ราคาหุ้นหลักในกลุ่มเจมาร์ท ได้แก่ บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) และ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ปรับตัวขึ้นสูงสุดถึง 12% และ 16% ตามลำดับ ขณะที่ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เพิ่มขึ้นสูงสุด 5.6% ในวันนี้ (11 สิงหาคม)
สำหรับหุ้น JMT ที่ปรับตัวขึ้นอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจนัก หลังจากที่บริษัทรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 จำนวน 551 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นกำไรสุทธิรายไตรมาสที่สูงที่สุด และทำให้ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ JMT มีกำไรสุทธิ 1,004 ล้านบาท ขณะเดียวกันการจัดเก็บกระแสเงินสดก็เพิ่มขึ้นราว 5% มาอยู่ที่ 2,930 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก
บล.บัวหลวง ระบุว่า กำไรสุทธิของ JMT ที่เพิ่มขึ้น 27% จากปีก่อน และ 22% จากไตรมาสแรก มากกว่าที่เราคาดไว้ 5% แต่เป็นไปตามที่ตลาดคาด ส่วนแนวโน้มกำไรไตรมาส 3 น่าจะเติบโตต่อได้ทั้งจากปีก่อนและจากไตรมาสก่อนหน้า โดยประเมินราคาเป้าหมายที่ 46 บาท
แม้กำไรของ JMT จะค่อนข้างน่าประทับใจในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่ในส่วนของ JMART และ SINGER กลับเป็นภาพที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โดย JMART รายงานผลขาดทุนสุทธิ 611 ล้านบาท ทำให้ครึ่งปีแรกขาดทุนไปรวม 906 ล้านบาท ขณะที่ SINGER ขาดทุนมากถึง 2,396 ล้านบาท ทำให้ครึ่งปีแรกขาดทุนไปรวม 3,239 ล้านบาท ส่วนหุ้นอีกตัวที่ขาดทุนหนักในช่วงไตรมาส 2 คือ SGC ที่รายงานผลขาดทุน 1,918 ล้านบาท
ผลขาดทุนของ JMART ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก SINGER ซึ่งถูกกดดันจากทั้งรายได้ที่ลดลง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือก็คือการตั้งสำรองในส่วนของสินเชื่อที่อาจกลายเป็นหนี้เสีย
รายได้ของ SINGER ลดลงมากถึง 44.2% เหลือเพียง 796 ล้านบาท เพราะยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง จำนวนพนักงานขายแฟรนไชส์ลดลง และจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 26.5% มาเป็น 1,219 ล้านบาท สวนทางกับรายได้ จากการตั้งสำรองค่าเผื่อการปรับมูลค่าของสินค้าคงเหลือ เนื่องจากราคาขายสินค้ามือสองลดลง ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคิดเป็นจำนวน 2,882 ล้านบาท เนื่องจากการตัดหนี้สูญกลุ่มลูกหนี้ด้อยคุณภาพของสัญญาเช่าซื้อ
ขณะที่ธุรกิจหลักของ JMART หากไม่รวมผลขาดทุนจาก SINGER ถือว่าไม่ได้ย่ำแย่มากนัก โดยรวมรายได้จากการขายและบริการทรงตัวที่ 3,264.9 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้น 1,136.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%
ผู้บริหารของ JMART มองว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้บริษัทตั้งเป้าที่จะสร้างผลการดำเนินงานให้กลับมามีกำไรสุทธิ เนื่องจากผลกระทบจากการตั้งสำรองของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดจาก SINGER คาดว่าจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ สถานการณ์ของ SINGER จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
นอกจากธุรกิจเช่าซื้อของ SINGER แล้ว JMART ยังมีธุรกิจอื่นๆ ในเครือ ทั้งติดตามหนี้ด้อยคุณภาพผ่าน JMT ยังคงเป็นฐานกำไรสำคัญของกลุ่มยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผ่าน JAS Asset (J) มีผลขาดทุน 17.1 ล้านบาท ในไตรมาส 2 และธุรกิจบีเอ็นเอ็น เรสเตอรองท์ หรือสุกี้ตี๋น้อย ยังมีแนวโน้มเติบโตจากการขยายสาขาไปต่างจังหวัด จากที่มีกำไรสุทธิ 212 ล้านบาทในไตรมาส 2 ส่วนธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันตั้งแต่ไตรมาส 3
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงซื้อที่กลับเข้ามาในหุ้นกลุ่มเจมาร์ทเป็นลักษณะของการ Buy on Fact หลังจากที่หุ้นในกลุ่มถูกเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ แต่หลังจากที่ผลประกอบการของหุ้นอย่าง SINGER และ SGC ออกมาค่อนข้างแย่ ทำให้โอกาสที่ผลประกอบการหลังจากนี้อาจจะไม่ได้แย่ไปมากกว่านี้อีกแล้ว
“ถ้างบไตรมาส 2 ยังไม่แย่ขนาดนี้ อาจทำให้ราคาหุ้นไม่ฟื้น แต่เมื่อตัวเลขออกมาแบบนี้ ทำให้งบของหุ้นกลุ่มเจมาร์ทอาจเป็นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2”
ในเชิงกลยุทธ์หากจะเลือกซื้อหุ้นกลุ่มเจมาร์ท มองว่าหุ้น JMT เป็นตัวเลือกอันดับ 1 จากแนวโน้มกำไรที่ยังดีต่อเนื่อง และการปรับตัวลงก่อนหน้านี้มาจากเรื่องของ Sentiment ของหุ้นในกลุ่ม ตัวเลือกถัดมาคือ JMART ซึ่งผลประกอบการน่าจะดีขึ้นจากส่วนแบ่งของ JMT และแรงกดดันจาก SINGER และ SGC ลดลง
ทั้งนี้ ราคาหุ้นในกลุ่มเจมาร์ทนับแต่ต้นปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอย่างหนัก โดย ณ ราคาปิดวันที่ 10 สิงหาคม SINGER ลดลงมาสุด 74.09% รองลงมาคือ SGC ลดลง 72.38%, JMART ลดลง 60.25%, JMT ลดลง 42.03% และ J ลดลง 37.50%
ด้าน บล.ดาโอ ระบุว่า แนะนำขายหุ้น SINGER และอยู่ระหว่างการปรับประมาณการขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น และปรับราคาเป้าหมายลง จากเดิมราคาเป้าหมายที่ 6 บาท จากความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เราประเมินว่าสินเชื่อมีโอกาสที่จะขยายตัวต่ำคาด จากการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งเงินสด และเงินลงทุนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนมีมูลค่าน้อยกว่าหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2566-2568 รวมที่ 5,700 ล้านบาท