×

CHIP WAR: แกลเลียม-เจอร์เมเนียมสำคัญอย่างไร จีนจำกัดส่งออก กระทบเราแค่ไหน

04.08.2023
  • LOADING...
แกลเลียม เจอร์เมเนียม จีน

มาตรการจำกัดการส่งออกแกลเลียมและเจอร์เมเนียมของจีนเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกจับตาและสร้างความวิตกกังวลให้กับหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากแกลเลียมและเจอร์เมเนียมเป็นสินแร่หายากและเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเปรียบเสมือนมันสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ 

 

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า มาตรการนี้อาจเป็นกระสุน ‘นัดแรก’ ที่ปักกิ่งหมายใช้ในการทำสงครามชิปกับสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้วอชิงตันและชาติพันธมิตรที่เพิ่มความกดดันต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน

 

แต่ก่อนจะลงลึก เราไปดูรายละเอียดมาตรการและทำความรู้จักสองแร่ธาตุสำคัญนี้กันก่อน

 

จีนกำหนดเงื่อนไขอะไรในการส่งออกสินแร่หายาก

 

ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ของจีนและสำนักงานศุลกากรจีนได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2023 เป็นต้นไป ผู้ส่งออกของจีนจะต้องยื่นคำขออนุญาตก่อนส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับแกลเลียมและเจอร์เมเนียมในใบขออนุญาตดังกล่าว ผู้ส่งออกจะต้องแสดงสัญญาการส่งออกที่เกี่ยวข้อง หลักฐานของผู้ใช้ปลายทาง ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับผู้นำเข้าและผู้ใช้ปลายทาง 

 

แต่ หม่าจี้หัว นักวิเคราะห์ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรม กล่าวว่า คำสั่งจำกัดการส่งออกดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งห้ามโดยสิ้นเชิง แต่ยอมรับว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ จากมาตรการนี้น่าจะเป็นบริษัทที่มาจากประเทศที่กำหนดมาตรการควบคุมที่คล้ายกันกับจีนก่อน โดยการควบคุมการส่งออกของปักกิ่งล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากวอชิงตันพยายามจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีไมโครโปรเซสเซอร์ขั้นสูงของปักกิ่ง

 

สำหรับประเทศอื่นๆ นั้น ตราบใดที่การขออนุญาตส่งออกมีความสมเหตุสมผลและมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับการขยายขอบเขตการควบคุม หม่ากล่าวกับ Global Times ซึ่งเป็นสื่อของทางการจีน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

แกลเลียมและเจอร์เมเนียมคืออะไร 

 

แกลเลียมและเจอร์เมเนียมคือแร่ธาตุหายากที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตชิป อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์การสื่อสาร เช่น สายเคเบิลใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออปติก รวมไปถึงการใช้งานด้านการทหาร เช่น กล้องมองกลางคืน เซ็นเซอร์ภาพถ่ายดาวเทียม ขีปนาวุธนำวิถีด้วยเลเซอร์ ตลอดจนใช้ในภาคพลังงานหมุนเวียน เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ กังหันลม และยานยนต์ไฟฟ้า 

 

วัสดุเหล่านี้เป็น ‘Minor Metals’ ซึ่งหมายความว่าไม่ค่อยพบตามธรรมชาติ แต่เป็นผลิตผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตโลหะอื่นๆ โดยเจอร์เมเนียมส่วนใหญ่เป็นผลิตผลพลอยได้จากการผลิตสังกะสีและจากเถ้าลอย 

 

ในส่วนของแกลเลียม สามารถพบแกลเลียมปริมาณเล็กน้อยได้ในแร่สังกะสีและในบอกไซต์ โดยโลหะแกลเลียมจะถูกผลิตขึ้นเมื่อแปรรูปบอกไซต์เพื่อผลิตอะลูมิเนียม 

 

แกลเลียมใช้ทำแกลเลียมอาร์เซไนด์ ซึ่งเป็นโลหะผสมชนิดหนึ่งที่ใช้ผลิตชิป โดยชิปที่ผลิตจากแกลเลียมสามารถทำงานได้เร็วกว่าชิปที่ทำจากซิลิคอนสำหรับใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

 

แกลเลียมบริสุทธิ์ 99.99% ที่ผลิตในประเทศจีน มีราคาประเมินอยู่ที่ 1,775 หยวน (245 ดอลลาร์) ต่อกิโลกรัม ในวันจันทร์ (31 กรกฎาคม) เพิ่มขึ้น 5.97% จากวันซื้อ-ขายก่อนหน้า และเป็นราคาสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม ตามข้อมูลของ Shanghai Metal Exchange 

 

ขณะที่ราคาโลหะเจอร์เมเนียมของจีนอยู่ที่ 9,150 หยวน (1,264 ดอลลาร์) ต่อกิโลกรัม ในวันที่ 31 กรกฎาคม

 

ใครเป็นผู้เล่นรายใหญ่

 

จีนถือเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของแร่โลหะหายากทั้งสองชนิดนี้

 

แกลเลียมประมาณ 80% ของโลก และเจอร์เมเนียมประมาณ 60% ของโลกนั้นผลิตในจีน ตามรายงานของ Critical Raw Materials Alliance (CRMA) ซึ่งเป็นสมาคมอุตสาหกรรมของยุโรป  

 

ขณะที่จีนส่งออกแกลเลียมคิดเป็น 94% ของอุปทานทั่วโลก และเจอร์เมเนียมคิดเป็น 83% ตามรายงานของ Bloomberg

 

ด้านศุลกากรจีนเปิดเผยว่า จีนมีการส่งออกแกลเลียม 94 เมตริกตันในปี 2022 เพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อนหน้า และส่งออกเจอร์เมเนียมที่ยังไม่ขึ้นรูปและขึ้นรูปแล้ว 43.7 เมตริกตันในปีที่แล้ว

 

ใครเป็นผู้ผลิตโลหะเหล่านี้อีกบ้าง

 

นอกจากจีนแล้ว ญี่ปุ่น รัสเซีย และเกาหลีใต้ ผลิตแกลเลียมปฐมภูมิ (Primary Gallium) ประมาณ 10 เมตริกตันในปี 2021 ตามรายงานของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (USGS) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่จีนผลิตได้ นอกจากนั้นยังสามารถพบแกลเลียมได้ในกระบวนการรีไซเคิลวัสดุ

 

ในอดีต เยอรมนีและคาซัคสถานเคยผลิตแกลเลียมเช่นกัน ก่อนที่จะหยุดผลิตไปอยู่ช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ดี หลังจากที่ราคาพุ่งสูงขึ้นเมื่อปี 2020 และ 2021 เยอรมนีจึงตัดสินใจกลับมาเริ่มผลิตแกลเลียมปฐมภูมิอีกครั้ง

 

ข้อมูลจาก CRMA ระบุว่า มีเพียงไม่กี่บริษัทในโลกที่สามารถผลิตแกลเลียมอาร์เซไนด์ที่มีความบริสุทธิ์ตามที่อุตสาหกรรมกำหนด โดยบริษัทหนึ่งอยู่ในยุโรปและที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่นและจีน แม้ว่าบริษัท Neo Performance Materials ของแคนาดา ออกมายืนยันว่า บริษัทของตนสามารถผลิตแกลเลียมที่มีค่าความบริสุทธิ์สูงตามที่อุตสาหกรรมกำหนดเช่นกัน

 

ในส่วนของเจอร์เมเนียมนั้น นอกจากจีนซึ่งผลิตได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกแล้ว อุปทานส่วนที่เหลือมาจากแคนาดา ฟินแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท Teck Resources ในรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ถือเป็นผู้ผลิตเจอร์เมเนียมรายใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ 

 

บริษัท Indium Corporation ของสหรัฐฯ ก็ผลิตเจอร์เมเนียมเช่นกัน ในขณะที่บริษัท Umicore ของเบลเยียม ผลิตทั้งเจอร์เมเนียมและแกลเลียม

 

สามารถใช้วัสดุอื่นทดแทนได้หรือไม่

 

USGS ระบุว่า ซิลิกอนหรืออินเดียมสามารถใช้แทนแกลเลียมได้ในการใช้งานบางประเภท ขณะที่สังกะสี เซเลไนด์ และแก้วเจอร์เมเนียม สามารถใช้แทนเจอร์เมเนียมสำหรับการใช้งานในระบบอินฟราเรด

