×

ไขข้อข้องใจ ทำไมราคาน้ำมันดิ่งต่อเนื่องจนต่ำสุดรอบปี แม้สถานการณ์ในรัสเซียยังโกลาหล

17.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • นโยบายกีดกันการนำเข้าและควบคุมราคาน้ำมันของกลุ่มประเทศ G7 เป็นความพยายามกดดันรัสเซียทางการค้า เพื่อลดรายได้และความสามารถในการยืดภาวะสงครามออกไป
  • สหภาพยุโรปยังคงต้องพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซีย ดังนั้นการสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอาจส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของชาวยุโรป สหภาพยุโรปจึงเลือกที่จะผ่อนคลายการกำหนดเพดานราคาที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค
  • การลดการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ที่ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าราคาน้ำมันอาจจะพุ่งสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เนื่องจากการผลิตที่ลดลงนั้นต่ำกว่าคาด บวกกับความกังวลด้านสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว
  • ขณะที่จีน ซึ่งเป็นหนึ่งในสองยักษ์ใหญ่ผู้บริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลก มีการบังคับใช้นโยบาย Zero-COVID ที่ทำให้นักเทรดส่วนใหญ่มองถึงความต้องการน้ำมันที่หายไปจากตลาด และนั่นหมายความว่าอุปทานน้ำมันมีมากเกินไป ส่งผลให้ราคานั้นอยู่ในระดับต่ำสุดของปี 2022
  • อย่างไรก็ตาม น้ำมันอาจปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยการชะลอตัวการเติบโตของอัตราการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ อุปทานน้ำมันรัสเซียที่อาจลดลงช่วงต้นปี 2023 ขณะที่นโยบาย Zero-COVID ของจีนอาจเป็นเรื่องชั่วคราว

เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมนับว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 ได้บังคับใช้นโยบายกีดกันการนำเข้าน้ำมันดิบจากทางรัสเซีย

 

สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างรัสเซีย โดยทางรัสเซียกล่าวว่าจะหยุดการส่งออกไปยังประเทศใดก็ตามที่เข้าร่วมกับนโยบายควบคุมราคานี้ ซึ่งเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนโยบายมีผลบังคับใช้ ความปั่นป่วนในด้านซัพพลายก็ก่อตัวขึ้น เริ่มจากการที่มีรถขนน้ำมันจำนวนมากต้องติดชะงักอยู่ที่ช่องแคบบอสฟอรัสในตุรกี 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ปกติแล้วปัจจัยเหล่านี้ควรที่จะดันให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาที่กลุ่ม OPEC+ (กลุ่มประเทศสมาชิก 10 ประเทศที่ส่งออกน้ำมัน แต่ไม่ใช่กลุ่ม OPEC ดั้งเดิม) ได้ลดการผลิตลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่เหตุใดราคาน้ำมันจึงยังคงถูกซื้อขายกันที่ 76.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในปี 2022 

 

อุปทานน้ำมันรัสเซียยังคงแข็งแกร่ง

การสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกโดยยุโรป ถือว่าเป็นการลงโทษทางการค้าอย่างแท้จริง จุดประสงค์ของการลงโทษครั้งนี้คือการบีบให้รัสเซียต้องโยกย้ายอุปทานน้ำมัน ลดรายได้ของรัสเซีย และหยุดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของประเทศพันธมิตรต่างๆ ที่พยายามสนับสนุนยูเครนแต่กลับซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งสามารถบอกเป็นนัยได้ว่านี่อาจจะเป็นการสนับสนุนให้รัสเซียสามารถยืดสงครามออกไปได้ เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการค้าน้ำมัน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประกาศห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียโดยยุโรปนั้น เมืองหลวงหลายแห่งในชาติตะวันตกเริ่มมีความกังวลว่ามาตรการครั้งนี้อาจนำไปสู่ความปั่นป่วนในฝั่งอุปทานของรัสเซียที่ส่งออกน้ำมันยากขึ้นด้วยข้อจำกัดต่างๆ และยุโรปเองอาจได้รับผลกระทบเชิงลบของปริมาณน้ำมันที่ขาดแคลน ผลักให้น้ำมันมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่เงินเฟ้อในอัตราที่เพิ่มขึ้นในที่สุด 

 

ด้วยเหตุนี้นโยบายควบคุมเพดานราคาน้ำมันของกลุ่มประเทศ G7 จึงมีจุดประสงค์ที่จะลดความตึงเครียดของสถานการณ์ โดยทำให้แน่ใจว่าน้ำมันจะยังไปถึงมือผู้บริโภคตามความต้องการ เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนที่มีผลมาจากนโยบายกีดกันนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น รวมถึงนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ถูกผ่อนคลายลงที่จะทำให้ผู้ซื้อขายมั่นใจได้ว่าอุปทานน้ำมันจะไม่ลดฮวบลงไป

 

นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาก็พยายามโน้มน้าวให้สหภาพยุโรปผ่อนปรนหนึ่งในมาตรการของการสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย นั่นก็คือการยุติการให้บริการ Maritime Service หรือการซ่อมบำรุงเรือขนส่งสินค้าใดก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ และซื้อขายน้ำมันเกินกว่าราคา 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ที่ช่วงแรกมีระยะเวลาการยุติการให้บริการตลอดไป เปลี่ยนให้เหลือเพียง 90 วัน

 

Amos Hochstein ที่ปรึกษาอาวุโสด้านพลังงานของสหรัฐฯ พูดถึงนโยบายควบคุมราคาน้ำมันที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลว่า “นโยบายถูกออกแบบมาเพื่อให้มั่นใจว่าหากมีการพุ่งขึ้นของราคา สิ่งนี้จะไม่ถูกใช้เพื่อทำให้ความสัมพันธ์สั่นคลอน หรือทำให้ศักยภาพในการสนับสนุนยูเครนลดลง และจะไม่เป็นการสนับสนุนโดยเพิ่มรายได้ให้กับผู้รุกราน (รัสเซีย) ที่จะสามารถใช้รายได้ส่วนนี้ในการก่อความวุ่นวายยาวนานไปกว่านี้อีก”

 

ด้าน Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวว่า เพดานราคาที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อยู่ในระดับราคาที่ใกล้เคียงกับที่รัสเซียขายน้ำมันอยู่แล้ว และยังกล่าวเพิ่มด้วยว่านโยบายนี้จะมีผลเพียงเล็กน้อยกับรายได้หรืองบประมาณของรัสเซีย 

 

“เราจะไม่เสียผลประโยชน์ ไม่ว่าในกรณีใด” อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังสามารถเลือกที่จะสร้างความไม่มั่นคงให้กับตลาดน้ำมันโดยการลดกำลังการผลิต “หากจำเป็น” Putin กล่าว

 

รัสเซียนั้นปฏิเสธที่จะเจรจากับผู้ซื้อใดก็ตามที่ต้องการจะยึดนโยบายควบคุมราคาน้ำมันต่อรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้จะเป็นเช่นนี้เจ้าหน้าที่ฝั่งตะวันตกกล่าวเสริมว่า ผู้ผลิตน้ำมันในฝั่งเอเชียจะสามารถใช้ราคานี้ในการเจรจาต่อรองเพื่อกดราคากับรัสเซียได้บ้าง

 

Urals ซึ่งเป็นน้ำมันชนิดหลักของรัสเซีย มีการซื้อขายกันที่ราคา 53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาตามข้อมูลของสำนักข่าว Reuters

 

ทาง Florian Thaler ประธานเจ้าหน้าที่ของ OilX บริษัทวิเคราะห์และติดตามข้อมูลการซื้อขายแลกเปลี่ยนน้ำมันทั่วโลก กล่าวว่า “ปริมาณน้ำมันที่รัสเซียมีอยู่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาด” พร้อมกล่าวเสริมว่า การลดลงนั้นไม่น่าจะมีให้เห็นจนกว่าจะถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 

 

การลดการผลิตของ OPEC+ ไม่ได้มากอย่างที่คิด

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และพันธมิตรในกลุ่ม OPEC+ ประกาศที่จะลดกำลังการผลิตถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 2% ของปริมาณที่ผลิตทั่วโลก ซึ่งองค์กรนานาชาติกล่าวหาว่าการตัดสินใจของกลุ่ม OPEC+ เป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลก

 

แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อในเศรษฐกิจตะวันตกที่มีสาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนพลังงาน แต่การตัดสินใจครั้งนี้โดยกลุ่ม OPEC+ ค่อนข้างจะเหมาะสมหากพิจารณาจากข้อมูลช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

แม้ว่าจะมีการลดการผลิต ราคาน้ำมันก็ยังคงปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลสนับสนุนความคิดของรัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบียอย่างเจ้าชาย Abdulaziz bin Salman ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า การลดกำลังการผลิตล่วงหน้านั้นจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันดิ่งหนัก เนื่องด้วยสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

 

การลดการผลิตโดยกลุ่ม OPEC+ น้อยกว่าสิ่งที่ผู้คนบางส่วนคาดการณ์ สาเหตุหนึ่งมาจากผู้ผลิตบางราย เช่น แองโกลา และไนจีเรีย ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้า ดังนั้นแทนที่น้ำมันจำนวน 2 ล้านบาร์เรลต่อวันจะหายไปจากตลาด ในความเป็นจริงนั้นปริมาณที่หายไปทั้งหมดอยู่ที่ราวๆ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ไปสู่จุดต่ำสุดของปี 2022 ได้

 

ความกังวลในฝั่งอุปสงค์สูงกว่าฝั่งอุปทาน

หลายเดือนหลังจากความกังวลหลักเรื่องความปั่นปวนในฝั่งอุปทาน นักเทรดเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น ที่เป็นผลจากสงครามในยูเครน รวมทั้งสงครามพลังงานในยุโรป ประกอบกับธนาคารกลางต่างๆ ที่พยายามเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจะหยุดเงินเฟ้อที่ร้อนแรง

 

ธนาคารต่างๆ ใน Wall Street มองว่าเศรษฐกิจในปี 2023 ค่อนข้างน่าเป็นห่วง “เมื่อผมพูดคุยกับลูกค้า พวกเขาดูกังวลและระมัดระวังมาก” David Solomon ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารชั้นนำอย่าง Goldman Sachs กล่าวในสัปดาห์นี้

 

แนวโน้มขาลงของตลาดน้ำมันเริ่มปรากฏตัวให้เห็นจากการเปลี่ยนสถานะของ Backwardation (สภาวะตลาดที่ราคาสินค้า ณ ปัจจุบันมีราคาสูงกว่าราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสินค้าตัวเดียวกันในอนาคต) ไปสู่สถานะที่ตรงกันข้ามคือ Contango

 

การสลับสถานะของราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับราคาปัจจุบันนี้ แสดงให้เห็นว่านักเทรดมีมุมมองว่าตลาดน้ำมันปริมาณอุปทานมีมากเกินไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังว่าจะมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

 

ความกังวลหลักของตลาดน้ำมันมีปัจจัยมาจากจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลก ด้วยประเทศจีนเองที่ใช้นโยบาย Zero-COVID ผนวกกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะนำไปสู่การบริโภคน้ำมันที่น้อยลง และน้อยกว่าปี 2021 จากข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) นับว่าเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบศตวรรษ

 

ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจมีความหวังที่จะหลีกเลี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่ความต้องการบริโภคน้ำมันของคนในประเทศก็คล้ายกับว่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำมันของสหรัฐฯ ก็ยังไม่เคยกลับไปสู่จุดเดิมก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด

 

แต่ราคาน้ำมันอาจจะปรับตัวสูงขึ้นก็ได้

ผู้ที่มีมุมมองว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลงชี้ให้เห็นว่านี่คือการจบรอบวงจรขาขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันต่ำไปอีกสักระยะ แต่อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าราคาอาจจะปรับตัวขึ้น เนื่องจากการลงทุนที่ต่ำในด้านของการผลิต การเติบโตที่เชื่องช้าในการผลิตก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น การลดลงของอุปทานน้ำมันรัสเซียอาจจะมีผลให้เห็นในปีข้างหน้า และความต้องการที่น้อยของจีนก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่าใดนัก ก่อนจะกลับมาสู่สภาวะปกติอีกครั้ง

 

เรากำลังขยับออกจากปี 2022 ซึ่งความต้องการพลังงานไม่เติบโตเลย ไปสู่ความต้องการที่เพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรลในปีหน้า และเราก็จะเห็นความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นอย่างมากจากจีนในอนาคตอันใกล้

 

ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนมีแผนว่าจะเพิ่มสต๊อกน้ำมัน หากราคาลดลงมาอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

“ผู้ขายน้ำมันดิบจำนวน 200 ล้านบาร์เรลในปี 2022 อาจกลายเป็นหนึ่งในผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของปี 2023” Bill Smead กรรมการของ Smead Capital Management กล่าวถึงปริมาณน้ำมันฉุกเฉินที่ถูกปล่อยออกมาในปีนี้ “ประวัติศาสตร์ชี้ว่าเราจะได้เห็นราคาน้ำมันและก๊าซที่สูงไปอีกหลายปี” เขากล่าวทิ้งท้าย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising