลุ่มนักศึกษาและคณะจะต้องสื่อสารออกไป

 

“มหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศมีแนวนโยบาย และ Action Plan เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว เราและเพื่อนอาจารย์ก็ไปเก็บรวบรวมข้อมูลมาว่า Action Plan ของเขามีอะไรบ้าง ตั้งแต่คุยเรื่องโครงการนี้จนกระทั่งได้ประกาศเป็นนโยบายนี้ ใช้เวลาแค่ 4 เดือน”

 

หลังจากนำเสนอความคิด แผนงาน และได้รับความเห็นชอบแล้ว ทางคณะนิติศาสตร์จะมีการทบทวนการปฏิบัติต่างๆ เช่น แบบฟอร์ม คำนำหน้านาม รวมไปถึงข้อความประกาศในการเปิดรับนักศึกษา กระทั่งการประกาศคุณค่าและนโยบายนี้ในงานปฐมนิเทศ

 

ในการดำเนินการ มีคณะกรรมการตรวจสอบและส่งเสริมความเสมอภาค (เป็นคณะกรรมการที่มีอยู่แล้วและดูความเท่าเทียมในด้านต่างๆ เช่น ผู้พิการ) เป็นแม่งาน และตอนนี้กำลังร่วมกันพิจารณาว่าควรยกเลิกการขอคำนำหน้านาม หรือเปิดช่องให้คนกรอกเลือกได้ จากนั้นเตรียมจัดให้มีการสื่อสารภายในให้ชัดเจน

 

LGBTQ-Friendly

 

ตั้ง Thammasat Pride and Allies

ขับเคลื่อนด้วยพลังนักศึกษาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

นักศึกษากลุ่มนี้รวมตัวกันตั้ง ‘Thammasat Pride and Allies’ ขึ้นมาเพื่อสร้างแนวร่วม ทั้งนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของคณะ ตอนนี้กำลังเพิ่มจำนวนผู้ที่สนใจ และมี ‘Mission’ ร่วมกันที่ต้องการขับเคลื่อนในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างพลังที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

LGBTQ-Friendly

 

‘Respectful Conduct’ (การให้ความเคารพกันและกัน) ที่จัดทำขึ้น แสดงให้เห็นว่า ต่อไปนี้เราจะกำหนดมาตรฐานใหม่ เราจะจริงจังและไม่ปล่อยให้เป็นแค่เรื่อง ‘ขำๆ’ หรือเป็นเรื่องสนุก เรามี Ambition ในการสร้างมาตรฐานใหม่ เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพและให้เกียรติกัน คณะมีนักศึกษาเป็น Trans มี Bisexual มี Non-Binary มี Asexual (กลุ่มคนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ) มหาวิทยาลัยจะเปิดกว้างทางความคิดและให้ความสำคัญในความหลากหลายนี้” เธอกล่าวด้วยความเชื่อมั่น

 

LGBTQ-Friendly

 

ต่อมาในเดือนเดียวกัน ทางสภามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ยกระดับระเบียบเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย โดยให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพได้ จากเดิมเป็นเพียง ‘ระเบียบ’ ต่อมาปรับให้เป็น ‘ข้อบังคับ’ โดยเพิ่มเนื้อหาข้อ 9 ว่า ‘นักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศกำเนิดหรือเพศสภาพได้’

 

“อาจารย์ยินดีมากที่มหาวิทยาลัยเปิดกว้าง อยากเห็นการรวมตัวของนักศึกษาที่เข้มแข็ง อยากเห็นหน่วยสนับสนุนต่างๆ ตัวนักศึกษามีไอเดียดีมาก เช่น อยากให้มีการสนับสนุนทางด้านจิตใจและอื่นๆ เช่น ในกรณีการ Come-out (การเปิดเผยตัว) กับพ่อแม่ เพื่อนอาจารย์เองที่อาจยังไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ก็น่าจะได้รับการสนับสนุนโดยไม่มีการกดดันใดๆ แต่เริ่มจากการที่ทุกคนช่วยสร้างให้ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย”

 

งานท้าทายต่อไปที่อาจจะหินสำหรับคณะนี้ก็คือ วงการกฎหมาย ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ว่าเป็นพื้นที่ ‘อนุรักษ์นิยมสูง’ ไม่ว่าจะเป็นศาล อัยการ ทนายความ หรือแม้กระทั่งอาจารย์ บนความเชื่อที่ว่าเสาหลักแห่งนี้ต้องมี ‘ความน่าเชื่อถือ’ การมี LGBTQ และเปิดเผยตัวเข้าไปทำงานจะส่งผลอะไรหรือไม่?

 

“ในอนาคตคงเป็นงานใหญ่ที่ต้องค่อยๆ ผลักดันให้เคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามกระแสของโลก แคนาดามีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Never Going Back: A History of Queer Activism in Canada หนังสือกล่าวว่า ประเทศเขาเปิดมากแล้ว มันเป็นกระแสไปแล้ว แต่ทุกคนยังต้องรวมพลังเพื่อผลักดันต่อไปเรื่อย ๆ ตอนนี้อาจารย์มองในแง่ดีและมีความเชื่อมั่นมากค่ะ”

 

Never Going Back

 

ความหลากหลายทางเพศ คำถามที่ยังมีอยู่ในสังคมไทย?

 

ทำไมคำถามเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศยังมีอยู่ ไม่หายไป และอะไรเป็นสาเหตุที่ใครหลายๆ คนยังถามอยู่

 

“มันเป็นความเชื่อที่ส่งทอดกันมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย เพียงแค่หลายคนอาจไม่เคยตั้งคำถามและมีความกลัวบางอย่างในใจ กลัวความไม่ปลอดภัย เช่น ลูกเราจะอยู่ในสังคมได้ไหม หรือตัวพ่อแม่เองจะอยู่ได้ไหมที่จะต้องเจอกับคำถามจากคนรอบตัว หัวใจหลักก็คือความกลัว

 

อะไรที่แตกออกมาจากสิ่งที่เรายึดถือเดิมอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นลึกๆ ในใจ คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้ความกลัวนั้นหายไป คำตอบก็คือการสร้างคุณค่าใหม่มาละลายความเชื่อนี้”

 

ช่วงที่ตัวเองเรียนจบและกำลังจะกลับไทยรู้สึกกังวลกับเรื่องนี้ ด้วยวัยที่ทำให้กลัวว่าจะมีคนถามว่าแต่งงานหรือยัง เลยไปคุยกับเทอราปิสต์ซึ่งเป็นคนเยอรมัน ว่าเราจะบอกกับญาติผู้ใหญ่อย่างไรว่าเราคบผู้หญิง เพราะพวกเขาคงยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ แต่เราไม่อยากโกหก อยากให้เกียรติคนที่เรารัก เลยถามเทอราปิสต์ว่าถ้าพูดเรื่องทฤษฎีสังคมชายเป็นใหญ่ดีไหม คำตอบที่ได้กลับมาคือ ในสังคมเยอรมนี เมื่อคนในตำแหน่งสำคัญๆ กล้าออกมาเปิดเผยตัวตนมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองได้ ไม่ใช่ชีวิตต้องหมดหนทางหรือด้อยกว่า เมื่อมีคนจำนวนมากขึ้นค่อยๆ เปิดจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา คุณค่าของสังคมจะเปลี่ยนไปได้อย่างแน่นอน” ดร.พนัญญากล่าว

 

LGBTQ-Friendly

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

FYI

คุณค่า 7 ประกาศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประกาศคุณค่าและนโยบายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการยอมรับความหลากหลายทางเพศ

 

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยึดมั่นในคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคเท่าเทียม และการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพให้เกียรติในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงสังคมที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สภาพร่างกาย เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง สถานะทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม

 

คณะนิติศาสตร์ตระหนักถึงประโยชน์ของการสร้างพื้นที่ให้นักศึกษาและบุคลากรรู้สึกปลอดภัย ได้รับการยอมรับให้เกียรติ และสามารถพัฒนาศักยภาพของตนในฐานะมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ จึงขอประกาศยืนยันคุณค่าดังกล่าวด้วยนโยบายเฉพาะด้าน ดังนี้

  1. ทบทวนและแก้ไขทางปฏิบัติของคณะนิติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการขอข้อมูลส่วนบุคคลของนักศึกษาและบุคลากร กฎระเบียบเรื่องการแต่งกาย การใช้ภาษาในโอกาสต่างๆ ให้สอดคล้องกับคุณค่าของการเคารพในความหลากหลายทางเพศ
  2. ให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาและบุคลากรในประเด็นความหลากหลายทางเพศ รวมถึงแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ เช่น ในงานปฐมนิเทศน์นักศึกษาและบุคลากร เป็นต้น
  3. สนับสนุนกิจกรรมวิชาการ ชมรม และกิจกรรมของนักศึกษาด้านความหลากหลายทางเพศ
  4. สนับสนุนการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ
  5. ยืนยันคุณค่าของการเคารพความหลากหลายทางเพศในเว็บไซต์ รวมทั้งในประกาศหรือสื่อประชาสัมพันธ์ของคณะนิติศาสตร์ในโอกาสต่างๆ เช่น การรับสมัครบุคคลเข้าทำงานหรือเข้าศึกษาในหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ เป็นต้น
  6. ติดตามและประเมินผลบนพื้นฐานของหลักการมีส่วนร่วมและการเสริมสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา
  7. รับเรื่องร้องเรียนโดยคณะกรรมการตรวจสอบและส่งเสริมความเสมอภาค หากมีผู้ถูกเลือกปฏิบัติ ดูหมิ่น ตีตรา เกลียดชัง ไม่เคารพให้เกียรติด้วยเหตุอันเกิดจากความหลากหลายทางเพศ

 

Profile:

อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร

ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU Health & Wellness

อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ

 

Education:

น.บ. (เกียรตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

LL.M. (sehr gut) Georg-August-University of Göttingen, Germany

Dr.Jur. (summa cum laude) Georg-August-University of Göttingen, Germany หัวข้อวิทยานิพนธ์: The Concept of Development in the Evolution of International Environmental Law: In Search of a Human Face in Protecting the Planet

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X