×

มองการเลือกตั้งไต้หวันผ่าน ‘วัด’ จุดหาเสียงยอดนิยมและโอกาสแทรกแซงการเมืองจากจีน

05.01.2024
  • LOADING...
เลือกตั้งไต้หวัน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 13 มกราคม ถูกจับจ้องจากทั่วโลกในฐานะการเลือกตั้งที่อาจกำหนดท่าทีต่อจีนและสถานการณ์ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน ว่าจะเป็นไปในแง่บวกหรือแง่ลบมากกว่าที่ผ่านมา 

 

ผู้สมัครตัวเต็งจาก 2 พรรคหลัก ได้แก่ ไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีไต้หวัน จากพรรครัฐบาล DPP (หมินจิ้นตั่ง: Democratic Progressive Party) ที่มีจุดยืนต่อต้านการรวมชาติกับจีน และโหวโหย่วอี๋ นายกเทศมนตรีเมืองนิวไทเป จากพรรคฝ่ายค้าน ก๊กมินตั๋ง (Kuomintang: KMT) ที่มีจุดยืนส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีน

 

ขณะที่ทางเลือกที่ 3 คือ เคอเหวินเจ๋อ อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไทเป จากพรรค TPP (ไถวันหมินจ้งตั่ง: Taiwan People’s Party) 

 

โดยทั้งหมดต่างเดินหน้าหาเสียงกันอย่างเต็มที่ ซึ่งจุดหาเสียงยอดนิยมนั้นไม่ใช่พื้นที่กลางใจเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่านเช่นในประเทศอื่นๆ แต่กลับเป็น ‘วัด’ ศาสนสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนไต้หวันส่วนใหญ่

 

การผสมผสานกันระหว่างการเมืองกับวิถีชีวิตของชาวไต้หวันที่ยึดถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก ถือเป็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจในช่วงการเลือกตั้งของไต้หวัน ซึ่งมีการเชื่อมต่อระหว่างวัดกับชุมชน

 

ปัจจุบันมีประชาชนไต้หวันกว่า 93% จากทั้งหมดราว 24 ล้านคนที่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ทำให้วัดกลายเป็นสถานที่สำคัญที่ไม่เพียงมีไว้เพื่อให้ประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้าไปกราบไหว้พระและขอพรเพื่อความสงบทางใจ แต่ยังเป็นพื้นที่ยอดนิยมสำหรับการปราศรัยหาเสียงของบรรดานักการเมืองด้วย

 

นอกจากนั้นวัดยังถูกมองว่ามีบทบาทอื่นที่อาจส่งผลต่อการเมืองและความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

 

ศูนย์รวมจิตใจ แหล่งรวมคะแนนเสียง?

 

ไล่ชิงเต๋อและผู้สมัคร สส. ของ DPP พากันไปจุดธูปและสวดภาวนาที่วัดลี่ซิงฝูเต๋อ หนึ่งในวัดที่ใหญ่ที่สุดของเขตจงเหอในเมืองนิวไทเป ก่อนจะเริ่มการปราศรัยหาเสียงท่ามกลางฝูงชนประมาณ 200 คนที่อัดแน่นอยู่ในห้องโถงใหญ่ของวัด

 

“เป็นเวลานานแล้วที่ไต้หวันเป็นเด็กกำพร้าบนโลกนี้ แต่ตอนนี้มันแตกต่างออกไป ทุกคนกำลังมองมาที่ไต้หวัน เราต้องลงคะแนนให้ไล่ (ชิงเต๋อ) เพื่อที่เราจะได้สานต่อการเมืองตลอด 8 ปีที่ผ่านมาของไช่อิงเหวิน (ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน) ซึ่งทำให้เราเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก” อู๋เจิ้ง ผู้สมัคร สส. ของ DPP กล่าว

 

การปราศรัยหาเสียงในวัดของนักการเมืองไต้หวันสะท้อนให้เห็นว่า วัดนั้นเป็นมากกว่าแค่ศาสนสถานสำหรับชาวไต้หวัน โดยเป็นรากฐานที่สำคัญของชุมชนท้องถิ่นมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท 

 

จากข้อมูลของสถาบันอเมริกันในไต้หวันพบว่า ชาวไต้หวันเกือบ 28% นับถือศาสนาพื้นบ้าน (เช่น การบูชาเทพในท้องถิ่น) 20% นับถือศาสนาพุทธ และลัทธิเต๋า 19% ในขณะที่ 25% ไม่นับถือศาสนา ซึ่งสถานที่ทางศาสนาหลายแห่งของไต้หวันมีการผสมผสานทั้งการฝึกปฏิบัติของชาวพุทธ ลัทธิเต๋า หรือแม้แต่ชาวคริสต์

 

ขณะที่กระทรวงมหาดไทยของไต้หวันประเมินว่า มีศาสนสถานและสถานที่สักการะในไต้หวันราว 33,000 แห่ง โดยเฉลี่ยประมาณ 1 แห่งต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าไม่น้อยสำหรับประเทศเกาะที่มีขนาดเกือบ 36,000 ตารางกิโลเมตร

 

หนึ่งในชาวไต้หวันผู้มีศรัทธาและเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งชนชั้นนำที่สำคัญคือ เทอร์รี กัว ผู้ก่อตั้ง Foxconn บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ระดับโลกของไต้หวัน 

 

เขากราบไหว้ขอพรเทพเจ้าอยู่บ่อยครั้งและเคยเสนอตัวลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 ครั้งในปี 2019 และปี 2023 โดยอ้างว่าเมื่อปีที่แล้วเจ้าแม่หม่าโจ้ว เทพีแห่งท้องทะเล หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘เจ้าแม่ทับทิม’ มาหาเขาในความฝันและบอกให้เขาเข้าร่วมการเลือกตั้ง เพื่อส่งเสริมสันติภาพของช่องแคบไต้หวัน 

 

โดยกัวมีคุณสมบัติผ่านและได้รับเสียงสนับสนุนมากพอสำหรับลงสมัครในฐานะผู้สมัครอิสระในปีนี้ แต่สุดท้ายตัดสินใจถอนตัวในเดือนพฤศจิกายน

 

ที่ผ่านมาผู้สมัคร, สส. และประธานาธิบดีไต้หวัน ต่างเดินสายหาเสียงตามวัดและศาสนสถานสำคัญที่มีผู้นับถือจำนวนมาก เช่น วัดฝอกวงซัน ซึ่งมี ‘พระนักการเมือง’ หรือพระอาจาร์ยซิงหยุนผู้ล่วงลับ เป็นผู้ก่อตั้งคณะสงฆ์ของวัด โดยท่านเป็นผู้รับรองประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วของพรรคก๊กมินตั๋ง ที่มีความเป็นมิตรต่อจีน และเคยพบกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนหลายครั้ง

 

ขณะที่การเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงในอีกไม่กี่วัน ผู้สมัครตัวเต็งทุกคนต่างมีกำหนดการปราศรัยหาเสียงตามวัดต่างๆ ทุกวัน ท่ามกลางความหวังที่จะช่วงชิงคะแนนเสียงให้มากที่สุดในโค้งสุดท้าย

 

วัดเชื่อมต่อกับชุมชน

 

อาสาสมัครท้องถิ่นที่วัดลี่ซิงฝูเต๋อชี้ว่า วัดไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ที่สะดวกสำหรับผู้สมัครในการพบปะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ยังเป็นช่องทางสำหรับผู้สมัครเพื่อแสดงความเคารพและสวดภาวนาต่อเทพเจ้าในท้องถิ่น เพื่อความโชคดีในระหว่างการเลือกตั้ง โดยถือเป็นอีกหนทางในการ ‘ทำลายกำแพง’ ระหว่างพวกเขากับคนในท้องถิ่น

 

หลินกวนเจิ้น ผู้อำนวยการวัด กล่าวว่า “วัดนั้นถือเป็นสถานที่สาธารณะสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยและเสรีภาพในการพูดของไต้หวันมายาวนาน”

 

ซึ่งนอกจากผู้สมัครของ DPP ทางผู้สมัครของก๊กมินตั๋งก็ได้รับเชิญให้ไปหาเสียงที่วัดแห่งนี้เช่นกันก่อนที่ระยะเวลาในการหาเสียงจะสิ้นสุด

 

ด้าน ริชาร์ด แมดเซน ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาทางศาสนาของไต้หวันนับตั้งแต่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย ชี้ว่า “ผู้นำวัดในท้องถิ่นของไต้หวันมักเกี่ยวข้องกับการเมืองท้องถิ่นและมีความสัมพันธ์อย่างดีกับชุมชน โดยได้รับเงินทุนจากชนชั้นสูงที่มีอิทธิพล

 

“วัดหลายแห่งมีการแจกของต่างๆ เช่น การบริจาคเพื่อการกุศลและอื่นๆ ดังนั้นหากคุณเป็นนักการเมือง คุณอยากจะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเหล่านั้น” เขากล่าว พร้อมทั้งชี้ว่า “วัดบางแห่งได้รับเงินทุนจากแก๊งอาชญากรรมท้องถิ่นที่ใช้วัดสำหรับการฟอกเงิน” 

 

จีนแทรกแซงเลือกตั้งไต้หวันผ่านวัด?

 

หลายองค์กรทางศาสนาของไต้หวันมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับจีน ทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการขยายอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการแทรกแซงการเลือกตั้งของไต้หวัน

 

หลินเซี่ยนหมิง ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากศูนย์การศึกษาครูแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติผิงตง กล่าวว่า “การขาดการกำกับดูแลของรัฐบาลในการบริจาคเงินให้กับวัดต่างๆ ตลอดจนการยกเว้นภาษีทรัพย์สินและภาษีเงินได้ ทำให้การขยายอิทธิพลดังกล่าว (ของจีน) ยากต่อการติดตาม”

 

ขณะที่ Reuters รายงานว่า รัฐบาลไต้หวันเฝ้าระวังอย่างมากในการค้นหาหลักฐานที่แสดงถึงความพยายามของจีนในการโน้มน้าวผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไต้หวัน ด้วยการให้ทุนสนับสนุนแคมเปญหาเสียงของผู้สมัครที่มีนโยบายเป็นมิตรกับจีน โดยดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันหรือกรุ๊ปทัวร์ต่างๆ 

 

ซึ่งวัดถือเป็นพื้นที่เสี่ยงแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะวัดที่สักการะเจ้าแม่หม่าโจ้ว เพราะมีผู้นับถือจำนวนมากทั้งในไต้หวันและจีน

 

ที่ผ่านมาจีนมักใช้วาทกรรม ‘ครอบครัวเดียว’ ในวาทกรรมเกี่ยวกับเจ้าแม่หม่าโจ้ว โดยใช้ต้นกำเนิดของเทพในประเทศจีนเพื่อแสดงให้เห็นว่า ‘ทั้งสองฝั่งของช่องแคบไต้หวันนั้นเป็นครอบครัวเดียวกัน’ และเช่นเดียวกับเจ้าแม่หม่าโจ้ว ประชาชนในไต้หวันก็ล้วนมาจากจีน 

 

อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติของไต้หวันพยายามที่จะร่างกฎหมายใหม่หลายครั้ง เพื่อปรับปรุงกฎระเบียบทางศาสนาให้ทันสมัย ขณะเดียวกันก็รักษาหลักการประชาธิปไตย ซึ่งมักจะก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจ

 

ในปี 2022 สภาไต้หวันได้ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้สถาบันศาสนา เปลี่ยนการจดทะเบียนทรัพย์สินจากบุคคลเป็นองค์กรได้ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้บุคคลต่างๆ จัดสรรทรัพย์สินของวัด

 

แต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์หลินชี้ว่า “ไม่มีนักการเมืองคนใดที่จะพูดว่าห้ามไม่ให้ผู้คนแลกเปลี่ยนทางศาสนา เพราะกลุ่มผู้สนับสนุนจะบอกว่าศาสนาก็คือศาสนาและการเมืองก็คือการเมือง สถานการณ์ที่แท้จริงคือพวกเขาแยกจากกันไม่ได้ หากคุณต้องการห้ามจริงๆ ผมคิดว่ามันจะเป็นเรื่องยากมากสำหรับนักการเมืองทั้งสีเขียว (DPP) และสีน้ำเงิน (KMT)

 

อู๋ฮุ่ยเสิน ที่ปรึกษาของวัดลี่ซิงฝูเต๋อ ตอบคำถามเกี่ยวกับโอกาสที่จีนจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองไต้หวันผ่านวัดในท้องถิ่น โดยอธิบายว่า เทพเจ้าหลักของวัด ‘อู่เซียน’ นั้นถูกอัญเชิญจากจีนไปยังไต้หวันเมื่อ 300 ปีที่แล้ว

 

ซึ่งที่ผ่านมาทางวัดมีความพยายามที่จะเชื่อมโยงรากฐานทางศาสนาด้วยการเข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับองค์กรอู่เซียนอื่นๆ ในประเทศจีน แต่เธอยืนยันว่า ทางวัดไม่สนับสนุนประเด็นทางการเมืองหรือพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งโดยเฉพาะ

 

“เรามีเสรีภาพในการพูดและศาสนาในไต้หวัน วัดไม่ควรสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” เธอกล่าวอย่างหนักแน่น

 

#เลือกตั้งไต้หวัน 2024 #TaiwanElection2024

 

แฟ้มภาพ: Billy H.C. Kwok / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X