หากจะนับหมุดหมายที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 อาจใช้เวลาพักใหญ่ ค่าที่ว่าปีนี้ไม่เพียงมีแต่เหตุการณ์ใหญ่ยักษ์ทั้งในระดับสากลโลกเท่านั้น ลำพังสเกลระดับประเทศก็ชวนให้นับด้วยนิ้วมือไม่หมด โดยเฉพาะหากเราจับจ้องไปยังปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คุกรุ่นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี ลากยาวมาจนเป็นรูปเป็นร่างของ 3 ข้อเรียกร้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรียกร้องให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
น่าสนใจว่าภายหลังการปักธงเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 88 ปีก่อน ประเทศไทยยังวนซ้ำ ย่ำอยู่กับการปฏิรูปและการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายฉบับ โดยยังไม่อาจปักหลักที่ฉบับใดฉบับหนึ่งได้ เงื่อนไขสำคัญนั้นคืออะไร เหตุผลใดที่ทำให้เราไม่อาจมีรัฐธรรมนูญที่แข็งแกร่งและอายุยืนแบบเดียวกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยประเทศอื่นๆ ในโลก
ในวาระที่วันที่ 10 ธันวาคมนี้คือวันรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นวันที่สถาปนามาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของไทย เราจึงชวน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้เรายังไม่ไปไหน ยังต้องเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอีกครั้งและอีกครั้ง แม้ในโมงยามที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
วันรัฐธรรมนูญต่างจากทุกปีอย่างไร โดยเฉพาะถ้าโฟกัสรัฐธรรมนูญไทยตอนนี้
เป็นปีที่ประเด็นเรื่องการต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญเข้มข้นที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้วันรัฐธรรมนูญมันดูมีความหมายขึ้นมา ดูมีกิจกรรมเยอะ ดูคึกคัก เพราะมันกลายมาเป็นใจกลางอันหนึ่งของความขัดแย้ง เพราะมันเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุมตอนนี้
มองว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในการเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญสะท้อนภาพอะไรบ้างในปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทย
จริงๆ มันเป็นเรื่องน่าเสียดายนะที่ในวันนี้เรายังต้องมาต่อสู้และขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่ เพราะในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา 88 ปี ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 สังคมไทยต้องทะเลาะขัดแย้งกันเรื่องรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง จริงๆ เกือบจะทุกครั้งเลยที่มีวิกฤตการเมืองใหญ่ ประเด็นรัฐธรรมนูญจะเข้ามาเกี่ยวข้อง เหมือนว่าเรายังเถียงกันไม่จบในเรื่องกติกา
รัฐธรรมนูญคือกติกาสูงสุดในการวางโครงสร้างอำนาจทั้งหมด วางความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งหมด ประเทศอื่นเขาไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องนี้แล้ว กติกามันนิ่ง ทุกคนเล่นภายใต้กติกาเดียวกัน ฉะนั้นเวลาเขาขัดแย้งกันทางการเมือง เขาไปเถียงกันในประเด็นที่ว่านโยบายจะเอาอย่างไร เศรษฐกิจจะเป็นแบบไหน เสรีนิยม สวัสดิการ แก้ปัญหาโลกร้อนอย่างไร แก้ปัญหาโควิด-19 วางมาตรการ มันไปเถียงในเรื่องนโยบาย
ของเราเอง กระทั่งกติกาพื้นฐานยังต้องมาเถียงกันอยู่ เหมือนการเตะฟุตบอล เตะมา 88 ปีแล้วยังไม่มีกติกาที่ทีมต่างๆ จะมาแข่งกัน มันลงเล่นเลย ทีนี้การเมืองมันจึงไม่มีทางสงบ เพราะผู้เล่นเล่นเอง ผู้ชมทั้งหมดไม่มีกติการ่วมกัน
14 ตุลาก็เรื่องรัฐธรรมนูญ ชนวนเหตุคือนักศึกษาเขารณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาล ถนอม กิตติขจร คลอดรัฐธรรมนูญแล้วอยากชุบตัวเองเป็นประชาธิปไตย คือทำไปทำมาก็รู้ว่าบริหารแบบประชาธิปไตยอึดอัด บริหารไม่ได้ ก็เลยปฏิวัติตัวเอง ไม่มีรัฐธรรมนูญ นักศึกษาและปัญญาชนเขาจึงออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พอเขาออกมาเรียกร้อง แจกใบปลิว รัฐบาลถนอมก็ไปจับกุม จึงเกิดเป็นชนวนของเหตุการณ์ 14 ตุลา
พฤษภาทมิฬ ปี 2535 หลายคนยังทัน ตอนนั้นก็เรื่องรัฐธรรมนูญอีก เพราะว่า รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) รัฐประหาร ก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง เพื่อปูทางให้หัวหน้าคณะรัฐประหารอย่าง พล.อ. สุจินดา คราประยูร ขึ้นมาเป็นนายกฯ ได้ ด้วยการบอกว่านายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง คือเปิดทางไว้ แล้วให้ประธานวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งประธานวุฒิสภาก็จะเป็นคนเสนอชื่อนายกฯ ทูลเกล้าฯ คือเตรียมสืบทอดอำนาจให้เบ็ดเสร็จ พฤษภาทมิฬที่คนออกมาเรียกร้องกันเรียกว่าม็อบมือถือ นอกจากเรียกร้องให้ พล.อ. สุจินดา ลาออกแล้วก็เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็น ประเด็นสำคัญคือนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่เอานายกฯ คนนอก ก็เลยนองเลือด เสียชีวิตทั้ง 2 ครั้งในเรื่องรัฐธรรมนูญ
พอมารอบนี้ก็เรื่องรัฐธรรมนูญอีก เพราะว่ามันกลับไปคล้ายๆ เหตุการณ์และสถานการณ์ทั้งตอน 14 ตุลาและพฤษภาทมิฬเลย คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีความคล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 ที่ จอมพล ถนอม เป็นผู้ร่าง คือเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างในบรรยากาศที่ประเทศเป็นเผด็จการทหาร ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วร่างเพื่อสืบทอดให้หัวหน้าคณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจต่อไปได้ คือจอมพล ถนอม
แล้วมันก็คล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 คือร่างหลังรัฐประหารเพื่อให้หัวหน้าคณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจต่อไปได้คือ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ฉะนั้นมันคือประวัติศาสตร์ซ้ำรอย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ พล.อ. สุจินดา คือจอมพล ถนอม รัฐธรรมนูญ 2560 คือรัฐธรรมนูญ 2534 คือรัฐธรรมนูญ 2511 ซึ่งเป็นมรดกของการรัฐประหาร
มองว่ามันจะมีกติกาที่ทุกคนยอมรับกันได้ไหม โดยไม่ต้องมานั่งเถียงเรื่องกติกากันอีก
มันมี และเราต้องทำให้มันมี แม้ว่าปัจจุบันมันจะยังไม่มี เพราะถ้าเราไม่สามารถแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและทุกฝ่ายยอมรับได้ มันก็จะขัดแย้งกันไปอย่างนี้ไม่จบสิ้น แล้วมันยากที่ประเทศจะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ถ้ากติกายังไม่นิ่ง คุณไม่ต้องไปพูดถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ การออกนโยบาย หรือการมีการเมืองที่ดีได้ มันต้องเริ่มสร้างจากกติกาก่อน มันง่ายที่สุด เหมือนคุณจะมีเกมฟุตบอลที่สนุกได้ยังไงถ้าไม่มีกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับด้วยกัน มันก็มั่วซั่วไปหมด ฉะนั้นเราต้องสร้างให้ได้
จริงๆ รัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นใกล้เคียงที่สุดแล้ว ถ้าย้อนกลับไป เรามีรัฐธรรมนูญที่พยายามวางรากฐานประชาธิปไตยจริงๆ ก็มีแค่ 5 ฉบับ สองฉบับแรกคือฉบับที่ 27 มิถุนายน 2475 และฉบับที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้วก็มาเป็นฉบับ 2489 ด้วยที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ร่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วจึงเป็นฉบับ 2517 ซึ่งเป็นผลผลิตของ 14 ตุลา แล้วก็มาฉบับช่วง 2540 นี่แหละ
ทีนี้ฉบับ 2540 ที่ผมบอกว่าเกือบจะบรรลุแล้ว เพราะว่าปกติรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ มันจะโดนฉีกเร็ว อายุมันจะสั้น เพราะฝ่ายที่เขาสูญเสียอำนาจไป ฝ่ายที่เขาต้องการรักษาโครงสร้างแบบอำนาจนิยมเขาไม่พอใจ ฉะนั้นจะต้องรีบฉีกให้เร็ว ฉบับปี 2489 มีอายุแค่ปีเดียว ฉบับปี 2517 อายุสั้น 2 ปีก็โดนฉีก
แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 คืออยู่มาเกือบสิบปีนะ หนึ่งทศวรรษ แล้วตอนร่างมันเป็นฉันทามติของทั้งสังคม ต้องอย่าลืม เพราะตอนนั้นสังคมไทยมีฉันทามติเลยว่าต้องปฏิรูปการเมืองแล้ว อยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ เป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ แล้วผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 การเมืองแบบนั้นมันจัดการวิกฤตใหญ่ๆ ไม่ได้ พอเกิดวิกฤตใหญ่ๆ ก็เจ๊งเลย ไม่มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ไม่มีผู้นำที่เข้มแข็ง ระบบการเมืองอ่อนแอ วิกฤตเศรษฐกิจหนักที่สุดในประเทศเลย ในที่สุดจึงเกิดแรงผลักดันที่เราต้องทำให้การเมืองมันดี มีเสถียรภาพ พรรคการเมืองเข้มแข็ง แข่งกันด้วยนโยบาย แล้วสร้างการมีส่วนร่วมของสิ่งที่เรียกว่าภาคประชาสังคม ก็กลายมาเป็นหัวใจของปี 2540 รวมถึงหลักการเรื่องการกระจายอำนาจซึ่งดีมาก รัฐธรรมนูญปี 2540 นี่แหละที่เป็นก้าวกระโดดเรื่องการกระจายอำนาจ ที่เรามีเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง ที่คนต่างจังหวัดสามารถเลือกนายก อบต. เลือกนายก อบจ. นายกเทศบาล สภาทั้งหลายก็เป็นผลผลิตจากปี 2540 เดี๋ยววันที่ 20 ธันวาคมนี้เราก็จะได้ไปเลือกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหลักการหลายอย่างมันเป็นการวางรากฐานประชาธิปไตยที่ดีมากและอยู่ได้ยาว
แต่มันก็ได้แค่เกือบใช่ไหม
สุดท้ายมันก็เกิดความใจร้อนของกลุ่มขบวนการทางการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวตอนนั้น แล้วในการพยายามโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่ว่ามันเลยเถิด มันไม่ใช่แค่การต่อต้านรัฐบาล มันเลยเถิดไปถึงการทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้น แล้วทำให้เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญ
ผมคิดว่าการต่อต้านรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ ประเทศไหนในโลก การชุมนุมเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาล คัดค้านนโยบายรัฐบาลนั้นทำได้ แต่ว่าถ้าเคลื่อนไหวไปถึงจุดที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร ยึดอำนาจ มาทำลายกติกา อันนี้มันผิดทาง
ถ้ามองย้อนกลับไป เท่ากับว่าเรามีจุดตั้งต้นที่เกือบจะได้ผลอย่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ขณะเดียวกันเราก็เห็นตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ มาแล้วด้วย แต่ทำไมการร่างรัฐธรรมนูญประเทศเรามันยังมีปัญหา ยังต้องเถียงเรื่องนี้อยู่
เพราะว่าประชาธิปไตยมันยังไม่ลงหลักปักฐาน เราไม่สามารถพูดถึงปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญโดยไม่พูดถึงรัฐประหารได้ ทำไมเรามีรัฐธรรมนูญจำนวนมากถึง 20 ฉบับ ขณะที่มีประชาธิปไตยมา 88 ปี เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญไทยอายุสั้น อายุเฉลี่ยแต่ละฉบับประมาณ 4 ปีเศษๆ
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่มีคนบอกว่าเพิ่งใช้แป๊บเดียว ให้ทดลองใช้ไปก่อน จริงๆ มันเกือบหมดอายุขัยของมันแล้วนะถ้าเทียบอายุเฉลี่ย เพราะฉบับปี 2560 ถ้าถึงเมษายนปี 2564 ก็จะประกาศใช้มาครบ 4 ปีแล้ว ถือว่านานแล้วนะในแง่อายุของมัน อย่างที่บอกว่าฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ แค่ 1-2 ปีก็โดนฉีกแล้ว ฉบับนี้ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย แล้วสร้างกติกาพิกลพิการ ไม่มีใครได้ประโยชน์ พล.อ. ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐเองก็ไม่ได้ประโยชน์จากฉบับนี้เท่าไร เพราะคุณก็ต้องสร้างรัฐบาลผสมตั้ง 20 พรรค แล้วมันบริหารประเทศไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไม่ทำให้พรรคไหนเข้มแข็งเลย และไม่มีรัฐบาลไหนจะเข้มแข็งได้ แล้วมันจะไปแก้วิกฤตใหญ่ๆ ที่รอเราอยู่ข้างหน้าได้อย่างไร ถ้าเลือกตั้งอีกภายใต้กติกาเดิม เราก็จะได้แบบนี้ 27 พรรคเข้าสู่สภา รัฐบาลต้องตั้งกัน 10-20 พรรค ไม่มีทิศทาง แย่งกันทำงาน
คำถามคือทำไมรัฐธรรมนูญอายุเฉลี่ยถึงสั้น ทำไมประเทศอื่นอย่างญี่ปุ่นเขาก็มีฉบับเดียวหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษนี่ไม่มีลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำ ประเทศอื่นที่มีฉบับเดียวได้เพราะระบอบประชาธิปไตยมันลงหลักปักฐาน เวลาเขาขัดแย้งกัน เขาไม่ได้มาขัดแย้งว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการดี เขารู้แล้วว่าระบอบประชาธิปไตยมันเป็นระบอบที่จะมีข้อบกพร่องอย่างไรก็ตามมันดีกว่า มันบกพร่องน้อยกว่าระบอบเผด็จการ มันเหมือนเป็นระบบที่เขาก็รู้แล้วว่ามันทันสมัยที่สุด จะย้อนหลังไปใช้ระบบที่ทั่วโลกเลิกใช้ไปแล้วทำไม ก็อัปเดตเอา ฉะนั้นสิ่งที่ทั่วโลกทำคือแก้เป็นรายมาตรา เวลารัฐธรรมนูญมีปัญหา บกพร่องตรงไหนก็ไปเสริมมาตรานั้น แก้ไขข้อบกพร่อง ถ้าเป็นแบบนี้รัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องร่างบ่อย การเมืองก็ต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ
แต่ของไทยยังไม่เป็นอย่างนั้น เรายังเถียงกระทั่งว่าจะเอาระบอบอะไรดี และยังมีมายาคติในคนไทยจำนวนมากว่าเผด็จการก็ดี ทำให้ประเทศเจริญได้ แล้วที่สำคัญยังมีชนชั้นนำที่ยังไม่ยอมรับกติกา อันนี้แหละที่ต่างจากประเทศอื่นที่เขาการเมืองนิ่ง เพราะชนชั้นนำเขายอมรับกติกาแล้ว ทหารในอินโดนีเซียอยากเล่นการเมืองก็ลาออกมา หรือรอเกษียณแล้วมาตั้งพรรคการเมืองแข่งกับพรรคอื่นแบบปกติ แล้วถ้าชนะก็ได้อำนาจ ก็มีอดีตนายทหารที่เกษียณอายุเป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ทหารในชิลี บราซิล อาร์เจนตินาอยากเล่นการเมือง ปัจจุบันเขาก็ต้องลาออกเป็นพลเรือนเหมือนคนอื่นๆ แล้วมาแข่งกันในกติกา
แต่ของเรายังไม่ใช่ ของเรายังมีปัญหาที่ชนชั้นนำไม่ยอมรับกติกา แล้วพออยากมีอำนาจทางการเมืองก็ใช้วิธีรัฐประหารเข้ามา พอรัฐประหาร สิ่งแรกที่ทำคือฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่สร้างความได้เปรียบให้ตัวเอง ฉะนั้นที่เรามีรัฐธรรมนูญเยอะ แล้วทำไมรัฐธรรมนูญมันยังมีปัญหา คือเราร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้สักที เพราะคณะรัฐประหารยังมีอำนาจอยู่ ทุกครั้งที่ตัวเองเสียอำนาจ ชนชั้นนำในกองทัพก็ใช้วิธีเดิมคือรัฐประหารแย่งชิงอำนาจตัวเองกลับมา ฉะนั้นจำนวนการรัฐประหารกับจำนวนรัฐธรรมนูญจึงเยอะพอๆ กัน
มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เรามีรัฐประหาร 19 ครั้ง สำเร็จ 13 ครั้ง เรามีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ มันจึงต้องแก้ไปพร้อมๆ กัน ถ้าอยากแก้ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญ โจทย์คือทำอย่างไรที่เราจะป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารขึ้นอีก เพราะถ้าเรายังอุดช่องโหว่ตรงนี้ไม่ได้ ต่อให้เดี๋ยวเรามีรัฐธรรมนูญที่ดีมากๆ ร่างขึ้นมาอีกตอนนี้ พอมีรัฐประหารก็โดนฉีกอีก มันมาคู่กันเป็นแพ็กเกจ
ประเทศอื่นอยู่กันได้อย่างไรโดยไม่ต้องมาเถียงเรื่องกติกา ทุกคนได้ลงเล่นจริงๆ อย่างเต็มที่
เขาร่างกติกาแล้วให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ฉะนั้นพอทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง กติกามันก็เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย คือกระบวนการร่างมันต้องดี มันต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของคน อย่างฉบับปี 2540 ต้องถือว่าดีแล้ว เพราะตอนนั้นมีการจัดเวทีทุกจังหวัดเลย อย่างน้อยจังหวัดละ 1-2 ครั้งที่ประชาชนจะอินพุตได้ พวกกรรมการร่างต้องมานั่งฟัง ประชาชนกลุ่มต่างๆ ไปนำเสนอ พอร่างเสร็จก็นำตัวร่างมาแล้วเอากลับไปนำเสนออีกครั้งหนึ่งในแต่ละจังหวัด แล้วประชาชนก็ฟีดแบ็กได้อีกครั้ง มันมีลูปของการที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
แล้วตัวคนที่เข้ามาเป็นองค์ประกอบของกรรมการมันก็หลากหลาย ณ ตอนนั้น หลายฝ่ายไม่ค่อยกีดกันใครออกไป มันจึงเป็นกติกาที่ได้รับการยอมรับและใช้อยู่ได้ตั้งนาน
ในประเทศอื่นๆ ก็เหมือนกัน ยกตัวอย่างเพื่อนบ้านเรา อินโดนีเซียเป็นประชาธิปไตยหลังเรา เพิ่งเป็นประชาธิปไตยหลังปี 2540 เขาเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ใกล้ๆ เรา แต่ตอนนี้การเมืองเขามีเสถียรภาพมาก แล้วเขากลายเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยในอาเซียนเลย คือถ้ากลับไปดูกระบวนการการได้มาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกฝ่ายมันเข้ามามีส่วนร่วมในการร่าง
แต่ฉบับปี 2560 มันไม่ใช่ เพราะร่างกัน 20-30 คน ปิดประตูไปประชุมกันต่างจังหวัดแล้วร่างกัน สุดท้ายก็มาประกาศให้คนใช้ แม้จะมีประชามติ แต่ก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอีก รัฐธรรมนูญยังแจกไม่ครบทุกฉบับเลย ลองถามตัวเองก็ได้ ทุกคนมีใครได้อ่านรัฐธรรมนูญจนจบก่อนไปลงประชามติไหม จริงๆ เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่ต้องแจกรัฐธรรมนูญให้ครบทุกครัวเรือนนะ ตอนนั้นสุ่มแจก ไม่ใช่ทุกคนจะได้ สิ่งที่แจกไปคือข้อสรุปแผ่นพับของ กกต. ซึ่งสรุปแต่ข้อดี เป็นการโฆษณาชวนเชื่อด้านเดียว ประชามติมันต้องเปิดให้คนเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียแล้วเอามาเปรียบเทียบ แต่ตอนนั้นใครออกไปวิจารณ์ข้อเสียก็โดนจับหมด มันไม่มีประเทศไหนในโลกจัดประชามติแล้วไปจับประชาชนที่เขาออกมารณรงค์ วิพากษ์วิจารณ์ตัวร่างรัฐธรรมนูญ เราจึงได้รัฐธรรมนูญมาโดยที่ไม่ได้ก่อตัวจากฉันทามติของสังคม
ถ้าใครจำได้ มันมีการเล่นกลด้วย พยายามทำให้คนงง ซึ่งอันนี้ถือว่าไม่ตรงไปตรงมา มันมีคำถามพ่วงที่แทรกเข้ามาตอนหลัง เป็นกำหนดการของ คสช. ที่อยากสืบทอดอำนาจให้ พล.อ. ประยุทธ์ กลัวว่าถ้าเลือกตั้งอย่างเดียวแล้วเสียง ส.ส. จะไม่พอ ก็เลยมาเพิ่มคำถามพ่วงว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้วุฒิสภามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ แต่ลองกลับไปอ่านคำถามดีๆ คำถามมันวกวนและงงมาก ในคำถามนั้นก็ไม่บอกว่าวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมดด้วย คนก็ไม่รู้ ถ้าเขียนแบบนี้ ผมคิดว่าผลลัพธ์ของการลงประชามติอาจไม่ออกมาเป็นแบบนั้น ถ้าคุณถามตรงไปตรงมาว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่ ส.ว. 250 คนซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และ พล.อ. ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เป็นคนเลือกเอง แล้วมีอำนาจในการเลือกนายกฯ ด้วย ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าถามตรงไปตรงมาแบบนี้ ผมว่าข้อนี้อาจไม่ผ่านนะ
เป็นไปได้ไหมที่รัฐธรรมนูญจะไม่โดนฉีกอีก ต้องเป็นรัฐธรรมนูญแบบไหน หรือมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับกติกา แต่เกี่ยวข้องกับคน
มันเกี่ยวข้องกับชนชั้นนำที่ไม่ยอมรับกติกา ฉะนั้นทำอย่างไรไม่ให้รัฐธรรมนูญโดนฉีกอีก ก็ต้องถามว่าใครฉีกรัฐธรรมนูญ ประชาชนอย่างเราๆ ไม่มีปัญญาไปฉีกรัฐธรรมนูญหรอก แค่จะขอแก้รัฐธรรมนูญยังไม่ได้เลย รวมชื่อกันเป็นแสนชื่อก็โดนปัดตกไปเลย ฉะนั้นพูดไปถึงการฉีกรัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญญาหรอก ก็ต้องถามว่าใครฉีกรัฐธรรมนูญ ในประวัติศาสตร์ไทยก็มีคนอยู่กลุ่มเดียวแหละที่ฉีกรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด นั่นคือกองทัพ แล้วบางทีฉีกร่างที่ตัวเองมีส่วนร่วมในการร่างมาด้วย คือฉบับปี 2550 มันถูกยกเลิกไปเพราะอะไร ทำไมเปลี่ยนเป็นฉบับปี 2560 คือคณะรัฐประหารปี 2557 เป็นคนฉีก ทั้งที่ฉบับปี 2550 ก็มาจากการรัฐประหารแล้วนะ แล้วคนที่มีส่วนร่วมในการร่างฉบับปี 2560 หลายคนก็ร่างมาตั้งแต่ฉบับ 2550 แล้ว คือฉีกรัฐธรรมนูญตัวเอง นี่เป็นเรื่องตลกร้ายในสังคมไทย
ฉะนั้นถ้าต้องป้องกันไม่ให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญอีกก็ปฏิรูปกองทัพ ให้กองทัพมีความเป็นประชาธิปไตย ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และยอมรับกติกาให้พลเรือนเขาต่อสู้ขัดแย้งกันไป ให้ประชาชนเป็นคนเลือกว่าเขาอยากได้นโยบายแบบไหน พรรคไหน โดยที่กองทัพไม่เข้ามาเกี่ยว กองทัพไม่ใช่ผู้เล่นในทางการเมือง แล้วกองทัพไม่ใช่กรรมการ ไม่มีหน้าที่มาตัดสินว่ากติกาอันไหนดีหรือไม่ดี
ถ้าอย่างนั้นจะมีทางประนีประนอมให้คนทั้งสังคมพอใจกับกติกาสูงสุดของประเทศได้ไหม
ขึ้นชื่อว่าประชาธิปไตย มันเป็นระบอบการเมืองที่ประนีประนอมอยู่แล้วในตัวมันเอง ประเทศไหนในโลกก็ตาม ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่พยายามวางหลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับแล้วมาเล่นในกติการ่วมกัน มันไม่ใช่ระบอบที่สุดโต่งอยู่แล้ว ถ้าสุดโต่งทางหนึ่งไปเลยคืออนาธิปไตย ไม่ต้องมีรัฐบาล ไม่ต้องมีใครมีอำนาจในการนำ สุดโต่งอีกทางที่ประชาธิปไตยกลัวคือเผด็จการเบ็ดเสร็จ ถ้าคุณไม่อยากให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จไปเลยแบบเกาหลีเหนือ ไม่อยากให้เกิดแบบซีเรีย ประเทศที่เป็นรัฐล้มเหลวและมีสงครามกลางเมือง คุณก็ต้องประนีประนอมกันอยู่แล้วเพื่อให้ได้กติกากลางที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน อันนี้แหละประชาธิปไตย มันคือการประนีประนอมในตัวมันเองอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่าการประนีประนอมนั้นมันต้องมีหลักบางอย่างด้วย เหมือนเรายอมเล่นในกติกาเดียวกัน แต่ไม่ใช่อะไรก็ได้ ประนีประนอมจนเสียหลักการ หลักการนี้มันต้องมีความศิวิไลซ์ระดับหนึ่ง ไม่ใช่เราบอกว่าทั้งสองฝ่ายมาเล่นกติกาเดียวกันนะ มาเตะฟุตบอลกัน แต่ในกติกานี้เราให้เอาหัวโขกกันได้ ชกต่อยผู้รักษาประตูได้ อันนี้คือต่อให้ประนีประนอมยอมรับร่วมกัน แต่ต้องมีคนบอกนะว่าหลักการแบบนี้ไม่โอเค มันไม่ศิวิไลซ์ เล่นกันในกติกาแบบนี้ก็เจ๊งกันหมด ฉะนั้นมันต้องมีหัวใจบางอย่าง หลักการนั้นมันสะท้อนเรื่องการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนไหม อย่างน้อยพื้นฐานนี้ต้องมี ทุกคนต้องเสมอภาคกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ใครก็ตามที่มาใช้อำนาจสาธารณะในรัฐธรรมนูญต้องถูกตรวจสอบได้ มันไม่ควรมีองค์กรไหนที่ทั้งใช้งบประมาณสาธารณะ อำนาจสาธารณะ แล้วตรวจสอบไม่ได้
ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เราไปเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระเยอะมาก กกต. ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจเยอะมาก แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่มีกลไกตรวจสอบ ถามง่ายๆ ว่าสมมติ กกต. ทำงานผิดพลาด จัดการเลือกตั้งไม่มีประสิทธิภาพ ล้มเหลว หรือกระทั่งคำนวณคะแนนผิดพลาด ใครตรวจสอบ กกต. ได้ พอมีองค์กรที่ไปตรวจสอบ คนอื่นมีอำนาจเยอะมาก แต่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ องค์กรอื่นตรวจสอบไม่ได้ อันนี้มีปัญหาแล้ว เรากำลังสร้างอำนาจที่ 4 ขึ้นมา แล้วไม่มีใครกำกับเขาได้ เหมือนศาลรัฐธรรมนูญ สมมติว่ามีคำตัดสินขึ้นมาแล้วคำตัดสินนั้นมีปัญหา ใครตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ ใครกำกับศาลรัฐธรรมนูญได้ว่าต้องทำงานอยู่ในร่องในรอย อันนี้เป็นปัญหาแล้ว
ฉะนั้นหลักรัฐธรรมนูญ ต่อให้ประนีประนอมกันอย่างไรก็ตามก็ต้องยึดเรื่องอำนาจ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ มีอำนาจ ไม่อย่างนั้นชนชั้นนำก็ไปประนีประนอมกันเอง แล้วร่างกติกาเองที่ในกลุ่มชนชั้นนำยอมรับกันหมด แต่มันเป็นรัฐธรรมนูญที่ไปลดอำนาจประชาชน ลดสิทธิประชาชน ก็เป็นไปได้นะ ถ้าอย่างนั้นประชาชนก็เดือดร้อน เมื่อชนชั้นนำไปประนีประนอมกันแล้วไม่สนใจหลักการ
อะไรที่ไม่ควรมีอีกแล้วในรัฐธรรมนูญไทย
ตอบได้เลยว่าคือ ส.ว. จากการแต่งตั้ง
ส.ว. ควรมีหรือไม่ยังเถียงกันได้ แต่ว่าที่แน่นอนเลยคือมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด อันนี้ไม่ถูกต้อง มีคนชี้ปัญหาไว้เยอะแล้วล่ะว่าคุณมี ส.ว. 250 คน เท่ากับครึ่งหนึ่งของสภา แต่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนคนไหนเลย แต่มีอำนาจเลือกนายกฯ เท่ากับ ส.ส. ที่ประชาชนเลือกมา นี่ไม่ถูกต้อง พูดแบบนี้แล้วคนอาจจะตกใจ ส.ว. ปัจจุบันในประเทศไทยที่เรามีอยู่เป็น ส.ว. เดียวในโลกที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร มันไม่มีความสง่างาม ถ้าผมเป็น ส.ว. ผมต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวนะ ถ้าที่มาของผมเป็นแบบนี้ เพราะว่า ส.ว. ทั่วโลกไม่มีใครมีที่มาจากการรัฐประหารเลยนะ แล้ว ส.ว. จากการแต่งตั้งก็น้อยลงมากแล้วในโลกนี้ ฉะนั้น ส.ว. จากการแต่งตั้ง ยิ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร มันไม่ควรมีที่ทางในรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย
การดำรงอยู่ของ ส.ว. แบบนี้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มันเป็นดัชนีชี้ความถดถอยของประชาธิปไตยอย่างรุนแรง แล้วมันเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของประเทศในการที่เรายังมี ส.ว. ประเทศเดียวในโลกที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร แล้วมีอำนาจล้นฟ้ามาก คอยมาชี้หน้าวิจารณ์ประชาชนทุกวัน มาแถลงโต้ตอบคนโน้นคนนี้ กระทั่งมาทะเลาะกับเด็กนักเรียน ผมว่ามันเป็นความน่าอับอาย ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา แล้วในขณะเดียวกันก็รับเงินเดือนด้วยภาษีจากประชาชน อยู่นานกว่า ส.ส. อีก เพราะ ส.ส. อยู่ในอำนาจแค่ 4 ปี ส.ว. อยู่ในอำนาจตั้ง 5 ปี เพราะพอหมดสภาชุดนี้แล้ว สมมติ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ครบวาระ ส.ว. ยังมีโอกาสเลือก พล.อ. ประยุทธ์ กลับมาเป็นอีกรอบ ครั้งหน้าไม่ว่าเราเลือกพรรคไหนก็ตาม ถ้าเราไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ครั้งหน้าคนที่จะกำหนดว่าใครจะเป็นนายกฯ ก็ไม่ใช่ประชาชน แต่คือ ส.ว. ชุดนี้ที่ยังจะคงอยู่ เพราะอยู่ยาวมากถึง 5 ปี เลือกตั้งครั้งหน้าเขาก็ยังอยู่ เลือกนายกฯ ได้อีกสมัยหนึ่ง เท่ากับเขากำหนดว่าใครจะเป็นนายกฯ ได้ตั้ง 8 ปี โดยที่การเลือกตั้งของเราแทบไม่มีความหมาย เลือกกันไปอย่างไรก็ตาม พรรคที่ได้อันดับหนึ่งได้แค่ 130-140 ที่นั่ง ส.ว. กลุ่มเดียวมีตั้ง 250 ที่นั่งแล้ว
ในแง่นี้ ส.ว. คือพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในระบบการเมืองไทยปัจจุบัน โดยไม่ยึดโยงกับประชาชนคนไหนเลย
ส่วนพรรคอื่นๆ อย่างน้อยเขาต้องมีฐานเสียงนะ ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ อนาคตใหม่ เพื่อไทย เขามีความยึดโยงกับประชาชนในจังหวัดเขา ในถิ่นที่เขามีอำนาจ มีผลงานดี แต่ ส.ว. ถามว่ายึดโยงใคร เป็นตัวแทนของคนกลุ่มไหน ไม่มีเลยนะ เป็นตัวแทนของตัวเอง แล้วก็ตัวแทนของ คสช. อันนี้ผมว่าต้องตัดออกไปก่อน ซึ่งผมว่าจะเป็นฉันทามติของสังคมได้ในข้อแรก แล้วจะเปิดทางไปสู่การแก้ไขอะไรอีกหลายอย่าง คือ ส.ว. ชุดนี้ ถ้าเอาออกไปได้จะทำให้การแข่งขันในการเลือกตั้งมีความแฟร์มากขึ้น การเลือกนายกฯ มันแฟร์มากขึ้น
มีอย่างอื่นอีกไหมที่ไม่ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ตอบเร็ว) เราอยู่ในโลกที่มันผันผวน ทุกคนก็รู้ ทุกองค์กร หน่วยงาน กระทั่งรัฐบาลก็ยอมรับ จัดสัมมนาทุกวันนี้ก็มีแต่หัวข้อ Disruption คุณวางแผน 20 ปีไม่ได้ รัฐบาลในโลกปัจจุบันก็มีเรื่องความยืดหยุ่น การต้องปรับตัว จะใช้คำว่า Agile อะไรก็ตาม ในภาษารัฐศาสตร์ง่ายๆ คือต้องมี Flexible Government รัฐบาลที่ต้องยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคุณไปวางยุทธศาสตร์ 20 ปีล็อกไว้อย่างนั้นมันไม่ได้ แล้วคุณไปบังคับอีก รัฐธรรมนูญของเรา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำตามยุทธศาสตร์ 20 ปี กลายเป็นสิ่งที่อยู่เหนือรัฐบาลอีก
ตอนนี้ยังไม่เห็นปัญหา เพราะ คสช. มีอำนาจ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นรัฐบาล ยังเป็นนายกฯ ก็ทำตามยุทธศาสตร์นั้น ไม่ได้มีอะไรขัดกัน แต่วันหนึ่งถ้ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นกลุ่มอื่น พรรคอื่น มันมีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าถ้ารัฐบาลไม่ทำตามยุทธศาสตร์ 20 ปีสามารถโดนถอดถอนได้ อันนี้ทำให้การทำงานมันหยุดชะงัก เท่ากับนโยบายที่ประชาชนเลือกไปให้พรรคการเมืองหนึ่งทำมันไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เพราะรัฐธรรมนูญไประบุว่าห้ามขัดยุทธศาสตร์ 20 ปี อันนี้ผมว่าต้องเอาออก มันไม่จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ยาวขนาดนั้น มันควรปรับเปลี่ยนได้
ในปัจจุบันเราวางแค่ 4-5 ปีก็พอ แล้วเป็นยุทธศาสตร์ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ไม่ใช่ไปร่างกันเองแล้วบังคับใช้แบบนี้ แล้วไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย มันจึงมีปัญหา
อีกอันที่ต้องเอาออกคือการนิรโทษกรรมตัวเองให้ คสช. ให้การรัฐประหาร เพราะการรัฐประหารมันคือการทำผิดรัฐธรรมนูญ คือการล้มล้างการปกครองที่ร้ายแรงที่สุดแล้ว จริงๆ คือโทษถึงประหารชีวิตเลยนะ รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ระบุข้อนี้ไว้ แต่พอ คสช. ทำรัฐประหาร หรือก็ทุกคณะแหละ เสร็จแล้วก็จะไปนิรโทษกรรมให้ตัวเองแล้วเอามาใส่ในรัฐธรรมนูญด้วย ตรงนี้ต้องเอาออก เพื่อที่เราจะสามารถตัดสินการกระทำรัฐประหารให้เป็นความผิด วางบรรทัดฐานไว้ไม่ให้ใครมาทำรัฐประหารได้อีก อันนี้จะไปตอบโจทย์ให้รัฐธรรมนูญไม่โดนฉีกอีก
เหมือนเกาหลีใต้ ทำไมการเมืองเขาตั้งแต่เป็นประชาธิปไตยในปี 1987 ก็มีเสถียรภาพมาโดยตลอด ไม่มีรัฐประหารแล้ว เพราะเขาเอาจริง เกาหลีใต้นี่เอาอดีตผู้นำรัฐประหารมาติดคุกเลยนะ ฟ้องร้องดำเนินคดี
ถ้ามองจากวันนี้ที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดนปัดตก มีการโหวตรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคการเมืองต่างๆ คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับต่อไปจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
เราก็ต้องคาดหวังให้มันดีกว่านี้ เพราะมันคงยากที่จะร่างให้แย่กว่านี้ แล้วมันเริ่มเกิดการก่อตัวของฉันทามติ ผมคิดว่าแม้จะยังไม่เป็นความเห็นเดียว แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปเร็วมากในปีนี้ ถ้าเทียบกับ 10 ธันวาคมปีก่อน เรายังไม่เห็นวี่แววเลยว่าจะมีแรงผลักดันและขับเคลื่อนทางสังคมให้แก้รัฐธรรมนูญนี้ มันดูเป็นสิ่งที่เลื่อนลอยมาก
แต่ตอนนี้ผมว่าการที่อย่างน้อยรัฐบาลยังต้องยอมผ่านญัตติแรกไป เริ่มเปิดให้มีการแก้ไขได้แล้วในสภา แล้วมีสองร่างแล้วทั้งร่างรัฐบาลและฝ่ายค้านเอง คือทั้งสองร่างจะให้มีการตั้ง สสร. อย่างน้อยมันเริ่มค่อยๆ มีช่องในการร่างที่มีกระบวนการที่ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น แสดงว่ารัฐบาลก็โดนบีบจนต้องยอมถอยระดับหนึ่ง จากที่ตอนแรกคัดค้านเลย ส.ว. ยังต้องมาร่วมลงในญัตตินี้ ยอมให้ผ่านในการร่างได้
ผมจึงคิดว่าหลังจากนี้เป็นต้นไปมันขึ้นอยู่กับสังคมแล้ว ถ้าสังคมไม่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ ไม่รณรงค์เรื่องนี้ต่อ เราก็จะมีรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างขี้เหร่พอสมควร ถ้าเราฝากกระบวนการร่างทั้งหมดไว้กับสภาอย่างเดียว มันยากที่จะได้รัฐธรรมนูญที่ดี เพราะ ส.ว. 250 คนก็ยังอยู่ รัฐบาลก็มีเสียงข้างมากอยู่แล้ว เขาก็ต้องกำกับเนื้อหาไม่ให้เขาเสียผลประโยชน์ แต่ถ้าเป็นแบบนั้น ประชาชนจะเสียผลประโยชน์ เราก็จะได้รัฐธรรมนูญที่มันเหมือนปะหน้าทาแป้งนิดหน่อย แต่ยังอยู่ในระบบเดิมที่ล้าหลัง เขาอาจเพิ่มลูกเล่นให้คุณมานิดหน่อย ให้กดอีโมจิยิ้มได้ แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ขี้เหร่เหมือนเดิม ถ้าอยากได้รัฐธรรมนูญที่ดี มันปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องขับเคลื่อนทางสังคม
ถ้าดูในประวัติศาสตร์ไทย รัฐธรรมนูญที่ดีมันไม่ได้งอกขึ้นมาจากสุญญากาศ มันก็มาจากการต่อสู้ขับเคลื่อนนั่นแหละ รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นผลของสิ่งที่เรียกว่าขบวนการธงเขียว เป็นผลของกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองซึ่งก่อตัวมาตั้งแต่พฤษภาทมิฬ 2535 ก็ขับเคลื่อนมา 4-5 ปี ต่อสู้จนกว่าจะได้ฉบับปี 2540
ครั้งนี้ก็ต้องเหมือนกัน มันต้องมีการขับเคลื่อนนอกสภา บทบาทของนักวิชาการ ของสื่อ ของภาคประชาสังคมที่ต้องจัดเวทีให้ความรู้ ถกเถียง กระทั่งว่าภาคประชาสังคมเองควรมีพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญที่เราอยากเห็นด้วยซ้ำ เราทำกระบวนการคู่ขนานไปเลย มหาวิทยาลัยร่วมกับสื่อ ร่วมกับภาคประชาสังคม จัดเวทีบ่อยๆ ให้คนมาถกเถียงกัน เราอยากเห็นองค์กรอิสระเป็นแบบไหน ระบบเลือกตั้ง พรรคการเมืองเป็นแบบไหน ประเด็นสิทธิเสรีภาพควรเป็นอย่างไร ร่างพิมพ์เขียวขึ้นมาแล้วโชว์ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ดีมันร่างได้ ไม่ต้องใช้เวลานานด้วย แล้วมันจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ สมมติถ้าสภาร่างแล้วช้า ออกมาขี้เหร่ เราก็เอาพิมพ์เขียวนี้มาโชว์ให้สังคมดูว่ารัฐธรรมนูญที่ดีมันร่างแบบนี้ได้ คนมันจะรู้ว่ามีทางเลือก แล้วเป็นแรงกดดันให้ฝ่ายสภาห้ามร่างขี้เหร่กว่านี้
คือเถียงกันเรื่องปัญหาในสังคมแล้วเอาไปร่างเป็นพิมพ์เขียวให้จับต้องได้
ใช่ และชี้ให้เห็นว่ามันออกแบบได้จริงได้อย่างไร รัฐธรรมนูญคือการดีไซน์ การร่างรัฐธรรมนูญในภาษาวิชาการคือ Institutional Design การออกแบบสถาบันทางการเมือง ในแง่นี้คนที่ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ต่างจากสถาปนิกนะ คุณอาจมีสถาปนิกที่ห่วยหรือเก่งก็ได้ สถาปนิกที่เก่งก็จะออกแบบตึกโดยคำนึงถึงคนที่อยู่อาศัย ไม่ใช่คำนึงถึงเจ้าของอย่างเดียว ไม่ใช่เจ้าของอยากได้ตึกแบบนี้ แต่คนมาอยู่อาศัยแล้วอยู่ไม่ได้ อยู่ไม่สบาย ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมด้วย ต้องรู้ว่าสภาพแวดล้อมตรงนั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องออกแบบให้รับลม รับแสง เหมาะกับสภาพแวดล้อม คือผมว่าเราออกแบบได้ สังคมไทยมีภูมิปัญญาในการที่จะร่างรัฐธรรมนูญที่ดีได้ ไม่ใช่เราไม่มี
เราถกเถียงเรื่องนี้น้อยไปไหม
ยังน้อยไป คือควรจะต้องทำมากกว่านี้ ตอนนี้มันไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าจะแก้หรือไม่แก้ มันมาถึงจุดที่สังคมจำนวนมากรู้แล้วว่าต้องแก้ แต่จะแก้อย่างไร ผมว่าคนจำนวนมากอาจยังไม่เห็นภาพ แล้วการออกแบบใหม่นี่ออกแบบอย่างไร มันจึงต้องมีพื้นที่ในการถกเถียงมากกว่านี้ อย่าไปเบื่อเรื่องนี้
เราอย่าปล่อยให้การถกเถียงหรือการร่างรัฐธรรมนูญตกอยู่ในมือคนที่เป็นนักเทคนิคทางกฎหมาย ซึ่งพวกนี้ทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ แข็งตัว โดยเฉพาะคนที่เราเรียกว่าเป็นเนติบริกร ในประเทศนี้มันมีอาชีพร่างรัฐธรรมนูญนะ บางคนร่างมาตั้งแต่ปี 2521 อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ตั้งแต่ฉบับ 2521 คือหลัง 6 ตุลาคม แกก็ร่างแล้วนะ ฉบับปี 2534 ตอน รสช. ก็ร่าง ฉบับ 2560 แกก็ยังมาร่างอีก มันมีคนที่มีชีวิตอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญ มันเป็นอาชีพในประเทศไทยได้เพราะมันมีหลายฉบับ แต่เราต้องไม่ปล่อยให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในมือของเนติบริกรหรือนักเทคนิคทางกฎหมาย อย่าไปทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องน่ากลัว เป็นเรื่องซับซ้อนเกินเหตุ หรือเป็นเรื่องของคนที่ต้องอาวุโส ต้องเป็นนักกฎหมายมหาชนเท่านั้น ไม่ใช่เลย ทุกคนสามารถมีอินพุต มีความเห็นได้ เพราะมันคือการออกแบบที่เราจะอยู่ร่วมกัน ต่อให้เราไม่มีความรู้ เหมือนเราอยากได้คอนโดแบบไหน อยากได้ตึกแบบไหน เราอาจไม่ได้มีความรู้ในเชิงเทคนิค แต่เราบอกได้นะว่าเราอยากได้ห้องแบบไหน
ไม่ต้องมาเถียงกันด้วยภาษากฎหมายก็ได้ เราบอกได้นี่ว่าอยากได้คอนโดที่มันมีสระว่ายน้ำด้วย มียิมให้ออกกำลังกาย มีห้องอ่านหนังสือได้ นักเทคนิคมีหน้าที่ไปร่างตามเจตนารมณ์ของประชาชน ตรงนั้นแหละที่นักเทคนิคค่อยมาตอบโจทย์
เราบอกได้ว่าอยากได้พรรคการเมืองที่เข้มแข็ง แล้วการเลือกตั้งต้องแข่งกันโดยนโยบาย ไม่อยากได้พรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่อยากได้ระบบการเลือกตั้งที่ผลิตเจ้าพ่อ ตระกูลการเมือง การอุปถัมภ์ การซื้อเสียง นักเทคนิคมีหน้าที่ไปออกแบบ อย่างนักรัฐศาสตร์เช่นผมหรืออาจารย์ท่านอื่นๆ เราออกแบบได้ ถ้าประชาชนอยากได้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ลดระบบอิทธิพล ระบบอุปถัมภ์ ระบบเจ้าพ่อ เรารู้ว่าระบบเลือกตั้งแบบไหนมันจะมาตอบโจทย์ แต่มันต้องมีเจตนารมณ์ของประชาชนมาก่อน อย่าปล่อยให้ไปอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญหรือพวกนักเทคนิคทางกฎหมาย
ก่อนนี้มันมีการทำให้การร่างรัฐธรรมนูญดูเป็นเรื่องขึ้นหิ้ง ดูยาก เพื่อจะหวงแหนอำนาจในการร่างไว้กับตัวเองเท่านั้น เวลาคุณอยากกีดกันใครออกไป คุณก็จะบอกว่าเรื่องนี้มันซับซ้อน ประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจหรอก คุณไม่เกี่ยว คุณไปรอลงประชามติอย่างเดียว แต่ตอนนั้นมันไม่มีความหมายแล้ว เราไปรอลงประชามติก็เหมือนเราได้แบบบ้านที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบเลย แล้วมีอำนาจแค่จะเอาหรือไม่เอาหลังนี้ แล้วถ้าไม่เอาคือต้องทุบเหรอ มันออกแบบมาแย่ไง ก็ควรมีส่วนร่วมในการออกแบบตั้งแต่ต้น
ยกตัวอย่างเช่นระบบเลือกตั้งที่เราใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นระบบเลือกตั้งที่แย่ที่สุดเลยตั้งแต่เรามีระบบเลือกตั้ง ตอนปี 2550 ยังดีกว่านี้ ปี 2540 ก็ดีกว่านี้ ระบบก่อนปี 2540 ยังดีกว่านี้เลย เพราะระบบนี้เข้าใจยาก คนทั่วไปไม่เข้าใจ ถามว่าที่ไปเลือกตั้งกันนี่งงไหม กกต. ยังงงเลย เพราะมันทำให้คำนวณคะแนนยาก เอา ส.ส. เขตกับปาร์ตี้ลิสต์ไปผูกกัน แล้วตอนไปเลือก หลายคนก็งงตอนเข้าคูหา คือตกลงเหลือบัตรใบเดียว แต่ก่อนหน้านี้เรามีบัตรสองใบมาตลอด แล้ว ส.ส. มีสองประเภท คือทั้ง ส.ส. เขตกับปาร์ตี้ลิสต์ แต่เราเลือกได้อย่างเดียวคือไปกา ส.ส. เขตอย่างเดียว เราเลือกปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้ แล้วเขาเอาคะแนนที่เรากา ส.ส. เขตไปคำนวณเองว่าจะให้ปาร์ตี้ลิสต์เท่าไร แต่ละพรรคจะได้เท่าไร อันนี้ก็เป็นระบบที่ไปออกแบบกันเองตามอำเภอใจ ไม่มีหลักวิชาด้วย ไม่มีประเทศไหนในโลกใช้ระบบเลือกตั้งแบบที่เราใช้อยู่ มันผิดทั้งหลักวิชา ทั้งซับซ้อน เข้าใจยาก และบิดเบือนได้ง่าย จึงเกิดเป็น ส.ส. ปัดเศษ สูตรคำนวณคะแนนพิสดาร อันนี้ยกตัวอย่างแค่ระบบเลือกตั้งอย่างเดียวเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็น คุณปล่อยให้คน 10-20 คนไปร่างกันเองตามอำเภอใจ แล้วไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านตั้งแต่ต้น
มองการเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญและการเรียกร้องต่างๆ อย่างไร คิดว่ามาถูกทางหรือยัง
ผมคิดว่ามาถูกทางแล้วนะ ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อมันคือแพ็กเกจเดียวกัน มันเกิดแค่ข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ มันต้องไปพร้อมกัน มันคือการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เพียงแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญมันเป็นจุดโฟกัสสำคัญที่จะทำให้ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปทางการเมือง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางอำนาจให้ประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของประเทศจริงๆ มันเกิดขึ้นได้ คือสุดท้ายก็มาจบที่การมีรัฐธรรมนูญที่ดีนี่แหละ ฉะนั้นหลักการกว้างๆ ก็มาถูกทางแล้วทั้ง 3 ข้อ เพียงแค่ต้องถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญให้สังคมเข้าใจมากกว่านี้ อันนี้ในส่วนผู้ชุมนุมนะ กระทั่งนำเสนอพิมพ์เขียวให้เห็นก็ได้ว่ารัฐธรรมนูญที่เราอยากเห็นเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญในฝันที่ดีกว่าปี 2560
พูดง่ายๆ คือทำให้การชุมนุมมันเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ในเรื่องทางการเมือง ทำให้เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ในการให้ความรู้กับคนทั้งสังคมในเรื่องรัฐธรรมนูญว่ารัฐธรรมนูญมันเป็นเรื่องใกล้ตัวนะ เป็นเรื่องที่ประชาชนร่วมออกแบบได้ มันไม่ใช่ศาสตร์ชั้นสูง ไม่อย่างนั้นสุดท้ายมันจะตกไปอยู่ในมือของพ่อมดทางการเมืองแล้วร่างให้เรางง ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญมันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ จับต้องได้ ออกแบบได้อย่างเป็นรูปธรรม และพูดในภาษาชาวบ้านที่เข้าใจได้ แล้วเกี่ยวกับชีวิตปากท้องของเรา ต้องโยงให้เห็นว่าถ้ามีรัฐธรรมนูญดี ชีวิตเราจะดีขึ้นอย่างไร
คิดถึงแฮชแท็กง่ายๆ คือก่อนหน้านี้มันมีแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี ผมว่าเราน่าจะมาทำ #ถ้ารัฐธรรมนูญดี แล้วเราจะเห็นอะไรบ้าง รัฐธรรมนูญโยงกับเรื่องทางเท้าอย่างไร โยงให้เห็นแล้วประชาชนจะเข้าใจ
อยากให้ฝากอะไรทิ้งท้ายวันรัฐธรรมนูญ 2563
วันรัฐธรรมนูญที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของไทย คนยังไม่เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ธันวาคมไม่ใช่ฉบับแรก ฉบับแรกคือฉบับที่ 27 มิถุนายน แต่ถูกใช้อยู่แค่ 6 เดือนเท่านั้น แล้วมาก่อเกิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ธันวาคม จริงๆ อยากชวนให้ทุกคนไปอ่านฉบับที่ 27 มิถุนายน มันมีเนื้อหาหลายเรื่องที่ดีมาก และเป็นตัวอย่างของรัฐธรรมนูญที่ดี มีแค่ 30-40 มาตรา อ่านไม่ถึง 5 นาทีจบ ปัจจุบันรัฐธรรมนูญมีเป็น 300-400 มาตรา หนาปึ้ก แล้วก็เข้าใจยาก รัฐธรรมนูญที่ดีมันควรสั้น กระชับ อยากฝากให้ลองไปศึกษารัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 แล้วจะเห็นว่ามันมีร่องรอยความคิดหลายอย่างอยู่ในฉบับนั้น ซึ่งเราเอามาเป็นบทเรียนในการร่างฉบับปัจจุบันได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์