 

อย่างไรก็ดี การใช้วัสดุทดแทนดังกล่าวซึ่งมีราคาย่อมเยากว่านั้น ต้องแลกมาด้วยประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า

 

บริษัท Wafer World ของสหรัฐฯ ระบุว่า เวเฟอร์เซมิคอนดักเตอร์ที่ทำจากแกลเลียมอาร์เซไนด์จะมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผลิตจากซิลิคอน พวกมันสร้างสัญญาณรบกวนน้อยกว่าซิลิคอน จึงทำให้แร่ดังกล่าวมีประโยชน์ในการผลิตอุปกรณ์เรดาร์และอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ อาทิ วิทยุดาวเทียม

 

“เราคาดหวังว่าจะได้เห็นการพัฒนาและการสำรวจแหล่งทางเลือกอื่นๆ ทดแทนแกลเลียมและเจอร์เมเนียม รวมถึงความพยายามในการรีไซเคิลแร่โลหะเหล่านี้” แอนนา แอชตัน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรจีนและสหรัฐฯ-จีนของ Eurasia Group กล่าวกับ BBC

 

เหตุผลที่จีนจำกัดการส่งออก

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนใช้มาตรการนี้ โดยเมื่อปี 2010 จีนเคยจำกัดโควตาการส่งออกแร่ธาตุหายากไปยังญี่ปุ่นมาแล้ว หลังจากเกิดข้อพิพาทด้านดินแดนระหว่างสองประเทศ ส่งผลให้ราคาของสินแร่หายากพุ่งสูงขึ้น 

 

ในเวลานั้นจีนให้เหตุผลในการควบคุมการส่งออกว่า เป็นเพราะความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนมาตรการควบคุมการส่งออกครั้งล่าสุดจีนให้เหตุผลว่า เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ 

 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ร้อยทั้งร้อยเชื่อว่า การจำกัดการส่งออกของจีนในครั้งนี้เป็นเพราะปักกิ่งต้องการตอบโต้ชาติตะวันตกที่เล่นงานจีนก่อน 

 

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว วอชิงตันประกาศว่า บริษัทผู้ส่งออกในสหรัฐฯ จะต้องมีใบอนุญาตสำหรับการส่งออกชิปไปยังประเทศจีน และต้องใช้อุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯ ในการผลิตชิป ไม่ว่าจะผลิตจากที่ใดในโลก

 

โดยนอกจากสหรัฐฯ แล้ว ทั้งญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปรายสำคัญอย่าง ASML ได้กำหนดข้อจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีชิปกับจีนก่อนหน้านี้

 

“ช่วงเวลาที่จีนประกาศใช้มาตรการนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เมื่อพิจารณาจากการจำกัดการส่งออกชิปที่ประกาศโดยเนเธอร์แลนด์และประเทศอื่นๆ” คอลิน แฮมิลตัน จากบริษัทการลงทุน BMO Capital Markets กล่าวกับ BBC

 

“พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณไม่ให้ชิปแก่เรา เราก็จะไม่ให้วัตถุดิบในการผลิตชิปเหล่านั้นแก่คุณ” เขากล่าวเสริม

 

การทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างต่อเนื่องระหว่างสองชาติมหาอำนาจของโลกได้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับ ‘ชาตินิยมทรัพยากร’ (Resource Nationalism) หรือการที่รัฐบาลกักตุนวัตถุดิบสำคัญเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือประเทศอื่นๆ

 

ดร.เกวิน ฮาร์เปอร์ นักวิจัยด้านวัสดุวิกฤตแห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม กล่าวว่า “เรากำลังมองเห็นรัฐบาลต่างๆ ถอยห่างจากโลกาภิวัตน์มากขึ้นเรื่อยๆ ความคิดที่ว่าตลาดต่างประเทศจะจัดส่งวัสดุให้ง่ายๆ นั้นได้หายไปแล้ว”

 

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญของจีนกล่าวถึงความกังวลของชาติตะวันตกเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจีนขยายการควบคุมวัตถุดิบที่สำคัญว่า บริษัทต่างชาติเหล่านี้ควรขอให้รัฐบาลของตนเองยุติการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับจีนเสียก่อน แทนที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกฎการส่งออกของจีน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ชาติตะวันตกใช้มาตรการบีบจีนอย่างโจ่งแจ้ง

 

“มาตรการต่างๆ เช่น การควบคุมการส่งออกมักถูกใช้โดยประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ เพื่อกำราบประเทศอื่นๆ แต่จีนก็มีสิทธิ์ที่จะใช้มาตรการควบคุมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเช่นกัน” เกาหลิงหยุน ผู้เชี่ยวชาญจาก Chinese Academy of Social Sciences ในปักกิ่งกล่าวกับ Global Times เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 กรกฎาคม)

 

ผู้เชี่ยวชาญของจีนยังกล่าวต่อไปด้วยว่า จุดประสงค์สูงสุดของจีนคือการแสวงหาสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่การ ‘แก้แค้น’ หรือแทรกแซงการดำเนินการตามปกติของห่วงโซ่มูลค่าโลก 

 

ขณะที่ เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวย้ำในการแถลงข่าวเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า การควบคุมการส่งออกไม่ได้กำหนดเป้าหมายไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติจีน

 

“จีนมุ่งมั่นที่จะรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพของการผลิตและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกมาโดยตลอด พร้อมทั้งดำเนินมาตรการควบคุมการส่งออกที่ยุติธรรม สมเหตุสมผล และไม่เลือกปฏิบัติ” เหมากล่าว

 

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การจำกัดการส่งออกแร่ธาตุหายาก ไม่เพียงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการป้องกันประเทศเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมด้วย นั่นเป็นเพราะบรรดาเทคโนโลยีสีเขียวต่างต้องพึ่งพาแร่ธาตุหายากเหล่านี้

 

“นี่ไม่ใช่ปัญหาระดับชาติ นี่เป็นปัญหาที่เราเผชิญในฐานะเผ่าพันธุ์มนุษย์ หวังว่าผู้กำหนดนโยบายจะสามารถนำเสนอทางออกที่ดีที่สุด ให้เราสามารถเข้าถึงวัสดุสำคัญที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย และเราสามารถเริ่มรับมือกับความท้าทายบางประการเกี่ยวกับการลดคาร์บอนได้” ดร.ฮาร์เปอร์กล่าว

 

“ผู้คนตามท้องถนนอาจไม่รู้สึกว่าแกลเลียมและเจอร์เมเนียมเกี่ยวอะไรกับตนเอง” ดร.ฮาร์เปอร์ กล่าว “แต่พวกเขาสนใจว่ารถของพวกเขาราคาเท่าไรหรือแพงแค่ไหนที่จะเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

“บางครั้งนโยบายที่เป็นนามธรรม ก็กลายเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของพวกเขา”

 

‘ไพ่ไม้ตาย’ ของจีน หรือแค่ส่งสัญญาณเตือนสหรัฐฯ?

 

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า ความเคลื่อนไหวของจีนในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณไปถึงสหรัฐฯ ให้หยุดขยายข้อจำกัดต่ออุตสาหกรรมชิปจีน เพราะก่อนหน้านี้เริ่มมีกระแสข่าวว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณายกระดับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชิปให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน ดังนั้นการตอบโต้ของจีนครั้งนี้จึงเป็นการส่งสารถึงสหรัฐฯ ว่า จีนก็มีอำนาจต่อรองในเรื่องของแหล่งที่มาตั้งต้นของสินแร่ที่จำเป็นในการนำไปผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เพราะจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.อาร์ม มองว่า สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ ต้นทุนการผลิตชิปจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ปริมาณการผลิตชิปก็จะลดลงตามมา เนื่องจากแหล่งซัพพลายของสินแร่ตั้งต้นมีน้อย หรือสรุปก็คือ จะกระทบต่อต้นทุนการผลิต กำลังการผลิต และกำไรของอุตสาหกรรมด้วย 

 

ดร.อาร์ม วิเคราะห์ว่า เนื่องจากการผลิตแร่ตั้งต้นเหล่านี้ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เพราะฉะนั้นถ้าจีนตัดสินใจจำกัดการส่งออกแร่เหล่านี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือ การปรับพฤติกรรมของผู้เล่นในอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันในการผลิตแร่เหล่านี้มากขึ้นหรือมีการหาทางเลือกใหม่ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อจีนในระยะกลางและระยะยาว 

 

และเมื่อจีนเป็นผู้ผลิตแร่รายใหญ่และเป็นทั้งผู้ขายรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยนั้น หากจีนจำกัดการส่งออก ก็จะกระทบอุตสาหกรรมแร่เหล่านี้ของจีนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นอาวุธนี้จึงเป็นอาวุธที่ใช้ได้ในระยะสั้นสำหรับจีนเท่านั้น เพื่อทำให้เกิดความผันผวนในอุตสาหกรรม เป็นการส่งสัญญาณให้สหรัฐฯ พยายามทบทวนใหม่ หากต้องการจะขยายข้อจำกัดต่ออุตสาหกรรมชิปของจีนเพิ่มเติม แต่เป็นอาวุธที่ใช้ยาวไม่ได้ 

 

ดร.อาร์ม มองว่า การจำกัดการส่งออกแร่ของจีนจึงไม่ใช่ ‘ไพ่ไม้ตาย’ ของจีน เพราะเป็นมาตรการที่มีข้อจำกัด โดยในระยะกลางจะทำให้ผู้เล่นอื่นในอุตสาหกรรมสามารถปรับตัว และอาจมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาทดแทนแหล่งแร่ของจีนได้ 

 

“อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ถือว่าเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น สองฝ่ายพยายามที่จะส่งสัญญาณถึงกัน เช่น หากจีนออกมาตรการเหล่านี้ แล้วสหรัฐฯ กลับไปคิดทบทวนและไม่ขยายมาตรการจำกัดอุตสาหกรรมชิปจีนแล้ว จีนก็จะค่อยๆ ผ่อนคลายข้อจำกัดนี้ลง ก็อาจช่วยไม่ให้เกิดความผันผวนสูงเกินไปต่ออุตสาหกรรมชิป” ดร.อาร์ม กล่าว 

 

เพราะฉะนั้นก็ต้องรอดูว่าหลังจากนี้ทั้งฝั่งจีนและฝั่งสหรัฐฯ จะมีการปรับท่าทีหรือไม่ หรือจะกลับกลายเป็นต่างฝ่ายต่างยกระดับข้อจำกัดต่อกัน ซึ่งก็จะทำให้เกิดความผันผวนมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

การรับมือของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก

 

โฆษกเพนตากอนเปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า สหรัฐฯ มีเจอร์เมเนียมสำรอง แต่ไม่มีแกลเลียมสำรอง

 

โฆษกกล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการเชิงรุก เพื่อเพิ่มการทำเหมืองแร่โลหะที่สำคัญภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงแกลเลียมและเจอร์เมเนียม”

 

อย่างไรก็ตาม การกระจายห่วงโซ่อุปทานและสร้างขีดความสามารถในการทำเหมืองและการแปรรูปโลหะ เช่น แกลเลียมและเจอร์เมเนียมนั้น ต้องใช้เวลาหลายปี แต่คาดว่าข้อจำกัดการส่งออกของจีนจะส่งผลกระทบไม่มากนักในระยะยาว โดยรัฐบาลตะวันตกต่างพิจารณาถึงความจำเป็นในการ ‘ลดความเสี่ยง’ จากจีน ซึ่งหมายถึงการพึ่งพาจีนน้อยลงทั้งในด้านวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

 

นอกจากนี้ในระยะยาว ประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุอย่างออสเตรเลียและแคนาดามองว่า วิกฤตวัสดุเป็นโอกาสสำหรับประเทศตนเอง

 

ขณะที่ ดร.อาร์ม ให้ความเห็นว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างกำลังมองหาแหล่งซัพพลายทดแทนในอุตสาหกรรมชิป โดยหลังจากจีนถูกจำกัดการนำเข้าเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ ชิ้นส่วนในเทคโนโลยีชิป ก็ทำให้จีนเบนหาแหล่งทดแทนอื่น แต่ประเด็นคือ ทั้งเครื่องจักรซอฟต์แวร์และชิ้นส่วนนั้นไม่สามารถหาแหล่งทดแทนได้มาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูง เป็นเทคโนโลยีไฮเทค แต่ในระยะกลางมีความเป็นไปได้ที่จีนอาจหาสิ่งที่มาทดแทนได้ เพราะจีนก็ต้องเร่งการพัฒนาค้นคว้าเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมา 

 

สำหรับสหรัฐฯ นั้นแน่นอนว่าก็ต้องเริ่มหาแหล่งแร่ที่อื่นมาทดแทนเช่นกัน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า สหรัฐฯ ก็จะไม่สามารถหาแหล่งที่ผลิตแร่ได้ในราคาต้นทุนเท่ากับจีน เพราะฉะนั้นโดยรวมต้นทุนการผลิตชิปก็จะเพิ่มสูงขึ้น 

 

กับคำถามว่า ปัจจุบันจีนมี Breakthrough ทางเทคโนโลยีที่สำคัญเกี่ยวกับชิป เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ แล้วหรือไม่ ดร.อาร์ม มองว่า ปัจจุบันจีนยังไม่มี Breakthrough ที่สำคัญอะไร แต่ในระยะยาวหากจีนต้องการรอดจาก Tech War นี้ให้ได้ จีนก็จะต้องเร่งพัฒนาให้เกิด Breakthrough ในอุตสาหกรรมชิป โดย ดร.อาร์ม ระบุว่า โดยทั่วไปมีการประเมินกันว่าจีนอาจต้องใช้เวลา 5-10 ปีในการพัฒนา แต่ก็มีคำถามว่า เมื่อจีนพัฒนามาถึงจุดที่เท่ากับที่สหรัฐฯ เป็นอยู่ในปัจจุบันได้แล้ว สหรัฐฯ จะขยับพัฒนาไปมากกว่านั้นอีกเพียงใด ซึ่งช่องว่างระหว่างสองประเทศก็จะยังคงอยู่ 

 

ดร.อาร์ม กล่าวว่า แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางคนมองว่า ยิ่งเทคโนโลยีมีความไฮเทคมากเท่าใด การพัฒนายกระดับขึ้นไปอีกก็ยิ่งทำได้ยากมากขึ้นหรืออาจใช้เวลาพัฒนามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในมุมนี้ช่องว่างระหว่างสหรัฐฯ กับจีนสุดท้ายก็อาจไม่กว้างขนาดนั้นเมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี  

 

แนวโน้ม Chip War จะไปในทิศทางไหน

 

ดร.อาร์ม มองว่า เรื่องนี้อาจขึ้นอยู่ที่การประเมินของบริษัทที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ว่าพวกเขาเสียหายหรือเจ็บตัวมากแค่ไหน ซึ่งตรงนี้จะมีการสื่อสารต่อรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องยากที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบาย เพราะฝ่ายสหรัฐฯ มองว่าอุตสาหกรรมชิปเป็นเรื่องของความมั่นคง ซึ่งจะยอมถอยไม่ได้ เพราะว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสหรัฐฯ ในอนาคตในการเป็นผู้นำที่ผูกขาดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ 

 

ถ้ามองมุมนี้จะเห็นว่าเป็นเรื่องยากมากที่สหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนทิศทางของนโยบายในการจำกัดอุตสาหกรรมชิปของจีน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีการผ่อนคลายมาตรการในระยะสั้น เพื่อที่ว่าอย่างน้อยอุตสาหกรรมจะสามารถค่อยๆ ปรับตัวได้ ไม่เกิดความผันผวนเกินไป 

 

ถ้าหากมีการประเมินแล้วว่าจะส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจโลกทั้งระบบในภาคเทคโนโลยี สหรัฐฯ ก็อาจชะลอในเรื่องมาตรการต่างๆ ต่อจีน ขณะเดียวกันจีนก็จะค่อยๆ ชะลอมาตรการจำกัดการส่งออกแร่เช่นกัน ซึ่งก็จะทำให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมดีขึ้นได้

 

ภาพ: William Potter via ShutterStock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising