×

3 เหตุผลที่ส่งให้ One Piece Live Action กลายเป็นซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จ

06.09.2023
  • LOADING...
one piece live action

HIGHLIGHTS

  • เคมีนักแสดงคือส่วนสำคัญที่ทำให้โลกของ One Piece มีชีวิตขึ้นมาจริงๆ อีกทั้งยังส่งผลต่อความรู้สึกโดยรวมของคนดูด้วย
  • ความกล้าที่จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ทำให้ One Piece Live Action กลายเป็นซีรีส์ที่มากกว่าการเคารพต้นฉบับ แต่เป็นการดัดแปลงให้ดีกว่าเดิมภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด
  • การบาลานซ์ระหว่างความเป็นการ์ตูนกับความจริงทำให้ One Piece Live Action กลายเป็นซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงแฟนหน้าใหม่และแฟนเดนตาย

โจทย์ใหญ่ของ One Piece Live Action ข้อแรกคือ การดัดแปลงมาจากมังงะระดับตำนาน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีคำว่า ‘ตำนาน’ ต่อท้ายความคาดหวังจากทางฝั่งแฟนๆ จึงพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย และนั่นก็ได้นำมาซึ่งความกดดันอย่างมหาศาลตั้งแต่มีข่าวว่าโปรเจกต์นี้กำลังจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอนิเมะเป็นตัวเปรียบเทียบความสำเร็จ ความท้าทายนี้จึงยิ่งทวีคูณมากขึ้นไปอีก เพราะหากซีรีส์ไม่สามารถพาคนดูไปถึงฝั่งฝันมันอาจจบลงที่คำก่นด่าและสาปแช่งจากทุกฝ่าย

 

และข้อที่สองคือ ถึงแม้ในขั้นตอนการผลิต Eiichiro Oda ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดจะมาเป็นคนดูแลควบคุมงานสร้าง โดยเฉพาะในส่วนของนักแสดงที่ทุกคนต่างตั้งคำถามไปในทิศทางเดียวกันว่า พวกเขาเหล่านั้นจะหน้าตาเป็นอย่างไร? และที่สำคัญคือ ภาพลักษณ์ของพวกเขาจะตรงตามต้นฉบับแค่ไหน? 

 

แต่ดูเหมือนว่าหลังจากที่ One Piece Live Action ได้ออกสู่สายตาของคนดูเพียงแค่หนึ่งสัปดาห์ คำถามหรือข้อครหาเหล่านั้นก็มลายหายไปจนหมดสิ้นเมื่อผู้ชมและนักวิจารณ์ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘One Piece คือซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากมังงะได้อย่างงดงาม’ และข้อพิสูจน์นั้นก็เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนด้วยการขึ้นอันดับ 1 ใน 84 ประเทศ แซงหน้าสถิติที่ Stranger Things Season 4 และ Wednesday เคยทำเอาไว้ 83 ประเทศ ส่วนเหตุผลที่ One Piece Live Action ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นอาจแบ่งเป็น 3 ข้อใหญ่ได้ดังนี้

 

ภาพ: Netflix

 

เคมีของนักแสดงที่ลงตัว

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประตูด่านแรกของซีรีส์ก็คือเรื่องนักแสดง ถึงจะมีภาพหลุดหรือภาพนิ่งออกมาหลายคนก็ยังคงคิดว่าการสร้าง One Piece Live Action ต้องเป็นเรื่องที่ไม่เข้าท่าแน่ แต่เมื่อดูจนจบหลายคนคงเห็นพ้องต้องกันว่า นักแสดงเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โลกของ One Piece มีชีวิตขึ้นมาจริงๆ 

 

เริ่มที่นักแสดงเจ้าของบทบาทในกลุ่มหมวกฟางอย่าง Iñaki Godoy (Monkey D. Luffy), Mackenyu Arata (Zoro), Emily Rudd (Nami), Taz Skylar (Sanji) และ Jacob Romero (Usopp) พวกเขาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผ่านการคัดเลือกจาก Oda โดยตรงแทบทั้งสิ้น และเมื่อสวมบทที่แต่ละคนได้รับมันก็ยิ่งเผยให้เห็นถึงเคมีที่เข้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะลบความแคลงใจที่บางคนมีอย่างรวดเร็ว

 

แต่ภาพใหญ่ของ One Piece ไม่ได้มีแค่กลุ่มหมวกฟาง เมื่อการเดินทางของพวกเขาได้พบเจอกับผู้คนอีกมากมาย และโจทย์ที่ตามมาคือ นักแสดงเหล่านั้นต้องทำให้คนดูเชื่อในตัวละครนั้นจริงๆ ซึ่ง One Piece Live Action สามารถตีโจทย์ตรงนี้ได้อย่างแตกฉาน โดยการคัดเลือกนักแสดงที่ดูเหมือนหรือมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับตัวละครในมังงะเข้ามา แม้จะมีบางส่วนที่ดูแตกต่างจากต้นฉบับไปบ้าง แต่ทีมสร้างก็เลือกที่จะตีความพวกเขาใหม่ในฐานะคนที่อาศัยอยู่ในโลกนี้จริงๆ 

 

อย่างไรก็ดี ตัวละครเหล่านี้อาจไม่ได้มีบทบาทที่โดดเด่นในปัจจุบัน (หากไม่เคยติดตามมังงะมาก่อน) แต่ Oda ก็ให้ความสำคัญกับพวกเขาทุกคน โดยเฉพาะในแง่เคมีที่ต้องสัมพันธ์กับโลกของ One Piece เพราะถ้าหากไม่สัมพันธ์กันมันอาจทำให้รู้สึกแปร่งหากพวกเขาจะต้องรับส่งบทสนทนาหรือฉากแอ็กชันกัน  

 

ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญมาก เพราะการพบปะกับบางตัวละครอาจมีเวลาเล่าเพียงแค่ 1-2 ตอน ฉะนั้นการที่จะทำให้คนดูเชื่อต้องไม่ได้มาจากภาพลักษณ์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาจากเคมีด้วย และนั่นได้กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ One Piece Live Action ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในฐานะซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากมังงะ 

 

 

เคารพต้นฉบับ แต่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

 

การเคารพต้นฉบับถือเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกัน One Piece Live Action ก็กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้แตกต่างไปจากต้นฉบับ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการดัดแปลงมังงะ 11 เล่มให้มาอยู่ในซีรีส์ที่มีความยาวเพียงแค่ 8 ตอนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งทีมสร้างจะต้องตัดสินใจอย่างเฉียบคมว่า ส่วนไหนที่พวกเขาควรตัด และส่วนไหนที่ควรเพิ่ม เพื่อให้เรื่องราวการผจญภัยของกลุ่มหมวกฟางมีชีวิตในโลกของ Live Action มากกว่าจะยึดติดกับโลกในกระดาษทั้งหมด

 

อย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือ การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดทางกายภาพของตัวละคร เช่น Sanji ที่ในมังงะเป็นตัวละครที่มี ‘คิ้วม้วน’ แต่ซีรีส์ได้เปลี่ยนให้เขาเป็นคนที่มีคิ้วปกติ หรือ Usopp ที่ในมังงะเป็นตัวละครที่มี ‘จมูกยาว’ แต่พอมาอยู่ในซีรีส์ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นคนที่มีจมูกเหมือนคนธรรมดาทั่วไป

 

 

ถึงกระนั้น บางตัวละครทีมสร้างก็เลือกที่จะคงไว้ซึ่งคาแรกเตอร์เดิม เช่น Buggy ที่แทบจะเรียกได้ว่าถอดแบบมาจากมังงะทุกกระเบียดนิ้ว หรือ Arlong ที่ถึงจะเหมือน แต่ก็มีการปรับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเสื้อผ้าเพิ่มเข้ามา เพื่อช่วยขยับขยายมิติด้านความสมจริงให้กับตัวละคร   

 

และอย่างที่สองคือ การเปลี่ยนฉากที่อยู่ในต้นฉบับให้แตกต่างไปจากเดิม เช่น ฉากที่ Sanji บอกลา Zeff ที่ในมังงะ Sanji จะก้มคำนับและตะโกนกล่าวขอบคุณที่ดูแลเขามาโดยตลอด แต่ในซีรีส์เปลี่ยนเป็นการบอกลาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งการตัดสินใจนี้อาจมีที่มาจากบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างชาวตะวันตกกับชาวเอเชีย 

 

 

ขณะเดียวกันก็มีหลายฉากที่ทีมสร้างเลือกที่จะทำตามต้นฉบับ เช่น ฉากดวลดาบระหว่าง Zoro กับ Mihawk, ฉาก Shanks ช่วยเหลือ Luffy จากเจ้าทะเล และฉากมอบหมวกฟางที่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด 

 

นอกจากนี้ พวกเขายังกล้าเปลี่ยนปัจจัยเรื่องเวลาและสถานที่ เช่น การพบเจอกันครั้งแรกระหว่าง Luffy กับ Nami หรือการบุก Baratie ของ Arlong ที่ใส่เข้ามาเพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของตัวร้ายประจำซีซันดูเป็น ‘ภัยคุกคาม’ เร็วขึ้น

 

ซึ่งความกล้าที่จะเปลี่ยน หรือไม่เปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ทำให้ซีรีส์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเคารพต้นฉบับ แต่เป็นการพัฒนาต่อยอดให้ออกมาดีกว่าเดิมภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด และนั่นคงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นอกจากแฟน One Piece แล้วคนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามมังงะหรือการ์ตูนมาก่อนต่างก็ชื่นชมถึงความยอดเยี่ยมในการดัดแปลงครั้งนี้ เพราะมันไม่ได้ตอบโจทย์แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการตอบโจทย์ทุกคนที่รักหรืออยากจะทำความรู้จักกับโลกของ One Piece

 

 

การบาลานซ์ระหว่างความเป็นการ์ตูนกับความจริง เพื่อแฟนหน้าใหม่และแฟนเดนตาย

 

One Piece ควรจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนที่รู้กับคนที่ไม่รู้ นั่นคือเหตุผลทั้งหมดที่ทำสิ่งนี้ บางสิ่งที่แฟนเดนตายจะต้องรักและชื่นชม และพูดว่า ‘ว้าว ดูสิ่งที่พวกเขาทำสิ’ ขณะเดียวกันก็บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจซึ่งไม่ได้อยู่ในนั้นจนแฟนๆ หน้าใหม่ต่างพากันถามว่า ‘เกิดอะไรขึ้นที่นี่? เรือโจรสลัดสีชมพูบ้าอะไรเนี่ย?’” Matt Owens และ Steven Maeda สองคู่หูโชว์รันเนอร์ของซีรีส์เผยถึงความตั้งใจที่พวกเขาต้องการให้ One Piece Live Action เป็น

 

ความล้มเหลวส่วนใหญ่ที่มักจะเกิดขึ้นกับงานที่ดัดแปลงมาจากมังงะคือ การใส่ส่วนผสมของความเป็นการ์ตูนมากเกินไป หรือใส่ส่วนผสมของความจริงมากเกินไป หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและเพิ่งผ่านมาได้ไม่นานคือ Saint Seiya: The Beginning (2023) ที่นอกจากจะล้มเหลวในมิติของการเล่าเรื่อง ส่วนที่หลายคนต่างเบือนหน้าหนีคือ มันเต็มไปด้วยความครึ่งๆ กลางๆ ที่ล้นทะลักและไม่รู้ว่าตัวเองจะเอาดีด้านไหน 

 

ทั้งนี้ ถ้าทำแบบใส่ความเป็นการ์ตูนมากเกินไปอาจจบลงที่บทสรุปของคำว่า ‘คนแต่งคอสเพลย์มาแสดง’ ซึ่งแน่นอนว่ามันจะเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ ‘ฝืน’ และ ‘พิลึกพิลั่น’ เกินบรรยาย

 

 

การทำซีรีส์หรือหนังที่ดัดแปลงมาจากมังงะจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก เมื่อคำนึงถึงหลักความเป็นจริงและความแฟนตาซีของการ์ตูน แต่ One Piece Live Action ได้พิสูจน์แล้วว่าการบาลานซ์ให้สองสิ่งนี้อยู่ในจุดสมดุลนั้นต้องทำอย่างไร แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้มันประสบความสำเร็จอาจเป็นเพราะเรื่องของเงินทุนด้วย 

 

One Piece Live Action ตอนหนึ่งจะใช้เงินอยู่ราวๆ 18 ล้านดอลลาร์ และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน ซีรีส์อาจใช้ต้นทุนสูงถึง 144 ล้านดอลลาร์ในการผลิต ซึ่งมากกว่าที่อนิเมะเรื่องนี้ใช้ไปกับการออกอากาศตลอด 20 ปีที่ผ่านมาประมาณ 40 ล้านดอลลาร์

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การบาลานซ์ระหว่างสองสิ่งนี้อาจเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดงที่ทำให้คนดูเชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นคือคนที่อยู่ในโลกของ One Piece จริงๆ เพราะเมื่อคนดูเชื่อก็คงไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลอะไรมาโน้มน้าวอีกต่อไป 

 

 

ในแง่ของความเป็นการ์ตูน One Piece Live Action ได้ใส่เข้าไปในฉากต่างๆ ที่ถูกร้อยเรียงให้เป็นไปตามต้นฉบับของมังงะ เช่น การพบเจอ การบอกลา และการต่อสู้ แต่ขณะเดียวกันทีมสร้างก็ใส่รายละเอียดปลีกย่อยที่แสดงถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ผ่านบทสนทนา การกระทำ หรือเงื่อนไขที่ถูกครอบด้วยความจริงอีกทีหนึ่ง ซึ่งพอทั้งสองส่วนนี้ได้ผสานรวมเข้าด้วยกันมันก็กลายเป็นภาพใหญ่ที่จับต้องได้จริงทั้งเลือดเนื้อของตัวละครและสภาพแวดล้อมในโลกใบนั้น 

 

อีกทั้งการปรับเปลี่ยนบางอย่างด้วยการใส่ความจริงลงไปมากขึ้นทำให้ซีรีส์สามารถเข้าถึงแฟนหน้าใหม่ได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันแฟนรุ่นเก่าก็พึงพอใจกับการตีความและดัดแปลงครั้งนี้เช่นเดียวกัน 

 

ไม่แน่บางที One Piece Live Action อาจกลายเป็นมาตรฐานที่ดีในอนาคตสำหรับซีรีส์หรือหนังที่จะดัดแปลงมาจากมังงะหลังจากนี้ และด้วยเสียงชื่นชมที่ถล่มทลายคงพูดได้อย่างไม่เคอะเขินว่า One Piece Live Action ได้กลายเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่คนทั่วโลกต่างเฝ้ารอซีซันต่อไปเป็นที่เรียบแล้ว และนั่นคงเป็นความสำเร็จที่ทำให้ทีมสร้างรวมไปถึงผู้ให้กำเนิดอย่าง Oda มีความสุขที่สุดแล้ว

 

“ผมไม่ต้องการให้สิ่งต่างๆ ดูสว่าง และมีลักษณะเหมือนคอสเพลย์ ผมต้องการให้มันดูเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องของคนที่อาศัยอยู่ในนั้น” Maeda กล่าว

 

สามารถรับชม One Piece Live Action (2023) ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising